เมื่อเร็วๆ นี้นักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ของ THE NATIONAL FISH and Wildlife Forensics Laboratory ได้ทดสอบข้อมูลที่ถูกกล่าวอ้างว่าเกล็ดบนตัวนิ่มมีคุณสมบัติทางยาแบบเดียวกับทรามาดอล (Tramadol) ที่ใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวดแก่ร่างกายคน
แต่จากการตรวจสอบปฏิกิริยาทางเคมีของเกล็ดตัวนิ่มมากกว่า 100 ตัว และแยกแยะความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ ให้ผลยืนยันว่า ไม่พบผลลัพธ์หรือคุณสมบัติทางยาแบบเดียวกับทรามาดอลตามที่กล่าวอ้าง โดยรายงานการศึกษาดังกล่าวได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ Conservation Science and Practice
ที่มาของการทดสอบครั้งนี้เกิดขึ้น จากกรณีการเผยแพร่รายงานการศึกษาชิ้นหนึ่งผ่านทางสื่อในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวอ้างถึงคุณสมบัติของเกล็ดตัวนิ่มที่ประกอบด้วยคุณสมบัติของทรามาดอล
ดังที่ทราบกันว่าเกล็ดของตัวนิ่มนั้นทำมาจากเคราติน ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดเดียวกับเล็บและผมของมนุษย์ ซึ่งไม่มีคุณสมบัติทางยาใดๆ เลย แต่เมื่อมีการอ้างอิงรายงานออกมา กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จึงออกมาปฏิบัติการวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบว่าข้อมูลนั้นเป็นความจริงหรือไม่
“การศึกษาครั้งนี้จึงมีความสำคัญ เพราะเราจำเป็นต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้หักล้างการอ้างสิทธิ์ที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ยา โดยเฉพาะเมื่อมันมาจากสัตว์ที่กำลังใกล้จะสูญพันธุ์” Paul Thomson นักชีววิทยาด้านการอนุรักษ์และผู้ก่อตั้ง Save Pangolins ผู้ไม่แสวงหาผลกำไร กล่าวถึงงานวิจัย
การทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือลดความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสัตว์ป่าโดยผิดกฎหมาย เช่น งาช้าง เขาแรด หรือเกล็ดของตัวนิ่ม เป็นโจทย์ที่ท้าทายที่นักอนุรักษ์ต้องพยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค นักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมกันวิจัยหวังว่างานชิ้นนี้จะช่วยแก้ไขความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับทรามาดอลในเกล็ดตัวนิ่มลงได้
การค้าตัวนิ่มในปัจจุบันได้รับแรงหนุนจากความต้องการเนื้อและเกล็ดเป็นส่วนใหญ่ โดยมีหลายประเทศที่ยังนิยมบริโภคเนื้อในฐานะอาหารเลิศหรู ขณะเดียวกันในส่วนของเกล็ดมักจะถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในยาแผนโบราณ ซึ่งแผร่หลายในแอฟริกาและเอเชีย โดยเฉพาะประเทศจีนและฮ่องกง ถือเป็นปลายทางการค้าที่มีการลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมายสูงที่สุด
ในทางความเชื่อ แพทย์แผนจีนต้องการเกล็ดตัวนิ่มเพื่อไปแปรรูปเป็นยาโดยอ้างสรรพคุณว่าสามารถรักษาได้ตั้งแต่อาการไขข้ออักเสบไปจนถึงปัญหาการให้นมบุตรยาก
ซึ่งแม้ว่าตัวนิ่มจะถูกสั่งห้ามมิให้การมีการซื้อขายระหว่างประเทศ แต่พบว่ามีการนำเข้าเกล็ดของตัวนิ่มไปยังประเทศจีนราว 29 ตันต่อปี หรือเทียบเท่าตัวนิ่มประมาณ 73,000 ตัว เพื่อใช้ในการผลิตยาแผนโบราณในเชิงพาณิชย์
จากข้อมูลของสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ระบุว่า ตัวนิ่มสองสายพันธุ์ในเอเชียอยู่ในความเสี่ยงที่กำลังจะสูญพันธุ์เป็นอย่างมาก (ลิ่นซุนดา M. javanica กับลิ่นจีน M. pentadactyla) โดยมีการประมาณการออกมาว่า ทุกๆ 5 นาที จะมีตัวนิ่ม 1 ตัวถูกจับออกป่า
อ่านรายงานการศึกษา : Myth debunked: Keratinous pangolin scales do not contain the analgesic tramadol