แถลงการณ์ ฉบับที่ 1 เครือข่ายพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน

แถลงการณ์ ฉบับที่ 1 เครือข่ายพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน

แถลงการณ์ ฉบับที่ 1 ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566

จากสถานการณ์ในการเปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกำหนดพื้นที่ให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสระแก้ว (ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จากการสำรวจแนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566) การเพิกถอนเปลี่ยนแปลงแนวเขตดังกล่าวกระเทือนต่อความเป็นธรรมในการแก้ไขปัญหาราษฎรในป่าอนุรักษ์ตามมาตรา 64 ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ รวมถึงอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนและจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ที่มีปัญหาการทับซ้อนในลักษณะเดียวกันนี้ทั่วประเทศ และเกรงว่าการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อแก้ไขปัญหาจะไม่ใช่ข้อยุติของปัญหากลับส่งผลให้มีการบุกรุกที่ดินของรัฐต่อไปในพื้นที่อื่นๆ ตามมา

เครือข่ายพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม ตามรายชื่อแนบท้ายขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ด้วยเหตุผลและข้อเสนอดังนี้

1. ไม่เห็นด้วยกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยใช้เส้นแนวเขตจากการสำรวจแนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 ในการกำหนดพื้นที่ให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสระแก้ว ซึ่งถือเป็นการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 

2. พื้นที่ผนวกเพิ่มประมาณ 110,000 ไร่ พบว่าพื้นที่ผนวกเพิ่มดังกล่าว มีราษฎรถือครองที่ดินอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังอยู่ในขั้นตอนการหาข้อยุติกับกรมป่าไม้ เนื่องจากมีแผนงานโครงการปลูกป่าที่มีงบประมาณต่อเนื่องและมีการจัดตั้งป่าชุมชน ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาการทับซ้อนที่ดินและเพิ่มความขัดแย้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานกับหน่วยงานอื่นๆ เพิ่มเติมไม่สิ้นสุด

3. ควรดำเนินการจัดกลุ่มปัญหาประชาชนในพื้นที่ทับซ้อนให้ชัดเจน และเลือกใช้วิธีการแก้ไขปัญหาในแต่ละกลุ่มให้ถูกต้องเหมาะสม โดยไม่เหมารวมใช้วิธีการเดียวกันในการแก้ไข เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับป่าไม้ สัตว์ป่า และประชาชนในพื้นที่

4. ตรวจสอบพื้นที่ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์และดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนที่บุกรุกหรือซื้อขายที่ดินรัฐ

5. การดำเนินงานปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One map) ที่นำมาใช้ให้ตรงตามสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ ตามศักยภาพการใช้ประโยชน์ของที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างถูกต้องและเป็นธรรม

ดังนั้นเครือข่ายพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม ขอยืนยันว่าจะขับเคลื่อนความเป็นธรรมให้กับสัตว์ป่า ผืนป่า และประชาชน และปกป้องผืนแผ่นดินของพวกเราอย่างถึงที่สุด เพื่อให้ผืนป่าแห่งนี้เป็นมรดกให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานของพวกเราสืบไป

ด้วยจิตคารวะ

กลุ่มผ้าขาวม้าติ่งป่า
สมาคมเซฟ ไวล์ดไลฟ์ ไทยแลนด์
มูลนิธิอนุรักษ์ช่วยเหลือสัตว์ป่า
กลุ่มรักษ์เขาใหญ่
กลุ่มเยาวชนต้นกล้า จ.นครนายก
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร