25 กุมภาพันธ์ 2567
เรื่อง ขอคัดค้านการออก ส.ป.ก. 4-01 ทับพื้นที่ป่าอนุรักษ์
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
สืบเนื่องจากกรณีข่าวการพบหมุดส.ป.ก. และมีการตีเป็นรูปแปลงเพื่อออกเอกสาร (ส.ป.ก.4-01) ถึง 42 แปลง เนื้อที่ประมาณ 972 ไร่ ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บริเวณบ้านเหวปลากั้ง หมู่ 10 ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และต่อมานายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมหลังจากที่ได้มีการตรวจสอบและพบว่าอาจมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทับซ้อนกับ ส.ป.ก.4-01 ถึง 2 แสนกว่าไร่ ใน 142 อุทยานฯ ทั่วประเทศ ทั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลตรวจสอบการทับซ้อนส.ป.ก.4-01 กับพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นองค์กรที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า มีความเป็นกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทย เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการประกาศระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดก สิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ซึ่งระเบียบฯ ฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญ เช่น เพิ่มบทนิยามคำว่า ‘โฉนดเพื่อการเกษตร’ และให้เกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินมาแล้ว เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี สามารถนำเอกสารสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ของตนเอง ไปยื่นขอเปลี่ยนเป็นโฉนดเพื่อการเกษตรได้
ซึ่งระเบียบดังกล่าวเป็นแรงผลักดันให้มีการเร่งออก ส.ป.ก. มากยิ่งขึ้น และในช่วงต้นปีที่ผ่านมาในหลายกรณีก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีการเร่งรีบออก ส.ป.ก. โดยไม่ได้มีการตรวจสอบให้ละเอียดถี่ถ้วนทำให้เกิดกรณีการออก ส.ป.ก. บริเวณพื้นที่ที่มีสภาพป่าและล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศ ติดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือซ้อนทับกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หากไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างจริงจังและเร่งด่วนอาจทำให้เกิดการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่ได้ เช่น กรณีของการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 200,000 กว่าไร่
นอกจากนี้ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2566 ยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้ได้รับที่ดินตามโฉนดเพื่อการเกษตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี อาจยื่นคำขอสละสิทธิของตนทั้งหมดหรือแค่บางส่วนต่อ ส.ป.ก. จังหวัด เพื่อให้เกษตรกรอื่นเป็นผู้ได้รับการพิจารณาจัดที่ดินแทนที่ แต่ต้องได้รับการยินยอมจาก ส.ป.ก. ที่เป็นนายทะเบียนก่อน
อีกทั้งการปรับประกาศอนุญาตให้ใช้ที่ดิน ส.ป.ก. เพื่อกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพิ่มเติม ในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2563 และมีผลบังคับใช้ทันที โดยกิจการที่ปรากฏในบัญชีแนบท้ายประกาศนั้น ครอบคลุมกิจการต่างๆ อย่างกว้างขวางไปจากเดิม
ดังนั้นนโยบายของภาครัฐที่สร้างแรงจูงใจนำพื้นที่ ส.ป.ก. 4-01 ยกระดับเป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อาจส่งเสริมให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่ามากยิ่งขึ้นหากเร่งรีบและไม่ดำเนินการตรวจสอบด้วยความละเอียดรอบคอบ โดยตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2562 -2566) ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าลดลงอย่างต่อเนื่อง และข้อมูลล่าสุด ปี พ.ศ. 2566 พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ป่าลดลงจากปีที่ผ่านมามากถึง 300,000 กว่าไร่
ด้วยเหตุผลดังกล่าว มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี โปรดพิจารณาสั่งการให้มีการเร่งรัดตรวจสอบการออก ส.ป.ก.4-01 ทับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศโดยเร่งด่วน เพื่อไม่ให้พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยลดลงไปมากกว่านี้
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้
ขอแสดงความนับถือ
นายภาณุเดช เกิดมะลิ
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร