เรื่อง ขอคัดค้านเส้นทางการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีซู ที่ตัดผ่านกลางพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และเสนอให้ศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี เฉพาะแนวทางเลือกที่อยู่นอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ
เรียน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
…
สืบเนื่องจากข่าวเพจสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หัวข้อ ชาวบ้านหนุน สทนช. แก้แล้งอีสานกาญจน์ ชงทบทวนแนวทางสร้างอุโมงค์ผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์-อ่างเก็บน้ำลำอีซู ที่ได้มีการนำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยในข่าวระบุเพิ่มเติมว่า “จากการเสวนาที่ผ่านมา ผู้นำชุมชนในพื้นที่เสนอให้ทบทวนแนวทางเลือกการผันน้ำ เนื่องจากเห็นว่า แนวทางทางเลือกการผันน้ำแนวทางที่ 1 คือการทำอุโมงค์ผันน้ำระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร จากเขื่อนศรีนครินทร์ไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีซู ด้วยแรงโน้มถ่วง เป็นทางเลือกที่ควรดำเนินการเนื่องจากเป็นระยะทางผันน้ำที่สั้น สามารถก่อสร้างเสร็จใช้งานได้เร็วกว่า และผันไปลงอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่อยู่ในพื้นที่สูงเหมาะแก่การกระจายน้ำ แต่ สทนช. ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าศึกษาวิจัยในพื้นที่ ซึ่งในเรื่องนี้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยผู้ตรวจราชการจะเชิญผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุมและลงพื้นที่หาข้อสรุปต่อไป สำหรับการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและระบบส่งน้ำ ท่าล้อ-อู่ทอง ที่ปัจจุบันไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้า เนื่องจากติดปัญหาเรื่องที่ดิน สทนช.มอบหมายให้กรมชลประทานร่วมกับ อบต.ในพื้นที่จัดทำแผนงานบรรจุลงในแผนปฏิบัติการระดับลุ่มน้ำและเสนอในที่ประชุมจัดทำแผนปฏิบัติการลุ่มน้ำแม่กลองที่ สทนช.จะจัดขึ้นในช่วง 22–23 ส.ค. 2562 พิจารณา โครงการใดมีความพร้อมให้เร่งเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล”
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอคัดค้านแนวทางเลือกดังกล่าว เนื่องจากจะตัดผ่านกลางพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระโดยตรง ซึ่งมีการสำรวจพบทั้งเสือโคร่ง เลียงผา เก้งหม้อ ละองละมั่ง และแมวลายหินอ่อน ฯลฯ หากมีการศึกษาที่ต้องทำการขุดเจาะสำรวจระดับความลึกดิน ซึ่งผ่านลุ่มน้ำชั้น 1A มีพื้นที่ขุดเป็นยอดเขาสูงชันมากกว่า 1,000 เมตร นอกจากนี้ยังต้องมีการขุดเจาะพื้นที่ที่มีชั้นหิน โดยจะทำการเจาะตัวอย่างหินทุกช่องความลึก 3-5 เมตร จนถึงก้นหลุมเจาะพื้นที่ดังกล่าวตามเส้นทางที่เลือก ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งจากเครื่องจักรและคนที่เข้าไปทำการสำรวจพื้นที่ หากดำเนินการสำรวจจะเป็นการรบกวนถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าอย่างรุนแรง รวมทั้งอาจมีปัญหาการเข้าบำรุงรักษาในพื้นที่ จึงขอเสนอให้พิจารณาเส้นทางผันน้ำเส้นทางอื่นโดยคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้
ขอแสดงความนับถือ
นายศศิน เฉลิมลาภ
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2562
ภาพเปิดเรื่อง สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ประเทศไทย ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช