ผืนป่าตะวันตกเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากร เต็มไปด้วยพรรณพืชและสัตว์ป่านานาชนิด อาทิ ช้างป่า เสือโคร่ง ควายป่า สมเสร็จ กระทิง วัวแดง และนกยูง อันถือว่าเป็นสัตว์ป่าหาได้ยากยิ่งที่เหลืออยู่จำนวนน้อย รวมทั้งยังเป็นผืนป่าที่เป็นแหล่งผลิตและกักเก็บน้ำสำคัญของกรุงเทพมหานคร ซึ่งภายในพื้นที่บางแห่งนั้นปรากฏชุมชนดั้งเดิมอาศัยอยู่ เกิดการรุกล้ำผืนป่า การล่าสัตว์ ความขัดแย้งระหว่างสัตว์ป่ากับชุมชน และบริเวณรอยต่อระหว่างพื้นที่เกิดช่องโหว่ซึ่งส่งผลให้การปฏิบัติการอนุรักษ์และดูแลผืนป่าเหล่านี้ทำงานได้ยาก
เมื่อต้องการให้ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าตะวันตกยังคงอยู่ต่อไป จึงเกิดการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อช่วยกันดำเนินโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม ทั้งการจัดทำฐานข้อมูลชุมชน การฟื้นฟูดูแลทรัพยากรธรรมชาติ มีการสร้างกติกาโดยคณะกรรมการชุมชน ร่วมกันดูแลไม่ให้มีการขยายพื้นที่เข้าไปผืนป่าใหญ่ โดยมีคณะกรรมการชุมชนร่วมเดินลาดตระเวนกับเจ้าหน้าที่ ทางมูลนิธิสืบฯได้เข้าทำงานร่วมกับชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมดูแลรักษาผืนปากันชนที่อยู่รอบพื้นที่คุ้มครองในรูปแบบการจัดตั้งป่าชุมชน เพื่อการใช้ทรัพยากรในพื้นที่คุ้มครอง และเกิดเป็นกระบวนการบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมเพื่อการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน
นายนริศ บ้านเนิน ผู้จัดการโครงการส่วนงานพื้นที่คุ้มครอง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้กล่าวว่า มูลนิธิสืบฯ ทำงานในผืนป่าตะวันตกมีพื้นที่ขนาด 12 ล้านไร่ โดยประกอบไปด้วยพื้นที่อนุรักษ์ 17 แห่ง และได้แบ่งความรับผิดชอบในแต่ละท้องที่ประกอบไปด้วย (ก) ท้องที่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง (ข) ท้องที่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า อุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง (ค) ท้องที่ความรับผิดชอบของสำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) อุทยานแห่งชาติพุเตย อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติไทรโยค อุทยานแห่งชาติเขาแหลม อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ อุทยานแห่งชาติลำคลองงู เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ
เมื่อ 10 ปีก่อน ทางมูลนิธิสืบฯ ทำโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม เป็นการทำงานร่วมกับชุมชนเรื่องการใช้ประโยชน์พื้นที่ ในการจัดทำข้อมูล ซึ่งเราทำข้อมูลเอาไว้เพื่อตีกรอบไม่ให้ชาวบ้านในขุมชนขยายการรุกผืนป่าเพิ่มเติม ต่อมาปีนี้เป็นการดำเนิน ‘โครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก‘ ซึ่งเป็นโครงการใหม่ มีระยะเวลาการดำเนินโครงการ 4 ปี มีการให้ความสำคัญในเรื่อง (1) พัฒนาระบบงานอนุรักษ์โดยใช้กระบวนการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (2) ตรวจสอบงานเก่าที่มูลนิธิสืบฯ ทำมา 10 ปี เรื่องการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุมชนประมาณ 130 ชุมชน ในป่าตะวันตกว่าเมื่อดำเนินการไปแล้ว ชุมชนบุกรุกผืนป่าเพิ่มเติมหรือไม่ (3) พัฒนาระบบการตรวจสอบโดยแอปพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งนับว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ปัจจุบันสามารถช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานได้ดี จากเดิมที่ใช้การเดินลาดตระเวน บางครั้งข้อมูลพื้นฐานในการบริหารจัดการเปลี่ยนมาบริหารในแผนที่ โดยใช้แอปพลิเคชั่นไปทาบกับกูเกิ้ลหรือแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม ทำให้เห็นร่องรอย วิธีการทำงาน และทราบถึงปัญหา และจุดเด่นจุดด้อย
การปฏิบัติงานแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ (1) การทำงานร่วมพัฒนาระบบงานลาดตระเวน (2) ตรวจสอบพื้นที่ การใช้ประโยชน์ของโครงการจอมป่า (3) พัฒาระบบแอปพลิเคชั่น (GIS) ที่สามารถใช้งานได้สะดวก นำเสนอได้ง่าย ตรวจสอบง่าย นำไปสู่การบริหารจัดการบนแผนที่ในอีกใน 4 ปีข้างหน้า เพื่อที่จะจัดการป่าตะวันตกหรือดำเนินการให้เป็นมรดกโลกต่อไป
ในแผนงานพัฒนาระบบงานอนุรักษ์โดยใช้กระบวนการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ได้แบ่งโซนการทำงานอนุรักษ์กำหนดไว้ 13 โซน ได้แก่
1. โซนเขาเขียว–เขาใหญ่ อยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาแหลมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เป็นพื้นที่ภูเขาสูงมาก มีจุดเด่นเรื่องพันธุกรรมพืช
2. โซนโปตาน่า เนื่องจากป่าโปตาน่าอยู่ในเขตพื้นที่ 3 พื้นที่ คือ เขตอุทยานแห่งชาติลำคลองงู อุทยานแห่งชาติเขาแหลม และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก โซนโปตาน่าเป็นป่ายางใหญ่ที่มีความสมบูรณ์ จึงเป็นบ้านเป็นแหล่งอาศัยของนกเงือก
3. โซนหมู่บ้านคลิตี้ อยู่ระหว่างพื้นที่หมู่บ้านคลิตี้กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เป็นพื้นที่ทำกินตามของพื้นที่ชนเผ่ากระเหรี่ยง ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนวิถีการทำกินจากไร่ข่าวหมุนเวียนกลายเป็นพืชเชิงเดี่ยวจนเข้าประชิดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซึ่งเป็นมรดกโลก จึงกำหนดพื้นที่นี้ให้มีการทำงนร่วมกัน ระหว่างอุทยานแห่งชาติลำคลองงูและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก
4. โซนไทรโยค–ทองผาภูมิ เป็นปฏิบัติงานเพื่อการอนุรักษ์เพื่อช้าง ช้างโซนนี้แต่เดิมไม่เคยลงมาใกล้ชิดกับชาวบ้าน และยังไม่เคยทำร้ายชาวบ้าน ปัจจุบันช้างป่ามีโขลงขนาดใหญ่มากได้มาใกล้ชิดชาวบ้าน จึงเกิดการทำงานร่วมกันเพื่อได้ข้อมูลและจัดหาวิธีบริหารจัดการเรื่องช้าง ไม่ให้เกิดภัยหรือข้อขัดแย้งกับชุมชน
5. โซนระหว่างพื้นที่เตรียมประกาศห้ามล่าศรีสวัสดิ์กับพื้นที่เตรียมผนวกของเฉลิมรัตนโกสินทร์ บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่ปรากฏร่องรอยของเสือจากสลักพระเข้ามาเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ทำเหมืองเก่า และมีเส้นทางระหว่างชุมชนเข้าไปยังป่าลึก ใช้เดินทางเข้าไปขนแร่ในสมัยก่อน และโซนนี้มีทั้งเสือ ทั้งช้าง และสัตว์ป่า
6. พื้นที่เตรียมประกาศเฉลิมรัตนโกสินทร์กับพื้นที่เตรียมประกาศห้ามล่าศรีสวัสดิ์ บริเวณนี้เป็นพื้นที่อันพิสูจน์ได้ว่าเสือจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเดินผ่านจากถนนเส้นนี้ ในส่วนนี้มูลนิธิสืบฯได้จัดทำสองโครงการ คือ การลาดตระเวนเพื่อเส้นทางเดินเสือ และแนวเชื่อมต่อป่า เป็นป่าใหญ่ลึกไม่มีถนนลาดยาง ปัจจุบันมีช้าง และสัตว์ป่าเดินข้ามไปมา
7. โซนพื้นที่เตรียมประกาศเฉลิมรัตนโกสินทร์ คือ ห้วยแม่พลูกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เป็นพื้นที่ที่มีทั้งเสือ และพบช้างบ้างเป็นบางเวลา มีวัวแดง กระทิง ที่อยู่ประชิดกับชุมชน เนื่องจากเป็นที่ราบจึงตั้งฐานในการลาดตระเวน
8. โซนน้ำของเขื่อนศรีนครินทร์ แบ่งได้ 2 โซน ในการทำงานร่วมระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกกับอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ บริเวณนี้เรียกว่า ปากแม่น้ำโจน เป็นแม่น้ำโจนที่ลงมาจากทางอุ้มผาง เป็นโซนที่นักท่องเที่ยวใช้แพท่องเที่ยว จะมีปลาขนาดใหญ่พิเศษ ทั้งปลาแดง ปลาน้ำเงิน ซึ่งมีชื่อเสียงมากในจังหวัดกาญจนบุรี เป็นที่นิยมในหมู่นักตกป่า โดยในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นปางไม้เก่า ปัจจุบันได้รับการฟื้นฟูแล้ว มีคนเข้าไปใช้ประโยชน์ หาของป่า หรือบางครั้งก็เข้าไปล่าสัตว์
9. โซนห้วยขาแข้งกับอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เป็นโซนติดกับหมู่บ้านไกรเกรียง ซึ่งอยู่กลางป่า บริเวณนี้มีความสำคัญคือเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของควายป่าซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์
10. โซนห้วยขาแข้ง กำหนด 4 การทำงานร่วมกัน ตั้งแต่ห้วยขาแข้งกับคณะกรรมการป่าชุมชน และหน่วยป้องกันของกรมป่าไม้ อีกสองสายลาดตระเวน เรียกบริเณนี้ว่าบริเวณบึงเจริญ ซึ่งลาดตระเวนร่วมกับคณะกรรมการป่าชุมชน และหน่วยป้องกันรักษาป่าที่อน. 8 เมื่อไม่นานมานี้มีการจับคนล่าเสือได้บริเวณนี้จากข้อมูลในอดีตทั้งเสือและกระทิงได้ตายในบริเวณนี้ซึ่งเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนร่วมของขาแข้งได้ลาดตะเวนอยู่แล้วและเพื่อเสริมประสิทธภาพให้สูงสุดจึงดึงคณะกรรมการป่าชุมชนและหน่วยป้องกันของกรมป่าไม้มาร่วมด้วย
11. โซนอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างอุทยานแห่งชาติแม่วงก์กับหน่วยป้องกันของกรมป่าไม้ จุดเด่นของพื้นที่นี้คือเป็นป่ากฤษณา ซึ่งในอดีตมีชาวต่างชาติใช้เส้นทางแม่วงก์ลักลอบเข้าไปตัดไม้กฤษณา
12. โซนคลองลาน–คลองวังเจ้า ปัจจุบันพิสูจน์ได้ว่ามีเสือเดินผ่านคลองลานและคลองวังเจ้า ทางคลองลานเองไม่มีชุมชนอยู่ในพื้นที่ แต่คลองวังเจ้ามีชุมชนใหญ่ซึ่งเป็นชุมชนชาติพันธุ์ม้งอยู่กลางพื้นที่ป่า และมีเส้นทางเดินเท้าระหว่างคนอุ้มผางกับคนกำแพงเพชร จึงเรียกพื้นที่โซนนี้ว่า การลาดตระเวนร่วมคลองสวนหมาก เป็นคลองที่สามารถขึ้นไปที่ชุมชนได้ มีลักษณะเป็นป่าดิบ มีสัตว์ป่า บ้านของกระทิง กวาง มีน้ำตกเต่าดำเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง อีกทั้งเมื่อปีก่อนปรากฏข้อมูลเสือมาล่าควายถึงหมู่บ้าน
13. โซนสุดท้ายคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสนามเพรียงกับป่าชุมชน จุดนี้เพื่อจุดประสงค์ทำแนวเชื่อมต่อป่า ระหว่างเขาสนามเพรียงกับคลองวังเจ้า มีแนวทางเชื่อมต่อเขาสนามเพรียงกับป่าชุมชนและป่าสงวน นำไปสู่ป่าคลองวังเจ้า จุดประสงค์ในการลาดตระเวนร่วมคือเพื่อลดภัยคุกคาม บริเวณนี้เป็นแหล่งที่ชาวบ้านใช้หาอยู่หากินกับป่าเยอะมาก มีการเผาถ่านและใช้ไม้ จึงได้ใช้การลาดตระเวนร่วมเพื่อการป้องปราม
ทุกอย่างที่เล่ามาทั้งหมด 13 โซน คือการใช้มรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นหัวใจ มีการลาดตระเวณบริเวณรอบๆ เป็นแนวกันชน “พี่สืบบอกว่าการที่จะดูแลมรดกโลกให้ได้นี้ ต้องดูแลพื้นที่รอบๆ ด้วย” และความฝันของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรคือการประกาศมรดกโลกทั้งผืนป่าตะวันตก โดยการจัดการจากข้อมูลตรงนี้ ซึ่งเครื่องมือในการทำงานมิใช่มีแค่การดำเนินการลาดตระเวนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทุกโซนยังมีการตรวจสอบพื้นที่ การใช้ประโยชน์ชุมชนตามโครงการจัดการพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมที่ได้ทำมา 10 ปีแล้ว ซึ่งได้ข้อมูลแผนที่การใช้ประโยชน์ของพื้นที่มา เพื่อตรวจสอบว่ามีการรุกล้ำพื้นที่เพิ่มเติมหรือไม่ โดยใช้ระบบงานลาดตระเวนเป็นการตรวจสอบ หากเกิดปัญหาในการลาดตระเวนจะถูกการแก้ไขในเดือนนั้นๆไปเลย เช่น หากเกิดปัญหากับกลุ่มหรือชุมชนตรงนั้นจะต้องมีการดำเนินการจับกุมหรือไกล่เกลีย จะดำเนินการโดนทันที นี่คือส่วนของพื้นที่
ในส่วนของสำนักบริหาร เราทำงานกับ 3 สำนักบริหาร สำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3, 12 และ 14 ซึ่งสำนักบริหารมีคณะอำนวยการอยู่ชุดหนึ่ง เพื่ออำนวยการการทำงานของแต่ละสำนักนั้นๆ เป็นการขับเคลื่อน ประเมินผล ซึ่งคณะอำนวยการมี 3 ส่วนหลักๆ (1) อำนวยการให้เกิดงานลาดตระเวนร่วม (2) การประเมินผล โดยในอดีตการทำงานไม่มีระบบการประเมินผล เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลการทำงาน สามารถปฏิบัติงาน เกิดการเรียนรู้ เป็นการลาดตระเวนเชิงคุณภาพจริงหรือไม่ และเมื่อเกิดปัญหาอุปสรรค์แล้วได้รับการแก้ไขหรือไม่อย่างไร (3) ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ( Geographic Information System ) GIS เป็นการรวบรวมข้อมูลงานลาดตระเวน สัตว์ป่า เกิดภัยคุกคามบริเวณใดบ้าง ขณะนี้กำลังออกแบบให้เก็บงานเป็นพื้นที่เดียว จะช่วยให้สามารถเรียนรู้ได้และสะดวกต่อการปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น
อีกทั้งนายนริศ บ้านเนินยังได้บอกเล่าถึงปัญหาและอุปสรรค์ที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงาน นั่นคือ เรื่องระบบราชการ การทำงานข้ามเขตต้องได้รับการอนุมัติจากอธิบดี ซึ่งมูลนิธิสืบฯ เป็นคนกลางในการประสานงานให้เกิดการทำงานได้ ในปัจจุบันยกตัวอย่างเฉพาะสำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) การทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนมากกว่า 200 คน ซึ่งแม้จะมีประสบการณ์ในการลาดตระเวน แต่ก็มีความรู้และความสามารถต่างกัน ข้อจำกัดต่างกัน ทำอย่างไรจึงจะรวมเป็นทีมเป็นหนึ่งเดียว
ด้านเจ้าหน้าที่ GIS ทุกคนมีความรู้ แต่จะทำอย่างไรให้มีคุณภาพ มีความรู้ สามารถรวบรวมข้อมูลนำเสนอได้ และที่สำคัญที่เจ้าหน้าลาดตระเวน เจ้าหน้าที่ GIS เป็นแค่ลูกจ้างของกรมอุทยานฯ ซึ่งการทำงานด้านนี้เป็นจำเป็นต้องใช้ความรู้เฉพาะ แต่มีการผลัดเปลี่ยนเจ้าหน้าที่บ่อยครั้ง จึงจำต้องฝึกเจ้าหน้าที่ใหม่เรื่อยๆ
และหากเกิดไปเจอภัยคุกคาม พบซากสัตว์ ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังมีปัญหาว่า หากนำเรื่องมารายงานกลัวว่าจะมีปัญหาย้อนกลับไปถึงตนเองหรือหน่วยงานสังกัดตนเอง ซึ่งการพบซากสัตว์อาจเกิดจากเสือขนาดเล็กเป็นผู้ล่าก็ได้ ไม่ใช่เพราะว่าเจ้าหน้าที่ดูแลไม่ดี แต่สิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับตัวกฎหมาย หากมีการรายงานเยอะๆ และไม่มีการดำเนินการตามกฎหมาย อาจเสี่ยงกับ มาตรา 157* ก็ได้ สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุยทั้งทางด้านผู้ใหญ่และทางเจ้าหน้าที่เองให้เกิดความเข้าใจกัน เกิดการแก้ไข การร่วมมือช่วยกันดำเนินการ การรวบรวมจัดทำข้อมูลตามข้อเท็จจริง ช่วยทำให้เห็นถึงปัญหาอุปสรรค์ ตั้งแต่เรื่องคน ข้อมูล การจัดการ รวมถึงการดำเนินการจัดการที่มีความสัมพันธ์กับกฎหมาย
นริศ บ้านเนิน สรุปว่าข้อมูลที่ได้จากการลาดตระเวนเป็นสิ่งสำคัญ จำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลทั้งหมด มิเช่นนั้นจะไม่สามารถดูแลบริหารจัดการพื้นที่ป่าตะวันตกได้ ป่าตะวันตกมันมีภาพลักษณ์ที่สวยงาม แต่ภายในหากถูกปกปิดเช่นนี้ปัญหามีแต่ปัญหาจะยิ่งพอกพูน เมื่อมีปัญหาก็ต้องได้รับการแก้ไข พื้นป่าตะวันตกทั้ง 20 ล้านไร่ต้องมีการตรวจสอบทุกพื้นที่ แม้การแก้ไขจะไม่สามารถเสร็จสิ้นภายใน 1 ปีได้ก็ตาม
หมายเหตุ (มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ)
ร่วมรักษาป่าผืนใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โดยการสมทบทุนผ่านบัตรเครดิต