จากห้วยขาแข้งถึงแม่วงก์ กับความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง

จากห้วยขาแข้งถึงแม่วงก์ กับความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง

ข้อมูลจากกองทุนสัตว์ป่าโลก WWF และการประชุม Global Tiger Forum (GTF) เกี่ยวกับการอนุรักษ์เสือโคร่ง ที่เมืองเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อเดือนเมษายน (2559) ที่ผ่านมา ระบุว่าปัจจุบันจำนวนประชากรเสือโคร่งในป่ามีทั้งหมด 3,890 ตัว เพิ่มขึ้นจากข้อมูลเมื่อปี 2553 ที่ระบุว่า 3,200 ตัว โดยปัจจัยการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมาจากการพัฒนาวิธีเก็บข้อมูลที่มีมาตรฐานและการป้องกันพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัจจัยการเพิ่มจำนวนประชากรของเสือโคร่งดังรายงานสอดคล้องกับข้อสรุปนักวิจัยเสือโคร่งชาวไทยที่บอกว่า “สิ่งที่จะทำให้เสือโคร่งอยู่รอดได้คือพื้นที่อาศัยต้องปลอดภัย มีขนาดใหญ่ และมีอาหารเพียงพอ”

สำหรับประเทศไทย พื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ ปลอดภัย และมีอาหารเพียงพอต่อเสือโคร่ง อยู่ที่ผืนป่าตะวันตก โดยมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นศูนย์กลางการกระจายพันธุ์

กว่า 20 ปี หลังสิ้นเสียงปืนของสืบ นาคะเสถียร ผืนป่าห้วยขาแข้งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลกโดยยูเนสโก้ งานป้องกันและรักษาผืนป่าก็ได้รับการยกระดับในเชิงคุณภาพตามมา

สมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ กล่าวว่าในเริ่มแรกที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เริ่มงานวิจัยเสือโคร่ง พบเสือโคร่งเพียงแค่ 40 ตัว แต่หลังจากนั้นเมื่องานป้องกันเริ่มเข้มข้นและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น จำนวนประชากรของเสือโคร่งก็เพิ่มตามไปด้วย

“ยกตัวอย่างข้อมูลระยะทางลาดตระเวนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของห้วยขาแข้งในปี 2550 มีระยะทางลาดตระเวนทั้งสิ้น 7,424.2 กิโลเมตร สำรวจพบเสือโคร่งราว 40 ตัว ขณะที่ปัจจุบันระยะทางการลาดตระเวนเพิ่มขึ้นเป็น 24,761.5 กิโลเมตร จำนวนประชากรเสือโคร่งก็เพิ่มตามไปเป็น 60 – 70 ตัว”

นักวิจัยเน้นย้ำว่า ไม่ใช่แค่เพิ่มงานลาดตระเวนแล้วประชากรเสือโคร่งจะเพิ่มทันที แต่ต้องอดทนและอาศัยเวลาเพื่อให้จำนวนประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้นจากการป้องกันที่ทำอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากความเข้มข้นของงานป้องกันแล้ว ลักษณะของพื้นที่ก็มีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรเสือโคร่งเช่นกัน ดังข้อมูลของนักวิจัยที่พบว่า เสือโคร่งมักจะหากินในพื้นที่ราบมากกว่าพื้นที่เชิงเขา เนื่องจากกระจายตัวของเหยื่อจะอยู่บริเวณป่าที่ราบมากกว่า และในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งยังมีป่าที่ราบอันเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าโดยเฉพาะป่าที่ราบริมน้ำที่มีอยู่ 2 แห่ง คือบริเวณริมลำห้วยขาแข้ง และลำห้วยทับเสลา

อย่างไรก็ตามพื้นที่สามล้านกว่าไร่ ของเขตรักษาพันธุ์ห้วยขาแข้งก็ยังถือว่าไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟูจำนวนประชากรเสือโคร่งให้ได้ตามเป้าที่ได้สัญญาไว้ในการประชุมเสือโคร่งระดับโลก (Tiger Summit) ว่าจะร่วมกันอนุรักษ์และเพิ่มประชากรเสือโคร่งได้ให้เป็นสองเท่าของจำนวนประชากรในปัจจุบัน ภายในปี 2565

เสือโคร่ง ผืนป่าแม่วงก์-คลองลาน © WWF-ประเทศไทย และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

แต่ความหวังไม่ริบหรี่ไปเสียทีเดียว ด้วยข้อมูลของโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน โดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชทำร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลก WWF ประเทศไทยระบุว่าพบการกระจายตัวของเสือโคร่งจากห้วยขาแข้งไปยังผืนป่าทั้งสองแห่งแล้ว

ในอดีตผืนป่าแม่วงก์และคลองลานถูกบุกรุกตัดไม้จนกลายเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม แต่หลังจากประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ มีระบบการป้องกันดูแลรักษาและไม่ถูกรบกวนมาเป็นเวลา 20 ปี ผืนป่าก็กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง และความสมบูรณ์ของผืนป่าก็นำมาซึ่งสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง

ดร.รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งฯ กล่าวว่าความสัมพันธ์ของเสือโคร่งกับเหยื่อเป็นปัจจัยที่เกี่ยวโยงกันอย่างมาก หลายพื้นที่ที่ประชากรเสือโคร่งหายไป อาจเป็นเพราะพื้นที่นั้นไม่มีเหยื่อที่เพียงพอ

“ถึงแม้ว่าพื้นที่เหล่านั้นจะไม่มีการล่าเสือโคร่งโดยตรงแต่การล่าเหยื่อที่เป็นอาหารของเสือก็กระทบต่อความเป็นอยู่ของเสือโคร่งได้เช่นกัน”

โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง เริ่มต้นในปี 2555 เพียงแค่ปีแรกก็พบเรื่องน่ายินดี เมื่อสามารถถ่ายภาพเสือโคร่งแม่ลูกในพื้นที่จากกล้องดักถ่ายได้ และเมื่อนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกับข้อมูลของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำทำให้รู้ว่าเสือโคร่งเพศเมียที่ถ่ายได้นี้เป็นเสือที่เดินมาจากห้วยขาแข้ง แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมร้อยกันของสองพื้นที่

“ห้วยขาแข้งเป็นเหมือนแหล่งกระจายพันธุ์เสือ โดยมีป่าแม่วงก์เป็นพื้นที่รองรับ”

และเมื่องานวิจัยเดินทางมาถึงปีที่ 4 ของการทำงาน ก็พบว่าเสือโคร่งเพศเมียตัวเดิมมีลูกออกมาอีกคลอก ก็ยิ่งเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าผืนป่าแม่วงก์มีศักยภาพเพียงพอต่อการเป็นบ้านอีกหลังที่จะช่วยฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งได้อย่างแน่นอน

 

เขื่อนแม่วงก์กับผลกระทบต่อบ้านแห่งความหวังของสัตว์ป่า

“สิ่งที่กลัว คือ เราไม่สามารถควบคุมผลข้างเคียงที่จะเกิดในช่วงที่กำลังก่อสร้างหรือก่อสร้างเสร็จแล้ว อย่างเช่นการลักลอบตัดไม้เกินพื้นที่ที่กำหนด หรือการลอบเข้าไปล่าสัตว์ในพื้นที่อุทยานฯ แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามแล้ว แต่คนที่จ้องเข้าไปขโมยของกับคนที่พยายามรักษาคงไล่กันไม่ทัน” สมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ

“ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลานที่สุราษฎร์ธานี ซึ่งคงไม่ต้องบรรยายแล้วว่ามันเป็นอย่างไรบ้างตอนที่พี่สืบเข้าไปช่วยชีวิตสัตว์ป่า เราสูญเสียสัตว์ป่าไม่รู้เท่าไหร่ ถึงแม้จะช่วยชีวิตทันแต่ก็ช่วยไม่ได้อยู่ดี สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งจะเชื่อมโยงกับอีกหลายๆ สิ่ง เสือโคร่งเชื่อมโยงถึงเหยื่อ เหยื่อเชื่อมถึงระบบนิเวศ ถ้าอย่างหนึ่งได้รับผลกระทบมันจะส่งผลต่อสิ่งอื่นๆ เช่นกัน” ดร.รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูเสือโคร่ง อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน WWF ประเทศไทย

 


 

บทความโดย เอกวิทย์ เตระดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายองค์กรสื่อสารอนุรักษ์