เร่งดำเนินการผนวกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ – คลองลาน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของป่ามรดกโลก

เร่งดำเนินการผนวกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ – คลองลาน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของป่ามรดกโลก

ขอให้เร่งดำเนินการผนวกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์คลองลาน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของป่ามรดกโลกทางธรรมชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรห้วยขาแข้ง

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สืบเนื่องจากวาระครอบรอบ 29 ปี ในการประกาศพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ทุ่งใหญ่ฯห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตลอดจนองค์กรอนุรักษ์ต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการป้องกัน และรักษาพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาประเทศ

พื้นที่รอบผืนป่ามรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่ฯห้วยขาแข้ง มีศักยภาพในการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่า จนเป็นที่ยอมรับถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าในประเทศไทย

หลังจากการประกาศพื้นที่ทุ่งใหญ่ฯห้วยขาแข้ง ให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ จึงมีแนวคิดในการขยายพื้นที่มรดกโลกเพิ่มเติม โดยการผนวกพื้นที่ใกล้เคียงที่มีศักยภาพและเป็นที่ยอมรับ จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สู่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลาน

ด้วยเหตุที่ว่าจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการขยายพื้นที่ป่ารอบข้างหรือป่าที่เป็นแกนกลาง (Core area) ให้เพียงพอต่อประชากรสัตว์ป่า นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นของพื้นที่ตามเกณฑ์ความโดดเด่นอันเป็นสากลที่ผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่ฯห้วยขาแข้ง เคยเข้าหลักเกณฑ์การประกาศพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ เช่น

เกณฑ์ข้อที่ 7 ความโดดเด่นของธรรมชาติที่สวยงามเป็นอัศจรรย์ คือ ความสวยงามของลำน้ำแม่วงก์ ความสวยงามตระการตาของน้ำตกขนาดใหญ่ต่างๆ ทั้งในคลองลาน และแม่วงก์ มีป่าดิบเขาผืนใหญ่เทือกเขาโมกูจู เป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากในแต่ละปี

เกณฑ์ข้อที่ 9 ความโดดเด่นของขบวนการทางนิเวศวิทยา ชีววิทยา และวิวัฒนาการ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าใหญ่ คือผืนป่าตะวันตก เป็นแหล่งเสริมสร้างกระบวนการทางธรรมชาติให้กับผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่ฯห้วยขาแข้ง อย่างชัดเจน เนื่องจากได้รับการฟื้นฟูต่อเนื่องมากว่า 30 ปี ไม่มีชุมชนอาศัย มีความหลากหลายของระบบนิเวศ ตั้งแต่ระบบนิเวศป่าที่ราบต่ำริมลำน้ำแม่วงก์ ไปจนถึงระบบนิเวศป่าดิบเขาสูงเทือกเขาโมกูจู

เกณฑ์ข้อที่ 10 ความโดดเด่นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และชนิดพันธุ์ที่คุกคามใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลก เนื่องจากเป็นที่รองรับการกระจายของประชากรเสือโคร่ง ช้างป่า วัวแดง และอื่นๆ ที่ฟื้นฟูจากผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่ฯห้วยขาแข้ง

ทั้งนี้ ได้มีการประชุมร่วมระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และองค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ในการประชุมแนวทางการขยายพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่ห้วยขาแข้ง ณ ห้องประชุมวงกลม สหกรณ์ออมทรัพย์กรมป่าไม้ จำกัด ผู้แทนกรมอุทยานฯ ได้นำเสนอผลการศึกษาติดตามประชากรเสือโคร่ง และการศึกษาสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งขนาดใหญ่ เช่น กวาง กระทิง วัวแดง

จากการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า พบว่าในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนเสือโคร่ง ที่เกิดในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ย้ายเข้ามาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์คลองลาน และบางตัวได้มาอยู่ประจำในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และมีครอบครัว ซึ่งนับว่าเป็นความสำเร็จขั้นแรกที่เสือแต่ละตัวสามารถย้ายออกไปอาศัยยังผืนป่าอื่นได้ นอกจากเสือโคร่งแล้วยังพบสัตว์ป่าในพื้นที่ เช่น เสือดำ/เสือดาว เสือลายเมฆ เสือไฟ แมวลายหินอ่อน แมวดาว เก้ง กวาง หมูป่า กระทิง นกเงือกคอแดง อีกด้วย

อุทยานแห่งชาติทั้งสองแห่งนี้จึงถือว่ามีความเหมาะสมต่อการขยายเป็นพื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลกเพิ่มเติม ความสำเร็จอีกประการหนึ่งของการจัดการทรัพยากรสัตว์ป่าคือการร่วมแรงร่วมใจทำงานของเจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงความร่วมมือของชุมชนรอบพื้นที่ป่า การทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย จนกลายเป็นความสำเร็จของการฟื้นฟูผืนป่าตะวันตก

ดังนั้น องค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ดังรายชื่อแนบท้าย พิจารณาร่วมกันและเห็นพ้องว่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์คลองลาน มีศักยภาพและมีความพร้อมในการเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติส่วนขยายเพิ่มเติมจากพื้นที่มรดกโลกทุ่งใหญ่ฯห้วยขาแข้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า นอกจากนี้ยังมีประชาชนที่เคยได้ร่วมลงชื่อไว้ในแคมเปญ CHANGE.ORG จำนวน 20,000 กว่ารายชื่อ เห็นควรผลักดันให้ป่าแม่วงก์คลองลาน ได้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติอีกด้วย (รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย)

ขอแสดงความนับถือ
นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย
ผศ. ดร. วิจักขณ์ ฉิมโฉม เลขานุการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก
นางสาวกฤษณา แก้วปลั่ง ผู้อำนวยการแพนเทอรา (Panthera) ประเทศไทย
นางสาวพิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) สำนักงานประเทศไทย
สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย
สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน( ZSL) ประเทศไทย

สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนาภาพข่าวยื่นกว่า 20,000 รายชื่อ ดันป่าแม่วงก์คลองลาน เป็นมรดกโลก‘ https://news.thaipbs.or.th/content/258651