แถลงการณ์ ฉบับที่ 4 เรื่อง การคืนความชอบธรรมให้บุคลากรและการบริหารงานในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหา นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีมีพฤติการณ์เรียกรับเงินจากหัวหน้าหน่วยงานในสังกัด โดยล่าสุดคณะกรรมการไต่สวนฯ ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหา นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และตามมาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทั้งนี้ นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา จะต้องมารับทราบข้อกล่าวหาและต้องถูกเชิญให้มาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาดังกล่าวภายใน 15 วัน นับแต่วันรับทราบก่อนที่จะดำเนินการสรุปสำนวนส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ พิจารณาลงมติต่อไปนั้น
(อ้างถึง คณะกรรมการไต่สวนป.ป.ช.ฟัน! ‘รัชฎา’ อดีตอธิบดีอุทยานฯผิดม.149-157 ลงวันที่ 18 เมษายน 2566 )
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่ให้ความสำคัญ เร่งดำเนินการไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงจนได้ข้อสรุปจากคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ที่ยืนยันฐานความผิดของนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา เนื่องจากการทุจริตต่อหน้าที่โดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการมาใช้ในทางมิชอบ ถือเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ผืนป่า และสัตว์ป่าอย่างร้ายแรง
1. เนื่องด้วยการพิจารณาโยกย้ายบุคลากรอย่างไม่เป็นธรรมและไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ส่งผลในการคอร์รัปชันงบประมาณของแผ่นดินเพื่อเอื้อประโยชน์ตอบแทน เป็นผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงในที่สุด ปัจจุบันมูลนิธิสืบฯ ยังไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการผลักดันให้เกิดระเบียบ เส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career Path) เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากรอย่างมีหลักธรรมาภิบาล
2. เสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับหน่วยงานที่บริหารจัดการพื้นที่ โดยปรับโครงสร้างหน่วยงานส่วนกลางเพื่อสนับสนุนหน่วยงานในพื้นที่ ในลักษณะบูรณาการแผนงานและงบประมาณ เพื่อพิจารณาความสำคัญของแต่ละหน่วยงานให้สอดคล้องกับการตอบสนองพันธกิจขององค์กรอย่างแท้จริง
3. กรมอุทยานฯ ควรเน้นการสร้างระบบธรรมภิบาลในการบริหารองค์กรให้มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่การอาศัยตัวบุคคลมาเป็นหลัก เนื่องจากบุคคลมีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ แต่ระบบที่มีประสิทธิภาพจะเป็นอนาคตขององค์กรต่อไป
อ่านแถลงการณ์ ฉบับที่ 1-3