1ปี “คดีเสือดำ”คำตัดสินที่รอคอย

1ปี “คดีเสือดำ”คำตัดสินที่รอคอย

หลังจากวันที่19 มีนาคมที่ผ่านมา ศาลจังหวัดทองผาภูมิพิพากษาคดีล่าเสือดำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร หลังจากคำตัดสินในชั้นนี้จบลง มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงโทษของจำเลย ซึ่งไม่ตรงใจประชาชนมากนัก แต่ก็ต้องยอมรับและเคารพคำตัดสินของศาล หลังจากนี้คดีจะเป็นอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อ

สรุปคำพิพากษาคดีเสือดำจำเลยทั้ง4

นายเปรมชัย กรรณสูต จำเลยที่1 จำคุก 16 เดือน
นายยงค์ โดดเครือ จำเลยที่ 2 จำคุก 13 เดือน
นางนที เรียมแสน จำเลยที่ 3 จำคุก 4 เดือน (โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี)
นายธานี ทุมมาศ จำเลยที่ 4 จำคุก 2 ปี 17 เดือน

 

 

ถูกลงโทษทั้งรวม 8 ข้อหา คือ

  1. ข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
  2. ข้อหาร่วมกันพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
  3. ข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
  4. ข้อหาร่วมกันซ่อนเร้นซึ่งซากสัตว์ป่าอันได้มาโดยกระทำความผิดกฎหมาย
  5. ข้อหาล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
  6. ข้อหาร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ
  7. ข้อหาร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ
  8. ข้อหาพยายามล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ

 

**หมายเหตุ สัญลักษณ์ 0 คือ ยกฟ้อง และ สัญลักษณ์ – คือ ไม่ได้สั่งฟ้องตั้งแต่แรก

จำเลยที่ 1 เปรมชัย กรรณสูต : รวมจำคุก 16 เดือน ยกฟ้อง1ข้อหา

ถูกลงโทษข้อหาร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน
ข้อหาล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กับข้อหาร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ (กรรมเดียวเป็นความผิดกฎหมายหลายบท) จำคุก 8 เดือน
ข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต กับ ข้อหาร่วมกันซ่อนเร้นซึ่งซากสัตว์ป่าอันได้มาโดยกระทำความผิดกฎหมาย (กรรมเดียวเป็นความผิดกฎหมายหลายบท) จำคุก 2 เดือน

จำเลยที่ 2 นายยงค์ โดดเครือ : รวมจำคุก 13 เดือน ยกฟ้อง3ข้อหา

ถูกลงโทษข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 เดือน
ข้อหาร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน
ข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต กับ ข้อหาร่วมกันซ่อนเร้นซึ่งซากสัตว์ป่าอันได้มาโดยกระทำความผิดกฎหมาย (กรรมเดียวเป็นความผิดกฎหมายหลายบท) จำคุก 8 เดือน จำคุก 2 เดือน

จำเลยที่ 3 นที เรียมเเสม : จำคุก 4 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปี ยกฟ้อง 3 ข้อหา

ถูกลงโทษข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต กับ ข้อหาร่วมกันซ่อนเร้นซึ่งซากสัตว์ป่าอันได้มาโดยกระทำความผิดกฎหมาย (กรรมเดียวเป็นความผิดกฎหมายหลายบท)

จำเลยที่ 4 นายธานี ทุมมาศ : รวมจำคุก 2 ปี 17 เดือน ( ไม่มีข้อหาใดยกฟ้อง)

ถูกลงโทษข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 เดือน
ข้อหาร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน
ข้อหาล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กับข้อหาร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ (กรรมเดียวเป็นความผิดกฎหมายหลายบท) จำคุก 1 ปี
ข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต กับ ข้อหาร่วมกันซ่อนเร้นซึ่งซากสัตว์ป่าอันได้มาโดยกระทำความผิดกฎหมาย (กรรมเดียวเป็นความผิดกฎหมายหลายบท) จำคุก 4 เดือน
ข้อหาพยายามล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ จำคุก 4 เดือน
ข้อหาร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ จำคุก 1 ปี

คดีแพ่ง

ค่าเสียหายให้จำเลยที่1 และ 4 ร่วมกันชำระค่าเสียหาย 2 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 4 ก.พ.2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 

โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ถอดความจากเวทีเสวนา“1 ปี คดีเสือดำ กับคำตัดสินที่รอคอย”

หากเปรียบเทียบความผิด ‘สนับสนุนการล่า’ กับ ‘ล่า’ ขณะนี้ศาลตัดสินชัดเจนว่าคุณธานีได้รับข้อหาล่า โทษจำคุก1ปี ส่วนคุณเปรมชัยข้อหาสนับสนุนการล่า โทษจำคุก 8 เดือน โทษของคุณเปรมชัยเบากว่าคุณธานี ทั้งๆ ที่เป็นหัวหน้าคณะร่วมกันเข้าไป คุณธานีกลายเป็นผู้ล่าหลัก ทั้งหมดขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน คำถามที่สงสัยในเวลานี้คือหลักฐานอะไรที่ทำให้ศาลตัดสินเช่นนี้ ซึ่งทั้งหมดต้องกลับไปดูคำพิพากษาฉบับเต็ม

โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวบนเวทีเสวนา“1 ปี คดีเสือดำ กับคำตัดสินที่รอคอย” ว่า คณะทำงานคดีนี้ดำเนินการยื่นฟ้องไปทั้งหมด 6 ข้อหา ในข้อหาร่วมกันกระทำความผิด ในมุมมองคณะทำงานที่ยื่นฟ้องไปอาจจะแบ่งแยกหน้าที่กันทำหรือกระทำความผิดร่วมกัน ส่วนการสนับสนุนนั้นคือการอำนวยความสะดวกให้ผู้อื่นไม่ว่าก่อนหรือหลังกระทำความผิด

คดีนี้ไม่มีประจักษ์พยานในพื้นที่ที่จะยืนยันว่าใครเป็นคนยิง ใครแบ่งหน้าที่อะไรกันอย่างไร เราก็รวบรวมพยานหลักฐานจากการสอบสวนที่พนักงานสอบสวนยื่นมา คดีนี้พนักงานอัยการมีการสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมเพื่อที่จะให้สำนวนสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนที่จะไปยื่นฟ้อง

กระบวนการยุติธรรมให้โอกาสทั้งสองฝั่ง ทั้งโจทก์และจำเลย เช่นฝ่ายคุณเปรมชัยเขามองว่าโทษหนักเกินไป ก็สามารถที่จะอุทธรณ์ขอให้ศาลลดโทษลงก็ได้ หรือฝ่ายโจทก์คือฝ่ายอัยการถ้ามองว่าศาลลงโทษน้อยไป หรือไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาที่บอกว่าเป็นผู้สนับสนุนอัยการก็สามารถจะอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลได้ อันนี้เป็นสิ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้ ก็เป็นหน้าที่ที่ต้องทำกันไป

ทุกวันนี้ระบบขึ้นศาลมันเป็นระบบกล่าวหา เมื่อกล่าวหาแล้วจะต้องสืบพยานหลักฐานให้ศาลมั่นใจว่ากระทำความผิดจริง ถ้ามีพยานหลักฐานใดที่ศาลสงสัย กฎหมายจะเขียนว่าต้องยกประโยชน์ความสงสัยให้กับจำเลย กระบวนการยุติธรรมก็ให้โอกาสที่จะต่อสู้ นำพยานหลักฐานต่าง ๆ ของจำเลยขึ้นต่อสู้ สองฝ่ายได้สืบพยานเพื่อต่อสู้คดีกันใหม่

โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักอัยการสูงสุด กล่าวถึงแนวทางหลังจากนี้ว่า ต้องกลับไปดูในรายละเอียดว่าศาลท่านรับฟังพยานหลักฐานของเปรมชัยซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องตัวเสือดำว่าอย่างไร ไก่ฟ้าหลังเท่าอย่างไร ถึงมาลงโทษเป็นสนับสนุน

 

 

แนวทางหลังคำพิพากษา

ทางด้านสำนักอัยการ กล่าวโดย โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด หลังจากนี้สำนักอัยการขอเวลาวิเคราะห์คำพิพากษาในรายละเอียดดูว่าจะยื่นอุธรณ์หรือไม่อย่าไร โดยการยื่นอุทธรณ์ในช่ระยะเวลา 30 วัน หลังจากฟังคำพิพากษา หากยื่นไม่ทัน สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ โดยเเจ้งเหตุเข้าไป ศาลก็จะสั่งใบคำร้องขยายคำพิพากษาให้กี่วัน ขยายกี่วันคือจำนวนวันเป็นวันกำหนดว่าจะอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่ศาลให้

ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยืนยันว่าขอเชียร์ฝ่ายหัวหน้าวิเชียร เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้เสือดำ เเละสร้างมาตรฐานการทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูกหลานต่อไป แต่ด้านคุณเปรมชัย เมื่อออกมาพูดคำว่าขอโทษนั้น ส่งผลต่อสังคมอยู่บ้าง การที่ศาลพิพากษาแล้วว่ามีความผิด แล้วจะสู้ต่อไปทำไม ควรแสดงสปิริตสำนึกยอมรับ แล้วเปลี่ยนฝ่ายมาทำดีได้หรือไม่ วันนี้มันเป็นโอกาสที่คุณจะได้ทำอะไรเพื่อให้เกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นในสังคมไทย ถ้าทำอย่างนี้สังคมจะได้ประโยชน์กว่า เป็นการสร้างสปิริต และมีผลต่อสังคม ต่อค่านิยมของการล่าสัตว์ป่า เพราะขนาดคุณเปรมชัยยังหยุด

วิเชียร ชินวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก กล่าวว่า จากผลการพิพากษายกฟ้องคดีเสือดำ นายวิเชียร ระบุว่ายังงงว่าทำไมผลคำพิพากษาออกมาในรูปแบบนี้ ขณะนี้ยังไม่ได้อ่านคำพิพากษาทั้งฉบับว่ามันเป็นอย่างไร “เรามีความเห็นต่างกับคำพิพากษา ทางกรมอุทยานฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องของความสงสัยของสังคม ได้มีการหารือเบื้องต้นกับทางอัยการ เราจะมีการอุทธรณ์ในข้อหาที่ยกฟ้องไป ส่วนจะเป็นข้อหาใดบ้างรอฟังผลว่าจะออกมาอย่างไร”

ทางด้านตัวแทนกลุ่มนักกิจกรรมเคลื่อนไหวคดีเสือดำ ธัชพงศ์ แกดำ ผู้ประสานงานกลุ่ม T’Challa พิทักษ์เสือดำ กล่าวว่าคดีนี้ต้องได้รับความกระจ่างอย่างชัดเจน แต่ผลคดีที่ออกมาผมคิดว่าสังคมไทยเราเคารพคำตัดสินของศาล แต่คำถามเขาหลุดจากการครอบครองซากเสือดำไปได้อย่างไร อันนี้ต้องมีคำตอบ กระบวนการยุติธรรมต้องมีคำตอบอธิบายเรื่องนี้ให้ชัด ถ้าวันนั้นคุณเปรมชัยไม่เข้าป่าไปเสือดำจะตายไหม ไก่ฟ้าหลังเทาจะตายหรือเปล่า เจตนามันชัดเจนอยู่แล้ว แต่วันนี้โทษระหว่างคุณเปรมชัยกับคนที่ยิงมันแตกต่างกัน ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นคนบงการ”

 

ชวนอ่านคำเสวนา“1 ปี คดีเสือดำ กับคำตัดสินที่รอคอย” จัดโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2562

ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด
วิเชียร ชินวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก
ธัชพงศ์ แกดำ ผู้ประสานงานกลุ่ม T’Challa พิทักษ์เสือดำ 

 


เรียบเรียงและภาพประกอบโดย เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร