ชะตากรรม ‘ฉลามวาฬ’ อนาคตสัตว์สงวนประเทศไทย

ชะตากรรม ‘ฉลามวาฬ’ อนาคตสัตว์สงวนประเทศไทย

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ในเฟซบุ๊กมีการแชร์คลิปจากเพจ จิตอาสา go-eco phuket

ในคลิปจะเห็นว่า มีเรือประมงประเภทอวนลาก ที่มีฉลามวาฬท้องแก่เกยอยู่บนกาบเรือ เหตุการณ์ในตอนนั้นเกิดขึ้นบริเวณทิศตะวันตกของเกาะราชา ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์คือนักดำน้ำที่อยู่บนเรือไดรฟ์ที่กำลังแล่นผ่าน และได้มีการขอร้องให้ลูกเรือบนเรือประมงปล่อยฉลามวาฬลง ซึ่งลูกเรือก็พยายามที่จะปล่อยฉลามวาฬลงสู่ท้องทะเล แต่ดูเหมือนจะช้าไป เพราะตัวฉลามวาฬได้แน่นิ่งและอาจตายไปแล้ว และในเวลาเดียวกันลูกที่อยู่ในท้องของฉลามวาฬก็เริ่มทะลักออกมา

หลังมีคลิปเหตุการณ์ดังกล่าว ในคืนนั้นมีเจ้าหน้าที่ตรวจหน้าท่าของศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก เรือประมง เขต 3 (ภูเก็ต) ได้เข้าตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าเรือดังกล่าวเป็นเรือประมงประเภทอวนลากชื่อเรือแสงอรุณ 3 ทะเบียนเรือ228304242 ใบอนุญาตประมงฯ 618301010283 (เรือปลา) ของนายนายสมชัย มีชอบ และเรือหู แสงอรุณ 2 มีนายรัตนา พรหมงาม เป็นผู้ควบคุมเรือ เจ้าของเรือ คือนาย วรรณ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อที่จะพิจารณาว่าเข้าข่ายความผิดใด หากพบกระทำความผิดชัดเจนก็จะแจ้งความดำเนินคดีต่อไป เนื่องจากฉลามเป็นสัตว์ห้ามทำการประมง และเป็นสัตว์คุ้มครองตามกฎหมาย (ประเภทปลา ลำดับที่ 6) รวมทั้งห้ามนำขึ้นบนเรือ

และในช่วงบ่ายวันที่ 20 พฤษภาคม 2560 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมมือกับผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน และผอ.สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ภูเก็ตร่วมลาดตระเวนหาฉลามวาฬหลังถูกเรือประมงจับ แต่หลังจากลาดตระเวนก็ยังไม่พบร่องรอยหรือซากฉลามวาฬ ซึ่งอาจสันนิษฐานได้ว่าฉลามวาฬอาจยังมีชีวิตรอดและว่ายลงไปใต้ทะเลลึก หรืออาจจะไปตายแล้วแต่ซากลอยออกไปไกลเกิน ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมาหลังจากทราบถึงเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ได้ตระเวนออกหาซากมาแล้วตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม แต่ก็ยังไม่มีวี่แววอะไร ถึงอย่างนั้น ทีมค้นหาจำเป็นจะต้องออกค้นหาอีก 2-3 วัน และถ้า 5 วันหลังจากนั้นยังไม่พบซาก ก็อาจเป็นไปได้ว่าฉลามวาฬยังมีชีวิตอยู่

 

ฉลามวาฬ อนาคตว่าที่สัตว์สงวนของไทย

ในวันที่ 26 ธันวาคมของทุกปี ถูกกำหนดไว้ให้เป็นวันคุ้มครองสัตว์ป่า เนื่องจากเป็นวันที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี ทรงลงนามในพระปรมาภิไธยประกาศใช้ “พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503” ซึ่งทำให้มีสัตว์ป่าสงวน 9 ชนิด ต่อมาในปีพ.ศ.2535 มีการแก้ไขกฎหมาย “พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535” ซึ่งทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงชนิดสัตว์ป่าสงวนได้โดยสะดวกโดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาแก้ไขหรือเพิ่มเติมเท่านั้น ส่งผลให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรายชื่อสัตว์ป่าสงวนขึ้นอีก จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 9 ชนิด เพิ่มขึ้นเป็น 15 ชนิด

และในปี พ.ศ. 2558 ได้มีการรณรงค์ให้เพิ่มสัตว์น้ำอีก 4 ชนิดเป็นสัตว์สงวน ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านมติคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแล้ว ในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2558 และกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศให้เป็นสัตว์สงวนอย่างเป็นทางการในอนาคต ซึ่งสัตว์น้ำทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง

แม้ฉลามวาฬจะสามารถพบได้ทั่วโลก โดยส่วนใหญ่ฉลามวาฬจะพบมากในทะเลเปิดเขตร้อน หรือ อบอุ่น เช่น มัลดีฟส์ หมู่เกาะกาลาปากอส อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ แต่สำหรับในไทย สามารถพบฉลามวาฬได้ทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดกระบี่ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดชุมพร และล่าสุดที่เกาะมันนอก จ.ระยอง แต่ก็ไม่ได้พบเห็นกันบ่อยมากนัก

ฉลามวาฬ (Whale Shark) เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มันเป็นปลากระดูกอ่อนเหมือนปลาฉลามชนิดอื่น มักอาศัยในทะเลที่น้ำมีอุณหภูมิ 18–30 องศาเซลเซียส ลำตัวของมันมีมีสีเทา มีลายจุดสีขาวและสีเหลืองอ่อนตามตัว ความยาวของวัยตัวโตเต็มวัยอยู่ที่ 5.5–10 เมตร แต่อาจยาวได้ถึง 12 เมตร และอาจหนักได้ถึง 20 ตัน ถึงแบบนั้นมันก็ยังกินแพลงก์ตอนเป็นอาหารด้วยวิธีการกรองกินเช่นเดียวกับวาฬบรูด้า

ฉลามวาฬใช้เหงือกในการหายใจ ต่างจากวาฬที่ใช้ปอด จึงไม่จำเป็นต้องโผล่มายังผิวน้ำเพื่อหายใจ ทำให้พบมันในทะเลลึก แต่มักอยู่ตามแนวปะการังในความลึกไม่เกิน 700 เมตร เหงือกของพวกมันมีช่องเหงือกห้าช่อง ซึ่งแต่ละตัวจะมีลักษณะจุดและลวดลายหลังจากเหงือกช่องที่ห้าแตกต่างกัน ทำให้สามารถจำแนกลักษณะเฉพาะตัวได้ พวกมันหนึ่งตัวอาจมีอายุยืนถึง 70 ปี แต่อายุมากกว่า 30 ปีแล้วก็มักจะไม่ผสมพันธุ์กับตัวอื่นอีก

ฉลามวาฬไม่เป็นภัยต่อมนุษย์เช่นเดียวกับวาฬบรูด้า แต่กำลังประสบปัญหาคุกคามจากมนุษย์ทั้งการลดจำนวนลงของแพลงก์ตอน และมลพิษกับอุบัติเหตุจากเรือยนต์เช่นเดียวกัน แต่ฉลามวาฬจะพบการคุกคามที่รุนแรงกว่า คือการล่าพวกมันเพื่อตัดครีบที่เรียกว่า “หูฉลาม”

 


บทความ ปทิตตา สรสิทธิ์ นักศึกษาฝึกงาน