สืบเนื่องจากวันที่ 30 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา มีข่าวการพบจระเข้น้ำเค็มเพศผู้ อายุ 5-8 ปี ความยาว 3 เมตรเศษ หนักประมาณ 200 กิโลกรัม ที่หาดบางเทา จังหวัดภูเก็ต และต่อมาวันที่ 1 ก.ย. 2560 ได้มีการจับจระเข้น้ำเค็มขึ้นจากแหล่งน้ำ และนำไปพักฟื้นไว้ในบ่อซีเมนต์ขนาดใหญ่ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 5 (ภูเก็ต) ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ของกรมประมง
แต่ปัจจุบันจระเข้น้ำเค็มมีอาการซึมเศร้า ไม่กินอาหาร เนื่องจากปกติจะอาศัยอยู่ในน้ำและชายฝั่งที่มีลักษณะพื้นกว้าง การจับจระเข้มาพักไว้ในบ่อซีเมนต์ที่มีพื้นที่ไม่เหมาะสม ทำให้จระเข้น้ำเค็มเกิดความเครียด และส่งผลต่ออาการอื่นๆ ตามมา
ในฐานะที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเป็นองค์กรที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ปกป้องป่าผืนใหญ่ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และความหลากหลายทางระบบนิเวศแล้ว มูลนิธิสืบนาคะเสถียรยังให้ความสำคัญกับสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ที่สำคัญและถูกคุกคาม จึงมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณะชนในการร่วมกันรักษาไว้ซึ่งพันธุกรรมของสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้
1. ระยะเร่งด่วน : ควรย้ายจระเข้น้ำเค็มไปยังพื้นที่รองรับทางธรรมชาติที่เหมาะสม รูปแบบพื้นที่ปิด เพื่อการศึกษาวิจัย และเป็นการลดอาการเครียดของจระเข้ เช่น สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า หรือหน่วยงานที่มีศักยภาพเหมาะสมในการดูแลจระเข้ดังกล่าว
2. ระยะยาว: ศึกษาทางเลือกในการปล่อยคืนพื้นที่ธรรมชาติในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูชนิดพันธุ์จระเข้น้ำเค็ม ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีถิ่นอาศัยกระจายอยู่ในเขตอินโด-แปซิฟิก ตั้งแต่อ่าวเบงกอล หมู่เกาะอันดามัน เขตประเทศอาเซียนทั้งหมด ไปจนถึงตอนเหนือออสเตรเลีย และจากการจัดสถานภาพของจระเข้น้ำเค็มในประเทศไทยอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered-CR)
3. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีบทบาทสำคัญในการรักษาแหล่งพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ซึ่งจระเข้น้ำเค็มประสบกับสถานภาพอันน่าเป็นห่วง ประกอบไปด้วยจำนวนประชากรที่มีน้อยลงมาก อีกทั้งถิ่นอาศัยลดลง จึงควรมีการบูรณาการการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมกับกรมประมง เพื่อดูแลรักษาและปล่อยคืนพื้นที่ธรรมชาติ รวมถึงการศึกษาวิจัยเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมตามข้อที่ 2
4. ควรเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับจระเข้น้ำเค็ม รวมถึงบทบาทความสำคัญของจระเข้ในธรรมชาติที่นอกจากจะช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศแล้ว ยังมีโอกาสส่งเสริมเรื่องของการท่องเที่ยว เอื้อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของมนุษย์กับสัตว์ป่า ซึ่งมีตัวอย่างในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า เป็นต้น
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
4 กันยายน 2560