แต่ไหนแต่ไร เมื่อพูดถึง ‘ห้วยขาแข้ง’ สิ่งแรกๆ ที่นึกได้ทั่วไป คงไม่พ้นเรื่องราวของพื้นที่อนุรักษ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ผืนป่ามรดกโลกที่สานรวมเป็นเนื้อเดียวกันกับทุ่งใหญ่นเรศวร เรื่องราวของระบบนิเวศ ผืนป่าหลากชนิด และสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ที่ได้อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้อย่างสุขีสุขัง
บ้างอาจคิดต่อถึงความเป็นตำนานนักอนุรักษ์อย่าง ‘สืบ นาคะเสถียร’ ชายผู้จบชีวิตตัวเองเพื่อปลุกกระแสสังคมให้หันมาสนใจสิ่งที่เคยถูกหมางเมิน หรืออนุสรณ์สถานและรูปปั้นของผู้ปกปักษ์รักษาด้วยกายวาจาใจ สถานที่อันเสมือนเป็นห้องรับแขก การเรียนรู้เรื่องราว และจุดประกายความเป็นนักอนุรักษ์
หรือหากมองในมุมของผู้คน เรื่องราวการทำงานพิทักษ์รักษาป่า ชวนนึกถึงต้นแบบการจัดการต่างๆ อย่างสถานที่ริเริ่มงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ มีสถานีวิจัยสัตว์ป่า สร้างฐานข้อมูลจนที่ยอมรับในเวทีโลก และเปรียบเสมือนโรงเรียนประสิทธิ์ประสาทวิชาอย่างสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ
นอกจากนั้นแล้ว ความเป็นห้วยขาแข้ง อาจสามารถขยายไปถึงเรื่องราวการจัดการ การทำงานอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชน องค์กรเอ็นจีโอ และหน่วยงานภาครัฐที่ตั้งรายล้อมอยู่รอบๆ ต่างก็สำคัญไม่แพ้กัน ยิ่งเฉพาะกับภาคประชาชนที่ถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับผืนป่าโดยตรงด้วยแล้ว ที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นการมีส่วนร่วมจากส่วนนี้อยู่เป็นระยะๆ โดยมีมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมสร้างกระบวนการ และออกแบบแผนการจัดการ
มีตัวอย่างงานรูปธรรม เช่น การร่วมมือกับชุมชนให้จัดตั้งเป็นป่าชุมชน มีโครงการร่วมกับกรมป่าไม้เพื่อลดการพึ่งพิงป่าใหญ่ มีการจัดตั้งและประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอย่างสม่ำเสมอ มีโครงการกิจกรรมอนุรักษ์เพื่อลดปัญหาต่างๆ ที่คุกคามอย่างต่อเนื่องมานับทศวรรษ
ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องแปลกแปลกอะไร หากเราจะรวม ‘ภาคประชาชน’ ไว้เป็นส่วนหนึ่งของคำว่า ‘ห้วยขาแข้ง’ หรือที่ในวันนี้กำลังเกิดการยกระดับการทำงานอย่างมีส่วนร่วม (อีกครั้ง) เพื่อสร้างต้นแบบการจัดการพื้นที่ป่ากันชนที่เรียกว่า ‘ครอบครัวห้วยขาแข้ง’


ครอบครัวห้วยขาแข้ง คืออะไร คำนี้ ภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อธิบายว่า ครอบครัวห้วยขาแข้ง คือการจัดการองค์ประกอบของบ้านให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยเปรียบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นบ้านหนึ่งหลัง แต่ความสมบูรณ์ของบ้านจำเป็นต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ ผสม ไม่ใช่มีเพียงบ้านหลังเดียวตั้งอยู่โดดๆ อาจต้องมีสนามหญ้า มีรั้วล้อม ซึ่งในที่นี้เปรียบได้กับชุมชนและผืนป่าที่รายล้อมอยู่รอบๆ ป่าห้วยขาแข้ง หรือเรียกรวมๆ ว่าพื้นที่กันชนนั่นเอง
“ผมคิดว่าการจะรักษาป่าห้วยขาแข้งไว้ได้ จำเป็นต้องรักษาผืนป่าโดยรอบ รวมถึงทำงานกับชุมชน และหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณรอบๆ ด้วย เพราะในวันนี้การดูแลผืนป่าอนุรักษ์จะมองแค่พื้นที่อนุรักษ์อย่างเดียวคงไม่เพียงพออีกแล้ว จึงต้องขยายการทำงานออกมาในรูปแบบของครอบครัวที่มีขนาดใหญ่ขึ้น” ภาณุเดชกล่าว
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อธิบายต่อว่า ในองค์ประกอบของพื้นที่กันชนนั้นเต็มไปด้วยผู้คนและหน่วยงานที่หลากหลาย มีรูปแบบการจัดการ และสภาพปัญหาในพื้นที่แตกต่างกันไป แต่หากสามารถนำเอากลุ่มคนต่างๆ มาทำงานร่วมกัน ช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกันได้ ก็จะยกระดับงานอนุรักษ์ในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น และจะส่งผลดีต่อการดูแลป่าห้วยขาแข้งเพิ่มขึ้นด้วย
“ในช่วงแรกของงานทำงาน (ปลายปีที่ผ่านมา) เป้าหมายของเราคือการไปเรียนรู้ในพื้นที่ต่างๆ ชุมชนไหนมีบริบทแวดล้อมอะไร ประสบปัญหาเรื่องการจัดการทรัพยากรอย่างไร มีหน่วยงานใดเข้ามาเกี่ยวข้องกับพื้นที่บ้าง จนได้ข้อมูลออกมา และขั้นตอนถัดไปคือการออกแบบแผนการจัดการเบื้องต้น ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้นำมากำหนดเป็นทิศทางกิจกรรมของปีนี้” ภาณุเดช เล่าและบอกต่อว่า
“ทิศทางการทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในปี พ.ศ. 2568 เราจะทำงานกับทุกหน่วยงานและทุกชุมชนที่มีความเกี่ยวข้องกับป่าห้วยขาแข้งทั้งหมด เพราะทุกๆ ชุมชนและทุกๆ หน่วยงาน ล้วนเป็นครอบครัวเดียวกัน”
ตัวอย่างข้อมูลที่ได้จากการเข้าไปศึกษาชุมชนตามที่ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเล่า เช่น ข้อมูลป่าชุมชน สถานภาพพื้นที่ สถานการณ์หรือภัยคุกคามบริเวณแนวกันชน ปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ ตัวอย่างการทำงานหรือกลุ่มอาชีพที่เป็นมิตรกับผืนป่า ตลอดจนหน่วยงานและกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ได้นำมาสู่การออกแบบแผนการทำงาน


เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและอธิบายงานแก่ชุมชน
โดยในปี พ.ศ. 2568 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้แบ่งรูปแบบการจัดการแนวกันชนป่าห้วยขาแข้ง หรือ ‘ครอบครัวห้วยขาแข้ง’ ผ่านมุมมองของแนวเขตพื้นที่และกลุ่มปัญหาที่พบเจอ สามารถแบ่งออกมาเป็น 5 โซนพื้นที่ และวางแผนการดำเนินงานไว้ดังนี้
โซน 1 : บ้านสวนป่า บ้านปางสัก บ้านแม่กะสี บ้านคลองห้วยหวาย บ้านเขาแหลม บ้านเขามะตูม ตำบลแม่เปิด อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์
เป้าหมายพื้นที่ : การจัดการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยใหม่ของสัตว์ป่า
พื้นที่ทั้ง 6 ชุมชนในตำบลแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ เป็นโซนพื้นที่ที่มีการใช้ทรัพยากรจากป่าชุมชน และบางส่วนของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งพบการกระจายตัวของสัตว์ป่าออกมาหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์สู่ป่าชุมชนและพื้นที่ทำกินของชุมชน อาทิ ช้างป่า ลิง วัวแดง และหมูป่า แม้ว่าพื้นที่บางส่วนจะมีรั้วกันสัตว์ใหญ่อย่างช้างป่า แต่ก็ชำรุดทรุดโทรม ส่วนงานด้านเฝ้าระวังสัตว์ป่าออกมาหากินในเขตชุมชนยังถูกจัดการไม่ทั่วถึงครบทุกชุมชน ขณะที่ชุมชนบางแห่งมีพื้นที่ทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติ
แผนงานที่เกี่ยวข้อง : ดำเนินการเรื่องกระจายอำนาจกับท้องถิ่นในประเด็นการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่าและการจัดการไฟป่า การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลสัตว์ป่า ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยป้องกันรักษาป่าที่นว.1 แม่กะสี
โซน 2 : บ้านเขาเขียว บ้านไผ่งาม บ้านบึงเจริญ บ้านอ่างห้วยดง บ้านโป่งมะค่า ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี
เป้าหมายพื้นที่ : การจัดการประตูสู่ห้วยขาแข้ง ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรสัตว์ป่าและทรัพยากรอื่นๆ
ชุมชนในพื้นที่ตำบลระบำ ถือว่าเป็นชุมชนที่มีพื้นที่ใกล้กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรสัตว์ป่า ชาวบ้านบางส่วนประกอบอาชีพเกษตรกรรมและใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน ปัญหาหลักของพื้นที่โซนนี้ คือการเผชิญกับสัตว์ป่าออกมาหากิน ทำลายพืชผล เช่น ช้าง วัวแดง เสือโคร่ง แต่ชุมชนมีการตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังและปรับเปลี่ยนอาชีพ เช่น การปลูกพืชสมุนไพรอินทรีย์เพื่อลดผลกระทบความเสียหายจากสัตว์ป่า รวมถึงพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อเป็นประตูสู่การรักษาป่าห้วยขาแข้ง
แผนงานที่เกี่ยวข้อง : การจัดการสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่โดยการสนับสนุนองค์ความรู้ อุปกรณ์ งบประมาณ การบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน และพื้นที่กันชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง การจัดทำฐานข้อมูลปศุสัตว์ การสำรวจและสนับสนุนกิจกรรมลาดตระเวน การทำงานร่วมกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วทับเสลา-ห้วยระบำ การจัดทำข้อมูลศักยภาพพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกพื้นที่คุ้มครอง หรือ Other Effective Conservation Measures (OECMs)


โซน 3 : บ้านเขาไม้นวล บ้านโป่งสามสิบ บ้านคีรีวง บ้านทรัพย์สมบูรณ์ ตำบลระบำ บ้านซับป่าพลูใหม่ บ้านเขาไม้นวน บ้านคลองชะนีบน ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก บ้านอีซ่า บ้านห้วยร่วม บ้านคลองเคียน บ้านไซเบอร์ ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต
เป้าหมายพื้นที่ : การสร้างความร่วมมือในการจัดการทรัพยากรสัตว์ป่าและทรัพยากรอื่นๆ
ชุมชนในพื้นที่โซน 3 ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม เช่น ปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง และทุเรียน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ดินส.ป.ก. และคทช. ชุมชนมีป่าชุมชนของตัวเอง แต่เนื่องจากป่าชุมชนมีขนาดเล็ก ชาวบ้านจึงต้องเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่แนวลวดหนามของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (พื้นที่เตรียมผนวก) ซึ่งเคยมีการตกลงการใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่มีปัญหาในด้านการควบคุมเนื่องจากมีชาวบ้านต่างถิ่นเข้ามาใช้ประโยชน์โดยไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติดังกล่าว นอกจากนี้ในพื้นที่มีการจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังสัตว์ป่าที่ออกมาทำลายพืชผล โดยได้รับการสนับสนุนจาดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อสร้างความร่วมมือในการจัดการสัตว์ป่าและทรัพยากรในพื้นที่อย่างยั่งยืน
แผนงานที่เกี่ยวข้อง : เวทีเครือข่ายให้ความรู้เรื่องการจัดการทรัพยากร สนับสนุนงานลาดตระเวนร่วมดูแลป้องกันทรัพยากรในพื้นที่ป่าชุมชน และสนับสนุนเสบียงเครือข่ายผลักดันสัตว์ป่า งานประสานหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อขอความร่วมมือให้ท้องถิ่นควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าชุมชน
โซน 4 : บ้านกระแหน่ บ้านดง บ้านน้อย บ้านเจดีย์ บ้านนำพุ บ้านปางสวรรค์ ตำบลคอกควาย บ้านใหม่ร่มเย็น ตำบลเจ้าวัด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
เป้าหมายพื้นที่ : การจัดการททรัพยากรโดยชุมชน ในพื้นที่ป่าชุมชน และพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชน เพื่ออนุรักษ์ไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศ และสงวนพื้นที่ให้คงสภาพเดิม
พื้นที่ในตำบลคอกควายมีทรัพยากรที่โดดเด่นและเหมาะแก่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น น้ำตกผาสวรรค์ และอ่างเก็บน้ำท่ากวย ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา ทุเรียน พื้นที่มีสถานภาพหลายหลาก ทั้งเป็นพื้นที่คทช. ส.ป.ก. น.ส.3 โฉนดที่ดินและพื้นที่ทหาร ป่าชุมชนมีการดูแลโดยคณะกรรมการร่วม แต่ยังขาดการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่อย่างเป็นระเบียบ ทำให้ยังมีการเข้าไปเก็บหาทรัพยากรในพื้นที่เตรียมผนวกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แม้มีการกำหนดช่วงเวลาการใช้ประโยชน์แต่ก็ยังประสบปัญหาด้านการสื่อสารที่ชัดเจน ขณะเดียวกันชุมชนยังประสบปัญหามีสัตว์ป่าออกมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชน แม้จะมีการจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังสัตว์ป่า แต่ก้ยังไม่ได้ดำเนินการครบถ้วนทุกหมู่บ้าน
แผนงานที่เกี่ยวเนื่อง : การประชุมทำความเข้าใจการดูแลรักษาทรัพยากร 7 ชุมชน เดือนละ 1 ครั้ง งานลาดตระเวนร่วมในพื้นที่ป่าชุมชนและพื้นที่ใช้ประโยชน์ในแนวรั้วร่วมกับหน่วยป้องกันรักษาป่า อน.3 และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง การประชุมสร้างความร่วมมือการจัดการพื้นที่ร่วมกับทหารในพื้นที่ทหาร
โซน 5 : บ้านอีมาดอีทราย บ้านใหม่คลองอังวะ บ้านใต้ บ้านคลองเสลา อำเภอบ้านไร่
เป้าหมายพื้นที่ : การรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำ
พื้นที่ส่วนนี้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ชาวบ้านปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด และทำเกษตรกรรมแบบสวนผสม เช่น ส้มโอ อะโวคาโด สตรอว์เบอร์รี โดยมีป่ามอตาจ่อยที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำของลำห้วยแม่ดีน้อย ไหลเข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และไหลลงสู่เขื่อนศรีนครินทร์ บางชุมชนมีป่าชุมชนและคณะกรรมการป่าชุมชนดูแลแต่ยังขาดความต่อเนื่องในหารบริหารจัดการพื้นที่ ตลอดจนมีการใช้ทรัพยากร อาทิ การเก็บเห็ด ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แม้เคยมีข้อตกลงการใช้ทรัพยากรร่วมกัน แต่ยังขาดเครื่องมือการควบคุมที่ชัดเจน รวมถึงยังพบปัญหาสัตว์ป่าเข้ามาหากินที่พื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชนบ้างเป็นครั้งคราว แต่ไม่ได้รุนแรงเทียบเท่าโซนอื่นๆ ที่กล่าวมา
แผนงานที่เกี่ยวข้อง : การสนับสนุนการจัดตั้งป่าชุมชนและพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการ การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน และพื้นที่กันชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง


ที่กล่าวมาเหล่านี้ คือภารกิจหลักของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในปี พ.ศ. 2568 หรือในวาระครบรอบ 35 ปี การจากไปของสืบ นาคะเสถียร
ซึ่งกระบวนการทำงานและการจัดการแผนงานยังดำเนินไปโดยให้มีความสอดคล้องกับกับโครงการอื่นๆ ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ดำเนินงานมาก่อนหน้า หรือขอรับการสนับสนุนทุนการทำงานจากภายนอก อาทิ สอดคล้องโครงการธรรมชาติปลอดภัย และโครงการสร้างความพร้อมต่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แนวป่ากันชนรอบผืนป่าตะวันตก
ท้ายสุด เป้าหมายของการจัดการพื้นที่ทั้ง 5 โซนนี้ จะนำไปสู่การสร้างรูปธรรมต้นแบบของการจัดการพื้นที่ป่ากันชนมรดกโลก หรือป่ากันชนห้วยขาแข้ง ที่เกิดจากการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการปกป้องผืนป่า สัตว์ป่า เพื่อความยั่งยืนของทุกชีวิต
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม