สมาคมนกฯ และมูลนิธิสืบฯ จึงขอคัดค้านการปลดนกกรงหัวจุกออกจากการเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
.
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และมูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้บริหารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อแสดงเจตนาคัดค้านการปลดนกกรงหัวจุก (นกปรอดหัวโขน) ออกจากการเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1.ปัจจุบันแม้นกปรอดหัวโขน Red-whiskered Bulbul : Pycnonotus jocosus หรือที่กลุ่มผู้เลี้ยงนกนิยมเรียกว่านกกรงหัวจุก ประชาชนสามารถเลี้ยงและเพาะขยายพันธุ์เองได้จำนวนมาก หากรวมทั่วประเทศแล้วมีมากกว่าหลายแสนตัว สร้างรายได้ให้ทั้งคนเลี้ยงและกลุ่มชุมชนที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับนกปรอดหัวโขน เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่สามารถเพาะขยายพันธุ์ และจำหน่ายได้ตามกฎหมาย ดังนั้นการไม่ถอดออกจากสัตว์ป่าคุ้มครองไม่น่าจะส่งผลกระทบแต่อย่างใด
จากข้อมูลการสำรวจของชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา และนักดูนกจากทั่วประเทศได้ช่วยกันทำการสำรวจประชากรนกปรอดหัวโขนอย่างต่อเนื่องมามากว่า 20 ปี พบว่าประชากรในธรรมชาติของนกชนิดนี้ มีจำนวนลดลงไปถึง 90% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
2.ปัญหาสำคัญของการลดจำนวนลงของนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพบว่า ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่สามารถยืนยันสถานภาพของประชากรนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติได้อย่างแน่ชัด และจากการประเมินด้วยการพบเห็นในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ไม่พบการกระจายในบางพื้นที่แล้ว
โดยมีปัจจัยคุกคามในเรื่องของการล่าเพื่อไว้ดูเล่นและการประกวดแข่งขัน เนื่องจากความนิยมในรูปร่าง สีสัน และเสียงร้อง ของนกปรอดหัวโขน จึงส่งผลให้มีการเสาะหานกปรอดหัวโขนจากธรรมชาติมาครอบครองมากขึ้น โดยเฉพาะนกปรอดหัวโขนที่อาศัยอยู่ทั้งในและนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ นกเหล่านี้จะถูกล่าได้ง่าย โดยการใช้ตาข่าย กรงต่อ หรือการล้วงเอาลูกนกออกจากรัง
จากข้อมูลการรายงานสรุปผลคดีการกระทำผิดด้านสัตว์ป่าของนกปรอดหัวโขน ในช่วงปี พ.ศ. 2549 – 2551 มีจำนวน 16,353 ตัว และช่วงปี พ.ศ. 2555 – 2563 จำนวน 18,096 ตัว ซึ่งจะเห็นว่านกปรอดหัวโขนยังคงมีจำนวนการล่าที่เพิ่มขึ้น
และจากการจับกุมขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา หัวหน้าชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจพิเศษสํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมตรวจสอบพบ “นกปรอดหัวโขน หรือนกกรงหัวจุก” ใส่ในกล่องพลาสติก จำนวน 7 กล่อง กล่องกระดาษ 1 กล่อง จำนวน 412 ตัว ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 580 โดยจับกุมผู้กระทำผิดได้ 1 ราย ตรวจดูอาการของนกดังกล่าว พบมีสภาพอ่อนแรง เนื่องจากขาดน้ำและอากาศ ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อน จึงทำให้นกหลายตัวตายคากล่องที่ใส่มา”
นี่แสดงให้เห็นว่ายังคงมีการลักลอบล่านกปรอดหัวโขนในธรรมชาติอย่างต่อเนื่องทั้งที่นกปรอดหัวโขนยังอยู่ในสถานะสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นกชนิดดังกล่าวยังควรต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเพื่อป้องปรามการลักลอบล่าและค้า
3.สถานภาพนกปรอดหัวโขนในประเทศไทย จากข้อมูล (ร่าง) ทะเบียนชนิดพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย สำหรับกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลัง ปี 2563 กล่มุ นก National Threat Status (ONEP 2020) ถูกจัดอยู่ในสถานะมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable; VU) เนื่องจากยังคงถูกลักลอบนำมาจำหน่ายเพื่อการค้า ซึ่งนกปรอดหัวโขนมีความสำคัญในระบบนิเวศเนื่องจากเป็นผู้กระจายเมล็ดพันธุ์พืชป่า สร้างความสมดุลให้แก่ธรรมชาติ ซึ่งนกในกรงเลี้ยงไม่สามารถทำหน้าที่นี้ในระบบนิเวศได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าว สมาคมนกฯ และมูลนิธิสืบฯ จึงขอคัดค้านการปลดนกปรอดหัวโขนออกจากการเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ชนิดนี้เพื่อคงจำนวนประชากรในธรรมชาติให้ดำรงอยู่ต่อไป