“เราถูกรังแกและถูกข่มขู่” นี่เป็นเสียงของผู้หญิงคนหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์บากา ซึ่งอาศัยอยู่แถบภูมิภาคลุ่มน้ำคองโกทางตอนกลางของแอฟริกา เธอกำลังเล่าเหตุการณ์ที่เธอกำลังเผชิญอยู่ต่อองค์กรสิทธิมนุษยชน
Survival International เป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่คอยเก็บข้อมูลประจักษ์พยาน และรวบรวมรายงานที่สำคัญเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนพื้นเมืองในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติหรืออุทยานแห่งชาติ มานานหลายปี
ในปีที่ผ่านมาหน่วยงานได้รับคำร้องเรียนจากกลุ่มชาติพันธุ์บากา ซึ่งอาศัยอยู่ในผืนป่า Messok Dja ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) เป็นจำนวนมาก และมันก็เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
พื้นที่ส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก กำลังจะได้รับการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เพราะถือได้ว่าเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยสำคัญของลิงขนาดใหญ่ และยังเป็นฐานที่มั่นแห่งสุดท้ายของช้างป่าในแอฟริกา – ในการปกป้องคุ้มครองพื้นที่ป่าแห่งนี้ยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากภาษีของคนในทวีปยุโรปและเยอรมัน
แต่ทว่าการอนุรักษ์ที่กำลังดำเนินอยู่นี้ กลับเป็นการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายอนุรักษ์กับชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม – ชาวบากาซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในป่า Messok Dja มาหลายชั่วอายุคน พวกเขารู้สึกเหมือนกำลังถูกคุกคาม
“ฉันคือบากา พ่อของฉันก็เป็นบากา แม่ของฉันก็เช่นกัน บรรพบุรุษของเราได้มอบป่านี้ให้กับเรา อาหารของพวกเรามาจากป่า เมื่อเราเจ็บป่วย ป่าก็ให้ยารักษาโรคกับเรา” หญิงชาวบากาคนหนึ่งเล่า เธอหวังว่าในวันหนึ่งลูกๆ ของเธอควรจะได้หาอาหารจากในป่า แต่ตอนนี้เธอกับคนอื่นๆ ในชุมชนกำลังถูกลิดรอนสิทธิอย่างน่าเศร้า
ตามข้อมูลที่ได้จาก Survival International ปัจจุบันมีกลุ่มชาติพันธุ์ในแอฟริกาจำนวนมากที่กลายเป็น ‘ผู้ถูกกระทำ’ เพราะเหตุผลของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร้ยางอาย
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา องค์กรสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่วีดีโอบันทึกคำให้การของเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มผู้พิทักษ์ป่า ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก แคเมอรูน และสาธารณรัฐอัฟริกากลาง ข้อกล่าวหามีตั้งแต่การถูกจับกุมตามอำเภอใจไปจนถึงการถูกเจ้าหน้าที่ทรมาน
Messok Dja เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเจ้าหน้าที่อนุรักษ์จะได้รับโบนัสพิเศษสำหรับการจับผู้ที่ลักลอบล่าสัตว์ได้ แต่การให้โบนัสก็กลับเป็นการกระตุ้นให้มีความพยายามจับกุมผู้คนให้ได้มากที่สุด โดยในบางครั้งไม่สนว่าผู้ถูกจับกุมเป็นคนที่กระทำความผิดจริงหรือเปล่า
“ระบบการจ่ายโบนัสพิเศษเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการจับกุมผู้คนโดยพลการและก่อให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น” Linda Poppe เจ้าหน้าที่ Survival International ประจำกรุงเบอร์ลินกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
Immo Fischer โฆษกของ WWF อธิบายถึงการให้โบนัสแก่เจ้าหน้าที่อนุรักษ์ว่า คนทำงานด้านนี้มีชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย เต็มไปด้วยความเสี่ยงและอันตราย พวกเขาจึงสมควรได้รับรางวัลเมื่อทำงานสำเร็จ
นอกจากนี้ Fischer ยังกล่าวอีกว่า การจ่ายโบนัสให้แก่เจ้าหน้าที่ คือ ส่วนหนึ่งในการป้องกันการทุจริต
“คุณลองคิดในมุมที่ว่าหากเจ้าหน้าที่จับผู้ลักลอบล่าสัตว์ได้พร้อมกับงาช้างสัก 2 ชิ้น ซึ่งหากเอาไปขายจะมีราคาที่สูงกว่าค่าตอบแทนทั้งปีของเจ้าหน้าที่เสียอีก กรณีเช่นนี้มันจะนำไปสู่อะไรได้บ้าง”
อย่างไรก็ตามในมุมนักสิทธิมนุษยชนอย่าง Linda Poppe เธอไม่ยอมรับในเหตุผลดังกล่าว เธอคิดว่า “เราต้องพึ่งพาคนพื้นเมืองในพื้นที่ให้เขามามีส่วนร่วมต่องานอนุรักษ์ แต่ตอนนี้ชุมชนมักถูกขับไล่ออกไปจากเรื่องราวตรงนี้ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ชุมชนคือพันธมิตรที่ดีที่สุดของนักอนุรักษ์”
ด้าน Immo Fischer กล่าวว่า โบนัสนั้นจะถูกจ่ายให้ก็ต่อเมื่อผู้กระทำความผิดถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงตามกระบวนการทางกฎหมายเท่านั้น หากไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนผู้ถูกจับกุมจะได้รับการปล่อยตัว และจะไม่มีการจ่ายโบนัส ดังนั้น โบนัสจึงไม่ใช่แรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่อยากจับคนผิดให้ได้มากที่สุดเพื่อมาขอรับโบนัสอย่างแน่นอน
อีกประเด็นหนึ่งที่มีการกล่าวถึงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่คุ้มครองของแอฟริกา คือ การสนับสนุนด้านการเงินจากเยอรมัน
Eva Schreiber พรรคฝ่ายซ้าย กล่าวเน้นย้ำว่าเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลเยอรมัน รวมถึงสถาบันและองค์กรสาธารณะต่างๆ
Schreiber ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า เธอมีความกังวลอย่างมากที่เงินภาษีของราษฎรที่ควรถูกจัดสรรเพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนากับชุมชน กลับถูกนำไปใช้ในการอนุรักษ์แบบที่ไม่เห็นความสำคัญของชุมชนท้องถิ่นเลยแม้แต่น้อย
“ความสนใจขององค์กรอนุรักษ์ที่เป็นพวกอนุรักษ์นิยมมักให้ความสำคัญกับพื้นที่อนุรักษ์เพียงมิติเดียวเท่านั้น และเป็นการทำงานในรูปแบบเผด็จการ มันทำให้ชุมชนในท้องถิ่นมีความรู้สึกว่าวิถีชีวิตของพวกเขากำลังถูกคุกคาม”
“การอนุรักษ์ธรรมชาติจะสามารถประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อคนในท้องถิ่นมีส่วนร่วม – รัฐบาลเยอรมันต้องไม่ลืมสิ่งนั้น” Schreiber กล่าว