ยามสายในวันเสาร์กลางเดือนมีนาคม ที่หอประชุมชุมชนบ้านเขาไม้นวน ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี สภาพอากาศกำลังดี มวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยยังตกค้างอยู่ นาทีนั้นเป็นเหมือนชั่วโมงต้องมนต์สำหรับการพักผ่อน เอกเขนกอยู่กับเรือน วางไว้ก่อนซึ่งภาระงานอันหนักหนาที่แบกหามกันมาตลอดสัปดาห์
แต่อารมณ์นั้นคงไม่ใช่กับคณะกรรมการป่าชุมชนของหลายหมู่บ้านในโซนตำบลป่าอ้อ ตำบลทองหลาง และตำบลระบำ ที่ยังประสบพบเจอปัญหาคาใจ และพยายามหาทางออกแก้ไขเรื่องราวการใช้ทรัพยากร และผลที่เกิดตามมาเมื่อมีสัตว์ป่าวนมาป้วนเปี้ยนแถวชุมชน
22 มีนาคม 2568 วันเสาร์นั้นจึงได้เกิดการรวมตัว (โดยนัดหมาย) ของคณะกรรมการป่าชุมชนกว่า 10 หมู่บ้าน ราว 50 กว่าคน จัดเวทีประชุมเพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาต่างที่ประสบพบ มีมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นคนกลางในการจัดเวที ร่วมด้วยหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อน.2 กรมป่าไม้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตลอดจนเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ในพื้นที่เข้าร่วมประชุมหาทางออกร่วมกัน
“เราไม่ค่อยได้เจอกันแบบนี้มานานแล้วเนอะ” อุดม กลับสว่าง เจ้าหน้าที่โครงการธรรมชาติปลอดภัย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เริ่มต้นเปิดประชุมอย่างง่ายๆ แบบไม่เป็นทางการ ที่ภายหลังเขาเฉลยว่า ไม่อยากให้เวทีประชุมจริงจังมากเกินไป เพราะคณะกรรมการป่าชุมชนที่มาร่วมต่างคนต่างมีหน้าที่การงานของตัวเองกันอยู่แล้ว ทุกคนมีปัญหาที่ต้องแก้ในการจัดการป่าชุมชนของตัวเอง หากเวทีจริงจังมากไป ก็อาจเพิ่มแรงกดดันในการทำงาน วันเสาร์ก็เป็นวันพักผ่อนของเขา เขาสละเวลาส่วนตัวมา จึงอยากให้คุยกันแบบง่ายๆ เป็นกันเอง ให้เกิดความผ่อนคลาย เหมือนเพื่อนมาปรับทุกข์ปรับความเข้าใจกันมากกว่า
อุดม เปิดเวทีด้วยประเด็นที่ว่า ตอนนี้ในพื้นที่ตำบลป่าอ้อ ตำบลทองหลาง และตำบลระบำ มีงานสถานการณ์ในพื้นที่ที่ต้องมามองการจัดการร่วมกัน คือ การเก็บหาทรัพยากรจากป่า ทั้งจากป่าชุมชน หรือพื้นที่ขอบป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กับเรื่องสัตว์ป่าเขามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำกินของชุมชน
“เรื่องการเก็บหาของป่า เมื่อก่อนเรามีการทำกติการ่วมกันว่าจะเก็บอย่างไร ที่ไม่เป็นการรบกวนป่า สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน แต่เราก็ร้างราเรื่องนี้ไปนาน ไม่ค่อยได้มาทบทวนกติกากัน หลังจากนี้ เราคงต้องมาคุยเรื่องนี้กันใหม่หรืออาจต้องสร้างกติกาขึ้นใหม่ ให้เกิดความเข้าใจตรงกันทุกภาคส่วน และตอนนี้มีสัตว์ป่าออกมาหากินเยอะขึ้น เราจะเก็บหาอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย”
“ส่วนเรื่องที่สอง เป็นเรื่องที่สัตว์ป่าเขามาหากินในแถวๆ ชุมชนของเรา โดยเฉพาะช้างป่า วันนี้ผมเลยเชิญทางเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มาร่วมพูดคุยให้ความรู้เกี่ยวกับการสังเกตช้างป่าด้วย ให้เป็นความรู้เบื้องต้น เพื่อป้องกันอันตราย หลบหลีกได้ทันนะ”
“ส่วนเรื่องผลกระทบอื่นๆ เดี๋ยวเราจะมีเวทีพูดคุยกันอย่างนี้ต่อเนื่องเป็นประจำ หรือจะโทรมาคุยกันหรือไปหาผมที่บ้านก็ได้ ผมพักอยู่ตรงบ้านไร่ที่เดิม”
“และผมมีข่าวดี อย่างหนึ่ง ในปีนี้มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีงบประมาณด้านการสนับสนุนเสบียงให้กับเครือข่ายผลักดันช้างป่าด้วย แต่บอกตามตรงว่ามันไม่เยอะมาก แต่จะมีมาสนับสนุนให้ทุกเดือนกับทุกเครือข่าย เป็นเหมือนกำลังใจเล็กๆ น้อยๆ ให้กับพี่น้อง ที่ทำงานเหนื่อนแทนพวกเราทุกคน”
ในเวทีประชุมของวันเดือนร้อนที่ไม่ร้อนนัก นอกจากกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการสังเกตพฤติกรรมของช้างแล้ว หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อน.2 กรมป่าไม้ เป็นอีกทีมที่ได้ก้าวขึ้นเวทีบอกเล่าเรื่องราวการทำงาน รายงานผลการลาดตระเวนประจำเดือน สิ่งที่ประสบพบเจอระหว่างการทำงาน ซึ่งบางพิกัดเป็นการเดินร่วมกับคณะกรรมการป่าชุมชนในพื้นที่รอยต่อระหว่างป่าชุมชนกับป่าสงวนแห่งชาติ
เจ้าหน้าที่โครงการธรรมชาติปลอดภัยขยายความว่าเพื่อให้คณะกรรมการป่าชุมชนได้เห็นถึงสภาพพื้นที่ของตัวเองและทบทวนรายละเอียดเรื่องราวป่าชุมชนที่ตัวเองดูแล โดยมีหน่วยป้องกันรักษาป่าของกรมป่าไม้เป็นผู้เก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบว่าพบเจออะไรบ้าง รวมถึงหากชุมชนมีประเด็นข้อสงสัยอะไรเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชน กรมป่าไม้ที่เป็นผู้ดูแลก็จะได้ตอบข้อซักถามได้ทันที โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย
เป็นโชคดีว่าพื้นที่ป่าสงวนและป่าชุมชนของจังหวัดอุทัยธานี เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไม่พบเจอภัยคุกคามอะไรมากนัก เหตุใหญ่ๆ มีเพียงการจับกุมผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งที่เข้ามาในพื้นที่ป่าสงวนพร้อมยาเสพติด มีเหตุปะทะให้เจ้าหน้าที่รายหนึ่งตาเขียวช้ำอยู่หลายวัน และได้กำชับกับชุมชนว่าให้ช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบคนแปลกหน้าต่างถิ่นเข้ามาป้วนเปี้ยนก็อยากให้รายงาน เพราะเราไม่รู้ว่าเขามาทำอะไร ไม่แน่อาจมีส่วนเชื่อมโยงกับการลักลอบล่าสัตว์ตัดไม้ จึงต้องเฝ้าระวังไว้ก่อน
หลังผ่านช่วงการให้ความรู้และการรายงานสถานการณ์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและหน่วยป้องกันรักษาป่าแล้ว ก็มาถึงเวทีปรับทุกข์ชุมชน คณะกรรมการป่าชุมชนมีประเด็นใดอยากหารือ ก็ขึ้นมากล่าวสาธยายกันไปอย่างไม่ต้องกั๊ก
เรื่องไหนให้ความเห็นได้ก็จะตอบ แต่บางเรื่องที่อ้างอิงกฎหมายเชิงลึกก็ขอละไว้เป็นการบ้าน กลับไปศึกษาข้อมูลที่ถูกต้องกลับมาพูดคุยในคราวต่อไป
โดยส่วนใหญ่ เสียงสะท้อนในวันดังกล่าวก็เป็นไปตามประเด็นที่ถูกเปิดวงสนทนาไว้ตั้งแต่ต้น อย่างเรื่องปัญหาสัตว์ป่าเข้ามาหากินในพื้นที่ชุมชน ที่นอกจากช้างป่าแล้ว ยังมีกวางป่ากับวัวแดงออกมาหากินนอกป่าด้วย ทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย กระทบต่อรายได้ครัวเรือน รวมถึงความปลอดภัยของผู้คน
ต่อปัญหานี้ นอกจากการให้ความรู้เรื่องการเฝ้าระวังสัตว์ป่าไปแล้ว รวมถึงงานเฝ้าระวังที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้ตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังผลักดันช้างป่าและสัตว์ป่าที่ออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ที่ดำเนินการอยู่แล้วนั้น และการสนับสนุนเสบียงกับอุปกรณ์ผลักดันโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อุดมยังคลายความกังวลให้วงประชุมเพิ่มเติมว่า แผนงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรปีนี้มีเรื่องงานผลักดันกระจายอำนาจกับท้องถิ่นในประเด็นการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่าอยู่ด้วย และกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งไม่นานเกินรอคงมีความคืบหน้ามารายงานให้ทราบโดยทั่วกัน
ส่วนเรื่องการทบทวนกติกาการเก็บหาของป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจะลงพื้นที่พูดคุยกับชุมชนแต่ละแห่งอีกครั้ง (ในวันประชุมด้วยเวลาที่จำกัดจึงไม่อำนวยต่อการลงรายละเอียด) เพื่อรวบรวมข้อเสนอ และอาจออกเป็นประกาศตำบลหรืออำเภอ เพื่อให้ทราบกันอย่างทั่วถึง เพราะปัญหาการใช้ประโยชน์จากป่าโดยมากไม่ได้เกิดจากพี่น้องชุมชนที่นั่งอยู่ในที่นี่ แต่มาจากคนต่างถิ่นที่เข้ามาตักตวงผลประโยชน์ การมีประกาศระดับพื้นที่อาจช่วยแบ่งเบาภาระงานดูแลส่วนนี้ได้
นอกเหนือจากนั้น มีเสียงสะท้อนถึงเรื่องแผนการจัดการป่าชุมชนที่กำลังจะหมดอายุตามกฎหมาย จำเป็นต้องเสนอแผนใหม่ รวมถึงเสนอชื่อคณะกรรมการป่าชุมชนชุดใหม่ และเรื่องที่เกี่ยวเนื่องอย่างการทบทวนพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ที่ต้องมาพิจารณาแผนการจัดการป่าชุมชนใหม่ให้เกี่ยวเนื่องกับพระราชบัญญัติเพื่อรักษาผลประโยชน์การใช้ป่าชุมชนอย่างเหมาะสมและยั่งยืน
เวทีประชุมที่ผ่านพ้นไปนั้นเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘ครอบครัวห้วยขาแข้ง’ หรือการจัดการพื้นที่ป่ากันชนมรดกโลก เรื่องราวที่เกิดขึ้นในตำบลป่าอ้อ ตำบลทองหลาง และตำบลระบำ ถูกวางเป้าหมายไว้เพื่อให้เกิดการจัดการประตูสู่ห้วยขาแข้ง ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรสัตว์ป่าและทรัพยากรอื่นๆ และการสร้างความร่วมมือในการจัดการทรัพยากรสัตว์ป่าและทรัพยากรอื่นๆ
เป็นไปตามที่ ภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เคยอธิบายว่า การจะรักษาป่าห้วยขาแข้งไว้ได้ จำเป็นต้องรักษาผืนป่าโดยรอบ รวมถึงทำงานกับชุมชน และหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณรอบๆ ด้วย เพราะในวันนี้การดูแลผืนป่าอนุรักษ์จะมองแค่พื้นที่อนุรักษ์อย่างเดียวคงไม่เพียงพออีกแล้ว จึงต้องขยายการทำงานออกมาในรูปแบบของครอบครัวที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
และเวทีนี้เป็นเพียงกิจกรรมแรกของงานบูรณาการการทำงานร่วมในพื้นที่ ที่ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดทั้งปี พ.ศ. 2568 นี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จะมีเวทีประชุมเช่นนี้ในพื้นที่อื่นๆ อีกหลายคราวหลายหน เฉพาะในพื้นที่ตำบลป่าอ้อ ตำบลทองหลาง และตำบลระบำ ตลอดทั้งปีวางไว้ 6 เวที นี่เป็นเพียงเวทีแรก ก่อนจะจัดต่อไปและยกระดับความเข้มข้นของเรื่องราวและเนื้อหาสาระมากขึ้นไปอีก เพื่อให้เกิดต้นแบบการจัดการพื้นที่อย่างชัดเจน
หรือหากมองไปในเรื่อง ‘เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน’ ก็เป็นเรื่องการสร้างหลักประกันว่าจะมีการระดมทรัพยากรอย่างมีนัยสำคัญจากแหล่งที่หลากหลาย รวมไปถึงการยกระดับความร่วมมือเพื่อการพัฒนา เพื่อที่จะจัดให้มีแนวทางที่เพียงพอ
รวมไปถึงเรื่องการสร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคน (การสังเกตพฤติกรรมสัตว์ป่า) ได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน
รวมไปถึงเรื่องการสร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขาและความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศเหล่านั้น เพื่อจะเพิ่มพูนขีดความสามารถของระบบนิเวศเหล่านั้นที่จะให้ผลประโยชน์อันสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
และการสร้างหลักประกันว่าจะมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม และส่งเสริมการเข้าถึงทรัพยากรเหล่านั้นอย่างเหมาะสม
เหล่านี้คือภารกิจงาน ‘ครอบครัวห้วยขาแข้ง’
หมายเหตุ : กิจกรรมนี้เป็นแผนงานเวทีประชุมเครือข่ายและให้ความรู้เรื่องการจัดการทรัพยากร ครั้งที่ 1 อบรมการบูรณาการการทำงานร่วมในพื้นที่ จากทั้งหมด 6 ครั้ง ได้รับงบประมาณการสนับสนุนจากโครงการธรรมชาติปลอดภัย
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม