สืบ นาคะเสถียร กับ ผู้พิทักษ์ป่า

สืบ นาคะเสถียร กับ ผู้พิทักษ์ป่า

“ถ้ามึงจะยิงลูกน้องกู มึงมายิงกูดีกว่า” เสียงตะโกนของ ‘สืบ นาคะเสถียร’ ดังก้องป่า ในตอนเขาดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ลูกน้องเขาถูกพรานล่าสัตว์ทำร้ายขณะออกลาดตระเวน แม้ผู้กระทำความผิดจะถูกจับ แต่ก็ต้องแลกกับความสูญเสียอันน่าเศร้า

สืบเปล่งวาจาออกไปด้วยอารมณ์โมโห มันดังมาจากข้างในจิตใจของผู้เป็นหัวหน้า

ดร.อลัน ราบิโนวิทซ์ เพื่อนสนิทของสืบ บอกกับเขาว่า “คุณไม่จำเป็นต้องกังวลกับการที่มีใครตาย เพราะการตายไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของคุณ พวกเขาทำงานของเขา คุณไม่ต้องไปรับผิดชอบพวกเขาถึงร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก” แต่สืบก็ตอบกลับทันทีว่า “จะไม่มีใครตายในห้วยขาแข้ง ถ้ามีก็ต้องเป็นผม”

ในความเป็นสืบ นาคะเสถียร แม้เราจะรู้จักภาพเขาในฐานะนักวิชาการและนักอนุรักษ์ แต่อีกภาพหนึ่งที่ปรากฎเด่นชัดควบคู่กันมา คือ สืบเป็นคนที่เอาใจใส่ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกน้องเป็นอย่างมาก

เพราะสืบรู้ดีว่า คนที่ทำงานเพื่อรักษาป่าจริงๆ คือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าระดับล่าง และงานที่พวกเขาทำก็มีความเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

เหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจและทำให้สืบเริ่มตระหนักถึงปัญหาความยากลำบากของพนักงานพิทักษ์ป่า เกิดขึ้นเมื่อตอนเขาทำงานวิจัยเรื่องกวางผาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ในการเดินทางสำรวจครั้งนั้นได้เกิดอุบัติเหตุจากไฟป่าจนทำให้ คำนึง ณ สงขลา หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าดอยมูเซอ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยม่อนจอง ที่ร่วมเดินทางไปด้วยเสียชีวิต

สืบได้เขียนบันทึกถึง คำนึง ณ สงขลา ไว้ว่า “เราทั้งคู่มองหาคำนึง เมื่อไม่เห็นจึงตะโกนเรียก แต่ก็ไม่มีเสียงตอบ พวกที่เดินกลับไปก่อนย้อนมาดูพวกเรา และช่วยกันหาคำนึง ผมพบหมวกที่คำนึงเคยสวมอยู่ถูกไฟไหม้เป็นเถ้าถ่าน แต่ยังคงรูปเป็นหมวกให้เห็น ก่อนที่จะถูกลมกรรโชกให้แตกสลายไป …ประมาณบ่ายโมงครึ่งของวันรุ่งขึ้น ขณะที่ผมใช้กล้องส่องทางไกลส่องลงไปตามลาดผาตรงจุดที่คาดว่าเขาจะพลาดล้มและกลิ้งตกลงไป ผมได้พบร่างของคำนึงที่ไหม้เกรียมติดค้างอยู่ตรงลาดผาช่วงกลาง ซึ่งไม่มีทางลงไปหรือขึ้นมาจากข้างล่างได้ …คืนนั้น เราทำพิธีเคารพศพของคำนึงด้วยสิ่งของเท่าที่จะหาได้ในเวลานั้น ขอให้ดวงวิญญาณของเขาผู้ซึ่งอุทิศตัวเพื่องานที่เขารับผิดชอบ จงไปสู่สุคติด้วย”

นอกจากเรื่องของคำนึงแล้ว ในวันที่สืบเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตลอดเวลา 8 เดือนที่ทำงาน ยิ่งทำให้สืบเห็นว่า งานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่านั้นต้องเผชิญอันตรายมากมายแค่ไหน

ป่าห้วยขาแข้งเมื่อกว่า 25 ปีก่อน ปัญหาการทำไม้และล่าสัตว์ สร้างความกดดันให้กับสืบเป็นอย่างมาก ทั้งต้องปกป้องป่าและสัตว์ป่า และยังต้องคอยเป็นห่วงเป็นใยสวัสดิภาพลูกน้องที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ สืบถึงกับเคยตัดพ้อออกไปว่า

“ผมพูดได้เลย มันมีการยิงกันทุกวัน ไปตามก็เจอแต่กองไฟ เจอซากที่ชำแหละไว้เรียบร้อย จับมันได้ครั้งหนึ่ง มันพร้อมจะล่าสิบครั้งกว่าจะโดนจับ ถูกปรับแค่ 500 บาท คุกก็ไม่ติด กว่าเราจะจับมันได้ ต้องไปอดทนนอนแบกข้าวสารไปกินในป่า อย่างเมษายนปีที่แล้วลูกน้องผมถูกนายพรานยิงตายสองคน เจ้าหน้าที่ยิงก่อนก็ไม่ได้ ถือว่าเกินกว่าเหตุ ผู้ต้องหามันเห็นหน้าเรา มันยิงใส่เราแล้วเราก็ตาย เรามีค่าเหรอ ตายไปอย่างดีก็เอาชื่อมาติดที่อนุสาวรีย์หน้ากรมป่าไม้”

อุปกรณ์ที่ใช้ในการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเวลานั้น นอกจากหัวใจของผู้พิทักษ์แล้ว เครื่องไม้เครื่องมือในการปฏิบัติหน้าที่ถือเป็นสิ่งขาดแคลน เจ้าหน้าที่มีเพียงปืนลูกซองข้างกาย หากเกิดเหตุการณ์คับขันก็ไม่มีวิทยุสื่อสารเพื่อขอความช่วยเหลือ ขณะที่พื้นที่ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีถึง 1,019,379 ไร่ มีหน่วยพิทักษ์ป่ากระจายกันอยู่ทั่วพื้นที่ทั้งหมด 9 หน่วย แต่ละหน่วยมีกำลังพลอยู่ประมาณ 8-10 คน แต่ได้รับงบประมาณดูแลเพียงไร่ละ 80 สตางค์ต่อปี เจ้าหน้าที่ทำงานไม่มีสวัสดิภาพสวัสดิการรองรับ เงินเดือนลูกจ้างชั่วคราวได้รับไม่เกิน 1,500 บาท ในช่วงสิ้นปีงบประมาณก็พบกับปัญหาการตกเบิก

สืบวิ่งเต้นหาแหล่งเงินทุนเพื่อมาเป็นสวัสดิการและประกันชีวิตให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับล่างในห้วยขาแข้ง และเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ บางครั้งสืบต้องกลับไปขอยืมเงินจากทางบ้าน เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับลูกจ้างที่ตกเบิกไปก่อน

กอบกิจ นาคะเสถียร น้องชายของสืบเล่าให้ฟังว่า “พี่สืบไปขอยืมเงินแม่เดือนละสองหมื่นบาท แล้วไม่บอกเหตุผลว่าเอาไปทำอะไร ทางบ้านจึงเข้าใจว่าพี่สืบใช้เงินเปลือง เอาไปเลี้ยงผู้หญิงหรือเปล่า ทีหลังถึงรู้ว่าเอาไปให้ลูกจ้างรายวันในป่ายืมก่อน เพราะเงินเดือนของพวกเขาตกเบิกช้ามาก พวกนี้ไม่มีอะไรจะกิน พี่สืบก็ต้องเอาเงินจากทางบ้านออกไปก่อน”

สำหรับตัวของสืบ การช่วยเหลือผู้ใต้บังคับบัญชา มันเป็นสิ่งที่มากกว่าคำว่า ‘หน้าที่’

สืบเคยบอกว่า “สิ่งไหนที่ผมช่วยสังคมได้ ผมจะช่วย ที่ผมต้องตะโกนเพราะผมอยากเห็นสังคมมันดีขึ้น ผมอยากเห็นคนที่มีโอกาส สละโอกาสให้กับคนที่ไม่มีโอกาสบ้าง”

สืบ นาคะเสถียร ได้พยายามอย่างสุดความสามารถเท่าที่ชีวิตมนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ และความพยายามนั้นยังตราตรึงในความรู้สึกของเหล่าผู้พิทักษ์ป่าดง

เหมือนดังที่สุรชัย จันทิมาธร เขียนไว้ในเนื้อเพลงเพื่อรำลึกถึงหัวหน้ารักษาพงไพรผู้ล่วงลับ “สืบ นาคะเสถียร เป็นบทเรียนข้าราชการไทย ไม่เพียงเท่านั้น เป็นขวัญ กำลังใจของคนรักป่า”


กว่าสองทศวรรษหลังการจากไปของสืบ นาคะเสถียร แม้เงินเดือนลูกจ้างจะได้รับการปรับเพิ่มขึ้น เรื่องเงินตกเบิกก็ได้รับการแก้ไข แต่ปัญหาเรื่องงบประมาณในการดูแลรักษาป่าก็ยังไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ อุปกรณ์ต่างๆ ในพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่งยังคงขาดแคลน หัวหน้าหลายๆ แห่งยังคงต้องวิ่งหาแหล่งทุนจากภายนอกมาช่วยเติมเต็มการทำงานอย่างที่สืบ นาคะเสถียรเคยทำ และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าก็ยังคงต้องใช้ชีวิตอย่างเสี่ยงภัยอยู่ในป่าเช่นเดิม

ทุกครั้งที่มีการสูญเสียเกิดขึ้น มันไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับเจ้าหน้าที่ที่ประสบเหตุ คนที่รออยู่ข้างหลังก็จะได้ความสูญเสียไม่ต่างกัน

ตลอดระยะเวลาการก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า เพื่อช่วยเหลือผู้พิทักษ์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บขณะปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนสนับสนุนทุนการศึกษาแก่บุตร – ธิดา ของครอบครัวผู้พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิต

เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคคลเหล่านี้ว่า ต่อไปทุกๆ ครั้งที่พวกเขาต้องออกไปทำหน้าที่ หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เขาจะมั่นใจได้ว่าครอบครัวที่อยู่เบื้องหลังจะไม่ได้รับความเดือดร้อนมากนัก

รายละเอียดและช่องทางบริจาค กองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม