ปัจจุบัน ประเทศไทย มีผืนป่าอยู่ 102 ล้านไร่ คิดเป็น 31% ของพื้นที่ประเทศ โดยสองในสามของพื้นที่หรือ 21% (61 ล้านไร่) ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ คือ อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ดูแลโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ผืนป่าอนุรักษ์นี้ ถือได้ว่าเป็นหัวใจของการรักษาผืนป่า เป็นบ้านของสัตว์ป่า และความหลากหลายของระบบนิเวศทางธรรมชาติ ที่ยังประโยชน์ต่อมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลผืนป่าอนุรักษ์ไว้ คือ พนักงานพิทักษ์ป่า
พนักงานพิทักษ์ป่า คือ บุคคลที่ทำหน้าที่ในการเดินลาดตระเวน ดูแลรักษาผืนป่า และสัตว์ป่า โดยปัจจุบันมีพนักงานพิทักษ์ป่าทั่วประเทศประมาณ 15,000 คน ในจำนวนนี้ พบว่าบุคลากรที่มีความพร้อมในการปฏิบัติงานลาดตระเวนในพื้นที่เพียง 5,000 คน กับภารกิจที่พร้อมจะเสี่ยงชีวิตจากการปะทะกับผู้กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ หรืออุบัติเหตุต่างๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นขณะปฏิบัติหน้าที่ และอดทนต่อสภาวะกดดันจากผู้ต้องการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
แต่ในทางกลับกันนั้นพบว่า การดูแลระบบสวัสดิการ สวัสดิภาพ ยังไม่เพียงพอหรือเหมาะสมต่อความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ เพื่อให้เขาได้ทำหน้าที่ปกป้อง ดูแลทรัพยากรได้อย่างเต็มกำลังและความสามารถ
ที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เห็นความพยายามของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบบุคลากรกลุ่มนี้โดยตรง ได้ปรับปรุงระบบสวัสดิการและสวัสดิภาพให้กับพนักงานพิทักษ์ป่าเมื่อเทียบกับช่วงที่คุณสืบ นาคะเสถียร มีชีวิตอยู่ และพยายามเริ่มต้นทำเรื่องนี้ จนเกิดกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า เมื่อมีการก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อสานต่อการแนวคิด การทำงานของคุณสืบ นาคะเสถียร แต่ก็ยังไม่สามารถดูแลหรือช่วยเหลือได้ครบในทุกประเด็น
จากสภาพปัญหาที่กล่าวมา มีความจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาอย่างทันท่วงที เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การยกระดับความสำคัญของผู้พิทักษ์ป่าในด้านอื่นๆ ต่อไป
จึงนำมาซึ่งข้อเสนอเนื่องในวันผู้พิทักษ์ป่าโลก วันที่ 31 กรกฎาคม นี้ เสนอต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐบาล และประชาชนคนไทยทุกๆ ท่าน ดังนี้
1. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ควรบริหารบุคลากรในตำแหน่งงานของพนักงานพิทักษ์ป่า ให้ปฏิบัติหน้าที่ตรงตามตำแหน่ง ไม่โยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งไปทำงานอื่นนอกเหนือจากหน้าที่หลัก คือ งานลาดตระเวนป้องกัน ดูแลผืนป่าและสัตว์ป่า ขณะเดียวกันรูปแบบการสอบบรรจุพนักงานราชการ และการจัดจ้างพนักงานพิทักษ์ป่า ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ ได้มีโอกาสใช้ทักษะ ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ป่า อันเป็นทักษะที่สำคัญของการทำงานมาประกอบการพิจารณาคัดเลือก ไม่ควรมุ่งเน้นการใช้ความรู้ด้านวิชาการ หรือการวิ่งทดสอบเพียงเท่านั้น
2. ควรมีนโยบาย งบประมาณสนับสนุน และโครงสร้างบุคลากรของหน่วยงานด้านการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนที่อยู่ประชิดหรือตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมดูแล และรักษาผืนป่า สัตว์ป่า ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ป่าได้เป็นอย่างดี
3. ปัจจุบันอุปกรณ์การทำงานของพนักงานพิทักษ์ป่า ไม่เพียงพอต่อการทำงานเช่น อาวุธและเครื่องกระสุน แผนที่ เครื่องหาพิกัดบนพื้นโลก วิทยุสื่อสาร อุปกรณ์ภาคสนาม ฯลฯ ทำให้เกิดความเสี่ยงเมื่อต้องเดินลาดตระเวน หรือเมื่อมีการเข้าจับกุมผู้กระทำผิด ตลอดจนเครื่องมือการเก็บข้อมูลต่างๆ ในพื้นที่ จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดหาอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงานอย่างเพียงพอและเหมาะสมในทุกๆ ชุดการลาดตระเวนดูแลรักษาป่า
4. รัฐควรปรับปรุงสวัสดิภาพ สวัสดิการ รวมถึงพัฒนาทักษะองค์ความรู้ในการทำงานของพนักงานพิทักษ์ป่าอย่างเหมาะสมกับภารกิจการปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นความมั่นคงทางชีวิตของประชาชนทุกคน โดยพิจารณาตัวอย่างประกอบจากหน่วยงานด้านความมั่นคงต่างๆ ของประเทศ เพราะสวัสดิการ สวัสดิภาพที่ดีของบุคลากร และความเชื่อมั่นของครอบครัว เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ประเทศมีผู้พิทักษ์ป่าที่ดี ที่พร้อมจะทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของทุกๆ คน การดูแลสวัสดิการ สวัสดิภาพ ของผู้พิทักษ์ป่า เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้ทำหน้าที่แทนเราอย่างมีประสิทธิภาพ มีศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่รักษาผืนป่าและสัตว์ป่าให้กับทุกๆ คนต่อไป
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
27 กรกฎาคม 2560