ขอคัดค้านโครงการปรับปรุงพื้นผิวจราจรบริเวณถนนสายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่งตลอดเส้น

ขอคัดค้านโครงการปรับปรุงพื้นผิวจราจรบริเวณถนนสายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่งตลอดเส้น

เนื้อหา เรื่อง ขอคัดค้านโครงการปรับปรุงพื้นผิวจราจรบริเวณถนนสายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่งตลอดเส้น นี้ คัดลอกมาจาก จดหมาย ที่สนท.037/2561 เรื่อง ขอคัดค้านโครงการปรับปรุงพื้นผิวจราจรบริเวณถนนสายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่งตลอดเส้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ วันที่ 24 ตุลาคม 2561

สืบเนื่องจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการประกาศต่อสื่อสาธารณะ (Facebook) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 เรื่อง ขอปิดการท่องเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวเขาพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อดำเนินโครงการปรับปรุงพื้นผิวจราจรบริเวณถนนสายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง จำนวน 2 โครงการ คือ

1. โครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 4 เมตร ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร และถนนน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 แห่ง ความยาวรวม 90 เมตร

2. โครงการปรับปรุงเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยวเขาพะเนินทุ่ง โดยดำเนินการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 4 เมตร ระยะทาง 18.50 กิโลเมตร พร้อมรางระบายน้ำ

ทั้ง 2 โครงการมีระยะทางรวม 21.90 กิโลเมตร และจะทำการปิดแหล่งท่องเที่ยวพะเนินทุ่ง ตั้งแต่ กม.ที่ 15+00 ถึง กม.ที่ 36+500 เป็นระยะเวลา 560 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 โดยอ้างว่าถนนสายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง ตลอดเส้นทางมีดินถล่ม ถนนยุบตัว น้ำกัดเซาะ ทำให้ถนนไม่สามารถสัญจรไปมาได้ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงถนนจากลาดยางเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ลดการกัดเซาะพังทลายของดินที่เป็นพื้นถนน เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวรวมทั้งเป็นเส้นทางตรวจการณ์ในการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่นั้น

แต่อย่างไรก็ดี การจัดทำโครงการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความกังวลจากสาธารณชนเป็นวงกว้างต่อผลลัพธ์ที่จะตามมาทั้งในระหว่างก่อสร้าง และหลังดำเนินการปรับปรุงถนนเสร็จสิ้น โดยอาจมองข้ามเจตนารมณ์ในการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองเพื่ออนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่าอย่างมีนัยยะสำคัญ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. โครงการปรับปรุงถนนดังกล่าว ไม่ได้คำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วม ไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แม้ว่าจะได้ผ่านกลไกคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ (PAC) แก่งกระจาน มาแล้วเพื่อแสดงความชอบธรรมและการมีส่วนร่วม แต่ท้ายที่สุดอุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นของคนไทยทั้งประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่กลับเพิ่งทราบข่าวจากสื่อสาธารณะ (Facebook) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยไม่มีโอกาสได้ร่วมคิดหรือตัดสินใจหรือร่วมออกแบบถนนที่กระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุด ทั้งนี้ควรให้เกิดการจัดการพื้นที่โดยอาศัยข้อมูลตามหลักวิชาการ

2. ในระหว่างการก่อสร้างปรับปรุงพื้นผิวถนน เนื่องจากเส้นทางที่กำลังจะดำเนินการปรับปรุงนี้เป็นเส้นทางตัดผ่านพื้นที่ใจกลางอุทยานแห่งชาติ อันเปรียบเสมือนหัวใจของป่าแก่งกระจาน ซึ่งเป็นบ้าน ถิ่นอาศัยของสัตว์ป่ามากมายหลายชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ป่าหายาก อย่าง เสือ หรือ สัตว์ป่าสงวน เช่น เก้งหม้อ เลียงผา ดังนั้นการที่ต้องมีเครื่องจักรกลขนาดหนักที่ต้องใช้ในการก่อสร้าง รถขนปูนที่ต้องวิ่งขนส่งไปมาไม่ต่ำกว่า 5,000 เที่ยว ตลอดระยะเวลาของการก่อสร้าง เสียงและแรงสั่นสะเทือนต่างๆ เหล่านี้จะเข้ามาทำลายความสงบการดำรงชีวิตอย่างปกติสุขในบ้านของสัตว์ป่า รวมถึงการเข้ามาของคนงานก่อสร้างอีกจำนวนมาก อาจเป็นการผลักไสให้สัตว์ป่าที่ก่อนหน้านี้สามารถพบเจอตัวได้ง่ายตลอดเส้นทางบ้านกร่าง-พะเนินทุ่ง (รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย) ต้องหลบหนีลึกเข้าไปและไม่กล้าออกมาด้านนอกให้เห็นอีกเลย เพราะมีงานวิจัยพบว่าหลังจากที่มีจราจรหนาแน่นขึ้น พื้นที่หากินของสัตว์ป่าหลบหนีออกจากจากแนวถนนมากขึ้น

3. หลังการก่อสร้างปรับปรุงพื้นผิวถนน จากบทเรียนที่ผ่านมาการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวโดยการปรับปรุงถนนให้ดีขึ้น ถึงแม้จะมีมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาหลังการก่อสร้างเสร็จ แต่ไม่อาจการันตีได้ว่ามาตรการเหล่านั้นจะสามารถบังคับใช้ได้จริง การขยายถนนปรับปรุงผิวถนนให้เป็นคอนกรีตตลอดสายนั้น ทำให้การจราจรสะดวก การขับรถสามารถใช้ความเร็วสูงขึ้น และปริมาณรถที่วิ่งจะมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การสูญเสียสัตว์ป่าจากการถูกรถทับ รถชน (roadkills) นั้น เป็นสาเหตุการตายของสัตว์ป่าที่สำคัญมากไม่น้อยกว่าการล่าสัตว์ป่าเลยทีเดียว ดังที่เราเห็นตัวอย่างซากสัตว์ป่าที่ถูกรถชนอยู่เนืองๆ บนถนนที่ตัดผ่านอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หรือ ปางสีดา สถิติจากเฉพาะถนนที่ตัดผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน พบมีสัตว์ป่าถูกรถชนตายตายถึงปีละประมาณ 3000 ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวซึ่งดูจะล้มเหลวในทางปฏิบัติมาตลอดแทบทุกอุทยานฯ อีกทั้งนโยบาย กฎระเบียบนั้นก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดขึ้นกับผู้รับผิดชอบ

อนึ่ง สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นด้วยกับการซ่อมแซมเส้นทางนี้ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน

เพื่อการเดินทางที่ปลอดภัยของทั้งนักท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ซึ่งใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ของการลาดตระเวน เห็นควรแก้ไขปรับปรุงเฉพาะจุดที่มีความเสี่ยง ชำรุดซ้ำซาก เช่น ช่วงที่มีความลาดชันสูงหรือ จุดที่มีน้ำกัดเซาะ มีดินถล่มซ้ำซาก ด้วยวิธีนี้น่าจะเป็นหนทางลดผลกระทบต่อสัตว์ป่าลงไปได้มาก อีกทั้งยังประหยัดงบประมาณได้ไม่น้อย

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และบุคคลตามรายชื่อแนบท้าย จึงขอคัดค้านโครงการปรับปรุงพื้นผิวจราจรบริเวณถนนสายบ้านกร่าง-พะเนินทุ่งตลอดเส้น และเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้โปรดชะลอโครงการดังกล่าวออกไปก่อนจนกว่าจะได้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น โดยทางสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยินดีเข้าร่วมแลกเปลี่ยนและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อร่วมอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่าต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้

 

ขอแสดงความนับถือ
นางสาวแนนซี่ ลิน กิ๊บสัน
ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย

รายชื่อเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย
กลุ่มอนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่า
มูลนิธิโลกสีเขียว
บริษัท ไวล์ด เอนเคาน์เตอร์ ไทยแลนด์ จำกัด
กลุ่มศิลปินเพื่อป่าแก่งกระจาน
องค์กรชุมชนตำบลหนองชุมพลเหนือฯ
กลุ่มรักษ์เขาใหญ่
กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม
กลุ่มใบไม้
มูลนิธิธรรมชาติศึกษา
กลุ่ม Save wildlife Thailand