ขอให้พิจารณาลดขนาดอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี เพื่อรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า

ขอให้พิจารณาลดขนาดอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี เพื่อรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า

สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการกิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง(EHIA) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ของกรมชลประทานแล้วนั้น

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอคัดค้านการเห็นชอบรายงาน EHIA โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ที่จะก่อสร้างพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จำนวน 7,503 ไร่ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 

1. พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ส่วนใหญ่เป็นป่าที่ราบต่ำและเป็นที่ราบสูงในบางพื้นที่ ซึ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยขนาดใหญ่มักเลือกใช้พื้นที่ป่าที่ราบต่ำ ประกอบกับสังคมพืชที่เป็นป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ทุ่งหญ้า และป่าฟื้นฟูหรือป่ารุ่นสอง มีลักษณะโปร่งไม่รกทึบ และพบว่าบริเวณพื้นที่ที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดนี้ มีพืชอาหารช้างอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งเป็นแหล่งอาหารที่สัตว์กินพืชส่วนใหญ่มักใช้และเป็นพื้นที่ในการหากิน และเป็นป่าดิบแล้งที่ลุ่ม ทำให้มีความชุ่มเย็น เหมาะสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของช้างป่ามากกว่าบริเวณอื่นๆในกลุ่มป่านี้ นอกจากนี้ยังพบสัตว์ป่าอีกหลายชนิดอาศัยอยู่ เช่น กระทิง กวาง หมูป่า ฯ ดังนั้นการเปลี่ยนสภาพพื้นที่ป่าให้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำ ถือเป็นการทำลายแหล่งอาศัยของช้างป่าซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่อย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสให้ช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่ามากยิ่งขึ้นหลายเท่าตัว และอาจสร้างความเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

2. ปัญหาสำคัญในพื้นที่ดังกล่าวคือการที่ช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่า กำลังได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่องทั้งการปรับปรุงแหล่งน้ำและแหล่งอาหารด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยมีเป้าหมายสำคัญในการดึงช้างป่าที่ออกไปรบกวนประชาชนในพื้นที่โดยรอบให้กลับเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าอีกครั้ง  หากต้องกลายสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำ นอกจากจะแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ตามที่ตั้งเป้าไว้ไม่ได้แล้ว ยังทำให้สูญเสียป่าพื้นราบขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพรองรับการอพยพกลับมาของช้างป่า ปิดกั้นทางเดินไม่ให้ช้างกลับคืนสู่ป่าอีกด้วย โดยข้อมูลจากการสำรวจเส้นทางหากินของช้างป่า สำนักอุทยานแห่งชาติ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นและบริเวณใกล้เคียง พบว่าช้างป่าหากินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นบริเวณพื้นที่โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดนั้น เป็นช้างโขลงเดียวกันกับช้างป่าที่พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวฝั่งตะวันตก

3. ที่ผ่านมามีบทเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับช้างหลังสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วเสร็จ เช่น อ่างเก็บน้ำคลองประแกต อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองพวาใหญ่ ที่พบว่าหลังจากอ่างเก็บน้ำเริ่มสามารถเก็บน้ำได้ ปรากฏว่ามีช้างป่าจำนวนมากเข้ามาหากิน โดยมีเส้นทางหากินที่สร้างความเสียหายให้กับชุมชนเป็นวงกว้าง ในกรณีอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ช้างป่าที่หากินในพื้นที่น้ำท่วม มีโอกาสสูงที่จะอพยพลงมาเดินวนหากินในพื้นที่ชุมชน ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของราษฎร นี่ต่างหากที่เป็นปัญหาสำคัญที่ควรต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน 

4. อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น เป็นส่วนหนึ่งของป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ภาคตะวันออก อยู่ตรงกลางระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ซึ่งเป็นแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศที่สำคัญ corridor area และถือเป็นพื้นที่หัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ เป็นพื้นที่ที่คอยเชื่อมพื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 2 แห่ง ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุด 2 อันดับแรก ให้เกิดการแลกเปลี่ยนพันธุกรรม การอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นอาศัย และเพิ่มพูนประชากรของสัตว์ป่า ซึ่งเป็นปัจจัยดึงดูดให้สัตว์ผู้ล่าเข้าใช้พื้นที่อีกด้วย จากผลการศึกษาของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่าพื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 3 แห่ง เป็นผืนป่าที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกมีแนวเขตเชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกัน เหมาะสมในการเป็นแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าที่สำคัญในภาคตะวันออก แม้อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น มีพื้นที่ขนาดเล็กเป็นลำดับที่ 5 ของกลุ่มป่าตะวันออก แต่เป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับการเป็นแหล่งอาศัยและดำรงชีพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ นอกจากนี้อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ยังพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่มากถึง 7 ชนิด และแต่ละชนิดถือได้ว่ามีค่าความชุกชุมค่อนข้างสูง

โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดถือเป็นอ่างเก็บน้ำ 1 ใน 4 แห่ง ตามโครงการในลำน้ำย่อยของลุ่มน้ำโตนด อาจสามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ได้เพียงบางส่วน เนื่องจากมีไว้เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีความต้องการในการใช้น้ำเป็นจำนวนมหาศาล หากต้องการลดภัยแล้งให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดน่าจะมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ 

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงขอเสนอให้ท่านได้โปรดพิจารณาข้อเสนอ โดยลดขนาดความยาวสันเขื่อนลง คงเหลือ 1,000 เมตร และมีพื้นที่ผิวน้ำที่มีระดับกักเก็บ 2,315 ไร่ (รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย) เพื่อให้ยังคงมีแหล่งน้ำไว้ใช้ในการบรรเทาปัญหาภัยแล้งของประชาชนในพื้นที่พอสมควร แต่ในขณะเดียวกันจะไม่สร้างปัญหาใหม่ที่ทำให้บ้านที่เหมาะสมของสัตว์ป่าถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง และอาจทำให้สัตว์ป่าออกมารบกวนประชาชนในพื้นที่ได้อีกด้วย

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้
ขอแสดงความนับถือ
นายภาณุเดช เกิดมะลิ
เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

 


เนื้อหาที่ปรากฎนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้นำส่งถึง อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อธิบดีกรมชลประทาน ประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (นายกรัฐมนตรี) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564