เรื่อง ขอชี้แจงข้อมูลความสำคัญของเสือโคร่งและนำเสนอทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการกรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์
เรียน พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สืบเนื่องจากพาดหัวข่าวออนไลน์เดลินิวส์ เมื่อวันจันทร์ที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา ตามหัวข้อ “รมว.เกษตร เหน็บ! เอ็นจีโอ ต้านแม่วงก์กลัวเสือสูญพันธุ์” (รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1) จากบทสัมภาษณ์ดังกล่าว ทำให้เข้าใจว่าท่านยังขาดข้อมูลทางด้านระบบนิเวศวิทยาของผืนป่าแม่วงก์ที่เชื่อมโยงความหลากหลายของระบบนิเวศทั้งผืนป่าตะวันตก คุณค่าของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และป่าที่ราบริมน้ำที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และกลไกของระบบนิเวศ เสือโคร่งเป็นเพียงตัวชี้วัดหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมา เนื่องจากเสือโคร่งเป็นสัตว์ผู้ล่าหลักที่อยู่บนสุดของสายใยอาหาร (food web) เพราะฉะนั้นป่าแห่งใดที่มีเสือโคร่งดำรงอยู่ จึงแสดงให้เห็นว่าผืนป่าแห่งนั้นมีสัตว์ที่เป็นอาหารของเสือโคร่งมากเพียงพอ
นอกจากนี้เสือโคร่งยังมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ควบคุมประชากรของสัตว์กินพืชไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป เสือโคร่งจึงสามารถเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่มีสัตว์ป่าดำรงอยู่ได้อย่างชัดเจน
ดังนั้นการสร้างเขื่อนแม่วงก์ทำให้น้ำท่วมพื้นที่อาหารและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่เป็นบริเวณป่าที่ราบต่ำริมน้ำที่เหลืออยู่อีกเพียงแห่งเดียว นอกจากสองฝั่งห้วยขาแข้งในผืนป่าตะวันตก จะมีผลกระทบต่อการกระจายพันธุ์ของเสือ และสัตว์ป่าอื่นๆ อย่างแน่นอน นอกจากนี้การเกิดเขื่อนแห่งนี้ยังจะเป็นช่องทางให้เกิดการล่าสัตว์ป่าตลอดเวลาที่ก่อสร้าง และหลังจากที่สร้างแล้วจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการอนุรักษ์ป่าทั่วป่าตะวันตกไม่เฉพาะบริเวณอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ (รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 2)
และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอนำเสนอทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่สร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในรูปแบบอื่นได้หากมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม
จึงใคร่ของให้ท่านพิจารณาการจัดการน้ำทางเลือกเพื่อใช้เป็นแนวทางการจัดการน้ำที่มีปัญหาเรื้อรัง มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชนในการเป็นโมเดลของประเทศต่อไป ซึ่งทางเลือกดังกล่าวจะได้จำนวนปริมาณน้ำที่ใกล้เคียง กล่าวคือ กรณีสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะได้น้ำ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยประมาณ ส่วนทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จะได้น้ำ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยประมาณ และงบประมาณในการจัดทำโครงการดังกล่าวอาจถูกกว่าการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์มาก (รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 3 และ 4) เพื่อใช้ประกอบการพิจารณา
โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ประสานจัดส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และขอเข้าพบพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงข้อมูลโดยละเอียด ประสานความร่วมมือในการให้ข้อมูลเพิ่มเติม อันเป็นประโยชน์สูงสุดในการบริหารจัดการน้ำโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนในพื้นที่อนุรักษ์
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณษและขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ ขอแสดงความนับถือ
ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
24 มีนาคม 2559
เอกสารแนบ
1. ภาพข่าวเดลินิวส์ วันจันทร์ ที่ 21 มีนาคม 2559 หัวข้อ “รมว.เกษตร เหน็บ! เอ็นจีโอ ต้านแม่วงก์กลัวเสือสูญพันธุ์”
2. แผ่นบันทึกเทปรายการธรรมชาติมาหานคร ตอน เสือแห่งป่าแม่วงก์
3. เอกสารทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่สร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ดาวน์โหลดที่นี่
4. แผนที่ทางเลือกการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์