ความเคลื่อนไหวคดีล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่ในรอบสัปดาห์ (5 – 11 มี.ค.)

ความเคลื่อนไหวคดีล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่ในรอบสัปดาห์ (5 – 11 มี.ค.)

ผ่านมากว่า 1 เดือน สำหรับเหตุการณ์ที่นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ถูกเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกจับขณะตั้งแคมป์อยู่ในพื้นที่ไม่อนุญาต พร้อมซากสัตว์ อาวุธ และเครื่องกระสุน

สาธารณชนยังคงให้ความสนใจและจับตาเรื่องนี้อย่างไม่ขาดสาย ยิ่งพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้รับผิดชอบคดี ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า คดีคืบหน้าไปมากกว่า 95% แล้ว ก็ยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้น

ว่าคดีจะไปสู่จุดสิ้นสุดที่ตรงไหน

สำหรับสัปดาห์แรกของวาระครบ 1 เดือน มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคดีหลายประเด็นที่น่าสนใจ

เริ่มต้นตั้งแต่วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้จัดเวทีสาธารณะ 1 เดือนความคืบหน้า คดีล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่ 61 พร้อมออกแถลงการณ์ทวงถามความคืบหน้าการดำเนินคดี

ใจความสำคัญของแถลงการณ์ มุ่งเน้นไปที่การติดตามสำนวนของพนักงานสอบสวนว่าจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร

โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเจตนา ‘ล่า’ และ ‘ฆ่า’ เพราะเป็นพฤติการณ์แห่งคดีที่ชัดเจน ปรากฏหลักฐานที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ในที่เกิดเหตุหลายชิ้น

ในเวทีวันแถลงการณ์ นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบฯ ประกาศว่า หากไม่มี 2 เรื่องนี้ในสำนวน มูลนิธิสืบฯ จะเคลื่อนไหวใหญ่เพื่อเรียกร้องให้เกิดความถูกต้องในการดำเนินคดีต่อไป

และในส่วนของแถลงการณ์ที่ออกมา ยังได้ส่งไปถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้บัญชาการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการ ตำรวจภูธร ภาค 7 อธิบดี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้อำนวยการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) กรมอุทยานฯ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาข้อแถลงการณ์ และนำไปดำเนินงานต่อ

นอกจากนี้ มูลนิธิสืบฯ ยังได้ทำหนังสือส่งถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เพื่อขอเข้าพบในวันที่ 16 มีนาคม และขอความมั่นใจว่าขั้นตอนในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด จะถูกดำเนินไปอย่างโปร่งใส และยุติธรรม

แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับแต่อย่างใด

และมูลนิธิสืบฯ ยังเตรียมจัดงานเสวนาเพื่อวิเคราะห์รูปคดี ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคมนี้อีกด้วย

ฟากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่นำหลักฐานจากที่เกิดเหตุ มาตรวจสอบดีเอ็นเอ ก็ได้ผลตรวจออกมาเป็นที่เรียบร้อย รวมถึงผลตรวจงาช้าง 4 กิ่งที่ตรวจยึดได้ที่บ้านของนายเปรมชัย ก็แล้วเสร็จเช่นกัน

วันที่ 7 มีนาคม นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แถลงข่าวผลตรวจดีเอ็นเอซากสัตว์ของกลาง มีรายละเอียดว่า

การตรวจซากเนื้อเสือดำในหม้อซุป กระดูกท่อนขา จำนวน 2 ชิ้นที่พบในที่เกิดเหตุซึ่งพบว่าเป็นเนื้อเสือดำ ส่วนที่อ้างว่าเป็นเนื้อเก้งผลพิสูจน์พบว่าเป็นเนื้อหมูป่า ชิ้นเนื้อที่อ้างว่าเป็นเนื้อไก่ฟ้าหลังเทาพบว่าเป็นไก่ฟ้าหลังขาว

การตรวจสอบคราบเลือดบนมีดอีโต้ หรือมีดทำครัว ยังอยู่ระหว่างสกัดดีเอ็นเอเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งโครโมโซมชี้ให้เห็นว่าเสือเป็นตัวเมีย

ส่วนของงาช้างนั้น ผลออกมาว่า เป็นงาช้างแอฟริกา ซึ่งไม่ตรงกับข้อมูลที่นางคณิตา วิทยานันท์ ภรรยาของนายเปรมชัย ได้จดแจ้งครอบครองไว้ (แจ้งไว้เป็นงาช้างเอเชีย)

เท่ากับว่านางคณิตาจะมีความผิดฐานครอบครองซากสัตว์คุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท

อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ มีความเป็นไปได้ว่านายเปรมชัยจะต้องรับโทษด้วย

เนื่องจากเป็นงาช้างที่พบในบ้านของนายเปรมชัย หมายความว่า นายเปรมชัยรู้เห็นถึงการมีอยู่ของงาช้างภายในบ้าน จะมีความผิดฐานร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535

ในส่วนของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าชุดพญาเสือ กรมอุทยานฯ ที่เข้าไปเก็บหลักฐาน วัตถุพยานต่างๆ จากที่เกิดเหตุ ยืนยันว่า ให้ทำเอกสารหลักฐานต่างๆ เสร็จแล้วเช่นกัน และได้ส่งมอบให้พล.ต.อ.ศรีวราห์แล้ว

นายชัยวัฒน์ มั่นใจว่าเป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำไปใช้ในสำนวนการส่งฟ้องนายเปรมชัย และพวกในชั้นอัยการได้อย่างครบถ้วน

ด้านของนายเปรมชัย เดิมทีนั้นต้องมาให้ปากคำเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวนสภ.อ.ทองผาภูมิในวันจันทร์ที่ 5 มีนาคม แต่เจ้าตัวพร้อมพวกอีก 3 คน ได้ไปรายงานตัวก่อนในวันที่ 2 มีนาคม หลังการสอบสวนแล้วเสร็จเป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ก็เดินทางกลับโดยปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ใดใดต่อสื่อมวลชน

นับเป็นครั้งแรกที่นายเปรมชัยเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน หลังจากที่ให้ทนายเลื่อนหมายนัดมาโดยตลอด

จนเมื่อวันเสาร์ที่ 10 มีนาคม นายเปรมชัย ได้ขอเดินทางไปยังประเทศบังคลาเทศโดยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว ซึ่งได้แจ้งหนังสือถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองไว้แล้ว

พล.ต.อ.ศรีวราห์ ให้ความเห็นต่อกรณีนี้เพียงสั้นๆ ว่า “เป็นสิทธิ์นายเปรมชัย สามารถทำได้ เพราะไม่อยู่ในเงื่อนไขการประกันตัวของศาล”

ซึ่งเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม สำนักข่าวหลายแห่งได้รายงานว่านายเปรมชัยได้เดินทางกลับถึงประเทศไทยตามเวลาที่ได้แจ้งไว้ คือ 17.30 น. ในเนื้อหาข่าวได้อ้างแหล่งข่าวจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และจากทนายของนายเปรมชัย

สำหรับการเดินทางไปต่างประเทศของนายเปรมชัย ไม่ได้ระบุว่าไปทำอะไร ทราบแต่เพียงมีผู้ร่วมเดินทางรวมนายเปรมชัยเป็นจำนวนทั้งหมด 4 คน ประกอบด้วย นายเปรมชัย กรรณสูต นายธรณิศ กรรณสูต (บุตรชายนายเปรมชัย) นายมงคล สุวคันธ์ และนายวิเชียร รุ่งรุจิรัตน์ แต่นายวิเชียรไม่ได้เดินทางกลับมาด้วย

และในวันที่ 14 มีนาคมนี้ นายเปรมชัยต้องไปพบหนักงานสอบสวนอีกครั้งเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มอีก 3 ข้อหา หากไม่มาตามนัดและไม่แจ้งเลื่อน ก็จะถูกออกหมายจับ

ที่เป็นประเด็นวิวาทะมากที่สุด คงไม่พ้นท่าทีของพล.ต.อ.ศรีวราห์ที่ถูกกระแสสังคมต่อต้านเป็นอย่างมาก

นับตั้งแต่กรณีที่ไม่สั่งฟ้องข้อหาทารุณกรรมสัตว์ มิหนำซ้ำยังสั่งภาคทัณฑ์พนักงานสอบสวนที่รับแจ้งคดี มาจนกรณีก้มรับไหว้นายเปรมชัยอย่างนอบน้อม

ล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความกังขาต่อสาธารณชนที่ติดตามคดีเป็นอย่างยิ่ง

จนถูกตั้งข้อสังเกตว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ ปกป้อง นายเปรมชัย อยู่หรือเปล่า ?

และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.อ.ศรีวราห์ ถูกสังคมโจมตีอีกครั้งหลังจากที่ปรากฏคลิปไล่นิติกรกรมอุทยานฯ ออกจากห้องสอบสวนที่กำลังจะสอบปากคำนายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรวรด้านตะวันตก ในกรณีที่นายเปรมชัยพยายามจะติดสินบน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม

และอีกครั้งจากกรณีการตรวจดีเอ็นเอเสือดำบนมีดทำครัว เขียง ของฝ่ายกรมนิติวิทยาศาสตร์ กรมอุทยานฯ ที่พล.ต.อ.ศรีวราห์ให้ความเห็นโดยอ้างอิงข้อมูลจากกองพิสูจน์หลักฐานว่า “มีการปนเปื้อนจากสารเคมีที่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ใช้ตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอเสือดำตั้งแต่ครั้งแรก ทำให้การตรวจดีเอ็นเอบุคคลบนมีดไม่ชัดเจน เพราะถูกทำลายไป”

ประเด็นดังกล่าว ดร.กณิตา อุ่ยถาวร หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ได้ออกมาโต้ว่า

“เขียงและมีดที่ยึดได้จากที่ตั้งแคมป์ของนายเปรมชัย กรรณสูต และพวกรวม 4 คน ยังสามารถตรวจสอบดีเอ็นเอของบุคคลได้อย่างแน่นอน เพราะระหว่างการตรวจสอบหาดีเอ็นเอสัตว์ ของหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ของกรมอุทยานฯ ไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี และเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าทุกคน ใส่ถุงมือระหว่างทำงาน จึงไม่มีลายนิ้วมือของเจ้าหน้าที่ไปปะปนอย่างแน่นอนเช่นกัน”

จากเหตุการณ์ต่างๆ ก่อให้เกิดกระแสการเรียกร้องให้เปลี่ยนตัวพล.ต.อ.ศรีวราห์ออกจากการทำคดีนี้

แต่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ได้ให้ความเห็นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ว่า “ขณะนี้ยังไม่เปลี่ยนชุดคณะทำงาน ยังคงให้พล.ต.อ.ศรีวราห์ เป็นหัวหน้าคณะทำงานอยู่”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการสรุปสำนวนส่งอัยการ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ยังคงยืนยันว่าสามารถส่งได้ทันวันที่ 24 มีนาคมนี้ โดยล่าสุดได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า คืบหน้าไปแล้ว 95%

ส่วนของนายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ซึ่งได้ให้ปากคำถึงกรณีที่นายเปรมชัยพยายามติดสินบนหลังถูกจับกุม

นายวิเชียรและเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในเหตุการณ์ทุกคนให้การตรงกันว่า นายเปรมชัย ต่อรองกับนายวิเชียร โดยพูดกับนายวิเชียรตรงๆ ว่า

“ถ้าปล่อยผมอยากได้อะไรจะหามาให้”

นอกจากการสอบปากคำแล้วยังได้จำลองเหตุการณ์จากที่จริงเพื่อพิสูจน์ว่า ใครอยู่ตรงไหน มีโอกาสได้ยืนบทสนทนานี้จริงหรือไม่

จากการจำลองเหตุการณ์ พบว่า ตำแหน่งที่ทุกคนอยู่ห่างกันไม่มาก และห้องนี้เงียบ มีแสงสว่างมากพอที่จะเห็นว่าใครพูด และพูดว่าอะไร

สำหรับเรื่องการติดสินบน ทางตำรวจจะนำเสนอต่อ พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผู้บังคับการกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในวันที่ 12 มีนาคมนี้ เพื่อพิจารณา และออกหมายเรียกนายเปรมชัย สอบสวนในข้อกล่าวหานี้ต่อไป

สุดท้าย การเรียกร้องความเป็นธรรมให้ ‘เสือดำ’ ของสาธารณชนผ่านงานศิลปะ

โดยเฉพาะงานกราฟฟิตี้บนกำแพงตามสถานที่สาธารณะ ที่นับวันจำนวนชิ้นงานจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

ปูมเหตุเริ่มมาตั้งแต่ผลงานภาพเสือดำและเครื่องหมายปิดเสียง (mute) ของศิลปินผู้ใช้เฟสบุ๊คนาม Headache Stencil ถูกลบ ก็เหมือนจะกลายเป็นการจุดไฟให้ลามท่วมทุ่ง

ศิลปินและไม่ศิลปินจำนวนมากตากตบเท้ากันออกไปวาดภาพเสือดำตามสถานที่ต่างๆ โดยมิได้นัดหมาย

ที่ฮือฮาไม่น้อย คือ เหตุการณ์ที่ศิลปินไม่ประสงค์ออกนามคนหนึ่งนำภาพเสือดำกำลังร้องไห้ 2 ตัว ไปตั้งที่ป้ายชื่ออาคารอิตัลไทย ทาวเวอร์ ถนนเพชรบุรี-ตัดใหม่ ที่ตั้งบริษัท อิตาเลียนไทย เมื่อวันที่ 8 มีนาคม

ในวันเดียวกัน กลุ่ม A CALL for Animal Rights Thailand ได้เพนท์ผนังอาคารแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ตรงข้ามกับที่ตั้งบริษัท อิตาเลียนไทย ซึ่งได้รับการอนุญาตจากเจ้าของสถานที่ ยินดีให้มีการทำกิจกรรมเพื่อแสดงออกถึงคดีนี้

ต่อการแสดงออกดังกล่าว นายจิรศักดิ์ เพ็งกุล ผู้อำนวยการเขตพระโขนง ได้ชี้แจงว่า การพ่นดังกล่าวมีความผิดตาม พรบ.การรักษาความสะอาด พ.ศ.2535 มาตรา 12 เรื่องการเขียนภาพบนกำแพง ริมถนนสาธารณะ มีโทษปรับไม่เกิน5,000 บาท ขณะนี้ทางสำนักงานเขตกำลังดำเนินการหาตัวผู้ก่อเหตุ เพื่อส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ แม้ว่ากำแพงดังกล่าวจะเป็นที่ของเอกชน แต่อยู่รอบถนนสาธารณะก็ถือว่ามีความผิด

อย่างไรก็ตาม การแสดงออกเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่สัตว์ป่าในคดีนี้นั้น ก็ยังคงดำเนินต่อไป และมีรูปแบบที่หลากหลาย

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม กลุ่มที’ชัลล่า ได้รวมตัวกันที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อทำกิจกรรม “ทวงถามความยุติธรรมให้เสือดำ” อีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้รวมตัวกันแสดงออกกันไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม

ทางกลุ่มระบุว่าจะจัดกิจกรรมเช่นนี้ทุกสัปดาห์ จนกว่าเสือดำจะได้รับความยุติธรรม

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นสรุปเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับคดีนายเปรมชัยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับเหตุการณ์ต่อจากนี้ จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เราจะนำมาสรุปให้ทราบกันในทุกๆ สัปดาห์

และขอสาธารณชนโปรดติดตามเรื่องนี้กันต่อไป

จนกว่าความยุติธรรมของคดีนี้จะปรากฏ

 


บทความ เอกวิทย์ เตระดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร