แถลงการณ์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ฉบับที่ 3 การคืนความชอบธรรมให้บุคลากรและการบริหารงานในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
จากเหตุการณ์ที่นายรัชฏา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถูกกล่าวหาว่าเรียกรับเงินการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งจากผู้ใต้บังคับบัญชารายละเอียดตามที่ปรากฎเป็นข่าว และในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) เผยถึงความคืบหน้าการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานฯ ว่าได้มีการออกคำสั่งให้นายรัชฎาออกจากราชการ ตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 ข้อ 83 โดยมีผลตั้งแต่วันนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2566) เป็นต้นไป
มูลนิธิสืบนาคะเสถียรขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ที่ให้ความสำคัญและให้นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ออกจากราชการการไว้ก่อนนั้นย่อมช่วยรักษาภาพพจน์ของข้าราชการไว้ได้ แต่ยังคงมีข้อกังวลถึงกระบวนการตรวจสอบในครั้งนี้และตั้งข้อสังเกตถึงกรณีการตั้งคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมที่ไม่มีตัวแทนหรือหน่วยงานภายนอกเข้ามาร่วมในกระบวนการพิจารณา จึงขอแถลงการณ์ต่อข้อกังวลดังกล่าว ดังนี้
1. จากการแถลงข่าวของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดย ดร.รุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ ยังขาดความชัดเจนในกระบวนการพิจารณาเเก้ไขปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม เช่น ขาดกรอบการพิจารณาและระยะเวลาที่ชัดเจน หรือการนำเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career Path) มาใช้ในการพิจารณาทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว เพราะการไม่นำระบบ Career Path มาใช้ประกอบการพิจารณาควบคู่กับการพิจารณาคำร้องของผู้ถูกโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมจะไม่สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. มูลนิธิสืบนาคะเสถียรมีความกังวลต่อการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากผู้บริหารพื้นที่ที่โยกย้ายมาขาดความรู้และความเข้าใจในการบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่มีคุณค่าความสำคัญในเชิงระบบนิเวศ ทำให้การบริหารพื้นที่เน้นการท่องเที่ยวและนันทนาการเป็นหลัก ส่งผลให้งานดูแลคุ้มครองพื้นที่ขาดประสิทธิภาพและกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่อย่างรุนแรง เช่น ไม่มีการประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวตามกติกาเพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวและทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติเกิดการฟื้นตัว ไม่มีการควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวตามขีดความสามารถในการรองรับ โดยเปิดให้เข้าพื้นที่อย่างเสรีในช่วงเวลาสำคัญแบบไม่จำกัดรอบด้วยความคาดหวังรายได้จากปริมาณนักท่องเที่ยว และที่สำคัญไม่เร่งดำเนินการนำระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) มาใช้เพื่อให้เกิดระบบการจำหน่ายบัตรและการควบคุมนักท่องเที่ยว บริหารจัดการด้วยความอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่มีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาคืนความเป็นธรรมให้กับบุคลากรในกรมอุทยานฯ ขาดธรรมาภิบาลในการบริหารองค์กร มีแต่ประวิงเวลาและจบไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ
ด้วยความเคารพ
นายศศิน เฉลิมลาภ
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
6 กุมภาพันธ์ 2566