โอกาสรอดของลูกพะยูนมาเรียม ในวันที่ไม่มีแม่

โอกาสรอดของลูกพะยูนมาเรียม ในวันที่ไม่มีแม่

ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาหลายคนคงจะทราบข่าวพะยูนมาเรียม ลูกพะยูนเพศเมีย อายุประมาณ 7 เดือน ที่ออกมาเกยตื้นหน้าหาด เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2562 ที่ จ.กระบี่ หลังจากเจ้าหน้าที่พยายามผลักดันกลับถึง 3 ครั้ง แต่พะยูนมาเรียมก็ยังว่ายกลับมาจุดเดิม 

ไม่เพียงแต่พะยูนมาเรียมเท่านั้น เพราะเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2562 ที่ผ่านมา พบลูกพะยูนอีกตัว เกยตื้นบริเวณชายหาดบ่อม่วง ต.ทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เป็นพะยูนเพศผู้ ความยาว 111 ซม. น้ำหนักประมาณ 25 กก.  อายุประมาณ 3 เดือน สภาพอ่อนแรง ตามตัวมีบาดแผลจำนวนมาก ขณะนี้อยู่ในความดูแลของทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ศวทม.) โดยพบว่าลูกพะยูนอาการแข็งแรงมากขึ้น

จากรายงานสัตว์ทะเลหายาก พ.ศ. 2560 สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่ง และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พบว่าปี 2559 พบพะยูนในประเทศไทย 221 ตัว มากสุดอยู่ที่ จ.ตรัง 154 ตัว โดยประชากรพะยูนจะอยู่ในบริเวณที่มีแหล่งหญ้าทะเลชุก

 

ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ศวทม.) ภาพ : หาญนเรศ หริพ่าย

 

การเกยตื้นของลูกพะยูนไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้

ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน  (ศวทม.) อธิบายถึงสาเหตุการเกยตื้นของลูกพะยูนให้ฟังว่า กรณีของพะยูนมาเรียมและลูกพะยูนตัวใหม่ ไม่สามารถระบุได้ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด เพราะโดยธรรมชาติแล้วลูกพะยูนจะอยู่กับแม่ประมาณ 15 เดือน ถึง 2 ปี โดยไม่แยกจากกัน เพราะลูกพะยูนต้องการนม การปกป้อง และการเรียนรู้ หากเจอลูกพะยูนตัวเดี่ยว ๆ ก็ต้องกลับไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับแม่พะยูน แม่พะยูนอาจจะเสียชีวิตหรือเหตุปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการแยกกัน

ภาพของลูกพะยูนมาเรียมที่ว่ายอยู่ใต้ท้องเรือ ดร.ก้องเกียรติ อธิบายว่า โดยปกติแล้วลูกพะยูนจะอยู่กับแม่พะยูน ลักษณะของใต้ท้องเรือ หรือที่หลายคนเรียกว่าแม่ส้ม มีลักษณะคล้ายใต้ท้องของพะยูน สิ่งนี้เป็นสิ่งทดแทนที่จะให้ความคุ้มครอง ให้ความอบอุ่น แก่ลูกพะยูน เวลาที่พะยูนมาเรียมนอน เขาจะเข้าไปซุกบริเวณขอนไม้ซุงในบริเวณนั้น เพราะทำให้เขารู้สึกไม่โดดเดี่ยวเกินไป แต่พฤติกรรมนี้ก็จะเป็นในช่วงที่เขาเป็นวัยเด็ก เมื่อเขาโตขึ้น แข็งแรง ออกหากินได้เอง เขาก็จะเริ่มแยกออกไปใช้ชีวิตตามลำพังได้

 

 

โอกาสรอดของพะยูนทั้ง 2 ตัว

ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยด้วยกัน ปัจจัยแรกคือความพร้อมทางด้านร่างกายของลูกพะยูน ปัจจัยต่อมาคือ ความสามารถในการเรียนรู้และปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ส่วนปัจจัยสุดท้ายนับเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากคือ เรื่องของภัยคุกคามที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ในบริเวณนั้น สถิติพะยูนที่เกยตื้นพบว่า 89 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากการติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ 10 เปอร์เซ็นต์เกิดจากการป่วย และอีก 1 เปอร์เซ็นต์เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ พื้นที่ตรงนั้นจะปลอดภัยได้ต้องปราศจากกิจกรรมจากเครื่องมือทางประมง และการสัญจรทางน้ำ

สำหรับข้อกังวลหลังจากที่ปล่อยลูกพะยูนไปตามธรรมชาตินั้น ต้องมีการวางมาตรการเพื่อให้บริเวณที่พะยูนชุกชุมมีความปลอดภัย และควบคุมในเรื่องของกิจกรรมทางทะเลร่วมด้วย ดร.ก้องเกียรติ อธิบายเรื่องนี้ว่า ขณะนี้คนในชุมชนลิบงได้ให้ความร่วมมือในการดูแลอย่างเต็มที่ เช่น งดกิจกรรมประมงในพื้นที่ที่จะเกิดอันตรายกับพะยูน ส่วนภาคท้องถิ่นและจังหวัดก็ช่วยในเรื่องของคมนาคมของทีมเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปในพื้นที่ 

ความท้าทายของเจ้าหน้าที่ในการดูแลลูกพะยูน

การทำงานอนุรักษ์เป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ ความท้าทายหนึ่งที่ทีมดูแลพะยูนมาเรียมต้องพบเจอนั่นก็คือความชุกชุมของสัตว์มีพิษทางทะเล เช่น แมงกะพรุน ปลากระเบน รวมไปถึงเรื่องของการเดินทางไปมา และสภาพอากาศในช่วงมรสุม 

“เราพบว่า 1 ใน 3 ของทีมเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บตั้งแต่บาดเจ็บเล็กน้อยไปจนถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล ส่วนใหญ่มาจากการโดนพิษเป็นหลัก เช่น แมงกะพรุน ปลากระเบน แล้วก็หอยบาด แนวทางป้องกันตอนนี้ก็จะใช้ชุดที่รัดกุมเป็นชุด wet suit ที่จะช่วยคลุมผิวหนังขณะลงน้ำ ซึ่งจะช่วยป้องกันแมงกะพรุนมีพิษได้ และมีการใช้รองเท้าที่ป้องกันจากปลากระเบน ถ้าเกิดกรณีนี้จะมีการประสานงานกับทางท้องถิ่นและจังหวัด ในการส่งตัวคนเจ็บโดยเร็ว”  ดร.ก้องเกียรติกล่าว

สำหรับพะยูนมาเรียมจะสามารถกลับบ้านได้ในอีก 11 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นการคาดการณ์เบื้องต้นของทีมที่ดูแลมาเรียม บวกกับเป็นช่วงวัยที่เขาเริ่มโตขึ้น

เมื่อเขาอายุมากขึ้น แข็งแรงมากขึ้น เขาจะเริ่มออกห่างไปเอง จนถึงวันหนึ่งเขาไม่มาหาเราแล้ว คือเขาก็อยู่ตามธรรมชาติของเขา ” ดร.ก้องเกียรติกล่าว

 

 


อ้างอิง : ดูแลใกล้ชิด พะยูนเกยตื้นที่กระบี่ เริ่มแข็งแรง ว่ายน้ำเองได้
“มาเรียม” ได้เพื่อนอีกตัว ลูกพะยูนเพศผู้ หลงฝูงเกยตื้นที่กระบี่
บทความ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง