หน่วยฟื้นฟูป่าตัวจริง การขุดโพรงของตัวลิ่น ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศของป่าที่ถูกไฟเผาได้

หน่วยฟื้นฟูป่าตัวจริง การขุดโพรงของตัวลิ่น ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศของป่าที่ถูกไฟเผาได้

คุณค่าที่แท้จริงของ ‘ตัวลิ่น’ หรือ ‘นิ่ม’ ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหรือเกล็ด และไม่ได้อยู่ที่ราคาในตลาดค้าของผิดกฎหมาย

แต่มันขึ้นอยู่กับหน้าที่ในระบบนิเวศที่ตัวพวกเขาได้ลงมือทำ

งานวิจัยชิ้นใหม่ เพิ่งเผยแพร่เมื่อต้นปี 2568 เปิดเผยว่า ‘ตัวลิ่น’ เป็นสัตว์ที่มีบทบาทต่อการฟื้นตัวของป่าที่เพิ่งผ่านวันวอดวายด้วยฤทธิ์เพลิงอย่างมีนัยสำคัญ

ด้วยวิธีการง่ายๆ ผ่านการใช้ชีวิตอย่างปกติและมีอิสระ ก้มหน้าก้มตาขุดโพรงด้วยเล็บที่วิวัฒนาการออกแบบมาอย่างดี ทั้งเพื่อหาอาหาร และเพื่อหลบภัย

ในความรู้เก่าเรามองว่านั่นมีส่วนช่วยในการพรวนดินให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ และควบคุมจำนวนมดปลวก

แต่เมื่อใส่บริบทสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยเพลิงเผาผลาญรุนแรงทุกปีแล้ว จึงได้พบต่อว่าบริการทางนิเวศของตัวลิ่นยังช่วยซ่อมแซมป่าหลังไฟไหม้ได้อีกอย่างด้วย

ข้อมูลจากการศึกษาระบุว่า เมื่อตัวลิ่นขุดโพรง สัตว์ป่าชนิดอื่นๆ จะได้รับประโยชน์ ทั้งเป็นแหล่งหลบภัย หลบความร้อน บ้างก็เข้ายึดเป็นที่พักอาศัยและสืบพันธุ์ต่อไป

ในงานวิจัยพบสัตว์เข้ามาใช้ประโยชน์ทั้งหมด 35 ชนิด เป็นนก 24 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 10 ชนิด และสัตว์เลื้อยคลาน 1 ชนิด

หรือหากนับเป็นตัว เมื่อรวมเวลา 2 ปี ที่ตั้งกล้องบันทึกภาพไว้หน้าโพรงตัวลิ่นทั้งหมด 54 แห่ง พบสัตว์เข้ามาใช้ประโยชน์โพรงทั้งสิ้น 1,041 ตัว

ในด้านของพืชพรรณป่า ก็ฟื้นตัวได้เป็นอย่างดีเช่นกัน โดยพบพืช 58 ชนิด เจริญเติบโตได้ดีจากพฤติกรรมของตัวลิ่น ต่างจากการเก็บข้อมูลในพื้นที่ที่ไม่มีโพรง ที่พบชนิดของพืชน้อยกว่าและปริมาณความงอกเงยก็น้อยกว่าด้วย

เพราะเมื่อเกิดไฟป่า ดินจะสูญเสียธาตุอาหารและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชไป

ทีมผู้ศึกษาวิจัย บรรยายสรุปว่า ความหลากหลายทางชีวภาพที่เพิ่มขึ้นในบริเวณโพรงเกิดจากจุลินทรีย์ที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งเกิดจากการขุดโพรง

เมื่อตัวลิ่นขุดดินชั้นบน ที่ไหม้เกรียม แข็งกระด้าง และไร้สารอาหารออก พืชจะเข้าถึงสารอาหารได้ง่ายขึ้น

ขณะเดียวกันดินที่เป็นเนินจะมีความชื้นมากกว่า และมีปริมาณทรายน้อยกว่า ซึ่งช่วยให้เมล็ดพืชงอกและเหง้าเจริญเติบโตใต้ดิน

รวมถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อื่นๆ เช่น พืชบางชนิดที่ไม่ค่อยชอบแสงจะเติบโตจากบริเวณด้านในของโพรง ส่วนพืชที่ชอบแดดจะเติบโตบนเนินดิน

ธรรมชาติสามารถจัดการตัวเองได้ ตราบใดที่เรายังหลีกทางให้

นอกจากผลลัพธ์เชิงปริมาณที่ปรากฏชัดแล้ว นักวิจัยเชื่อว่าสัตว์นักขุดโพรงชนิดอื่นๆ ก็คงส่งต่อนิเวศบริการในรูปแบบเดียวกันนี้

เช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่เราได้เรียนรู้และรับทราบมาก่อนหน้าในเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่อง เช่น บีเวอร์สร้างเขื่อนกั้นลำน้ำทำให้ป่าชุ่มชื้นไม่แห้งแล้ง หรือการช่วยทำแนวกันไฟของช้างในประเทศกาบอง

และอื่นๆ อีกมากมาย

สัตว์เหล่านี้ คือพันธมิตรที่สำคัญในการดูแลและฟื้นฟูป่าให้กับเรา ในวันที่ฤดูไฟมีแต่จะแรงขึ้นทุกๆ ปี

หรือจะเรียกว่าเป็นหน่วยฟื้นฟูป่าตัวจริง ก็คงไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยไปสักนิด

หมายเหตุ

การศึกษานี้เกิดขึ้นในประเทศจีน และเป็นศึกษาพฤติกรรมของตัวลิ่นจีน ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่พบในป่าของประเทศไทย

ในไทยพบ 2 ชนิด อีกชนิดคือ ลิ่นซุนดา

ลิ่นจีน กระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ ส่วนลิ่นชวา กระจายพันธุ์ทางภาคใต้ของไทย ไปถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย

สำหรับในประเทศไทย ตัวลิ่นทุกชนิดถูกจัดอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

และถูกจัดอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix I) ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)

ซึ่งห้ามมิให้มีการค้าและการเพาะพันธุ์เพื่อการค้า

ขณะที่สถานะของตัวนิ่ม (ทุกชนิดบนโลกมี 8 ชนิด) ถือเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์

ความเชื่อเรื่องสรรพคุณทางยาของเกล็ดบนตัวลิ่น ยังเป็นสิ่งที่ไม่ถูกลบล้างออกไปจากสังคมในหลายๆ ภูมิภาค นำไปสู่การล่าเพื่อการค้า

จากข้อมูลของกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา ระบุว่า ราคาเกล็ดลิ่นขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์และคุณภาพ อยู่ที่กิโลกรัมละ 10,000-40,000 บาท

แต่ราคานั้นคงเทียบไม่ได้กับนิเวศบริการของตัวลิ่นที่ยังมีชีวิต

อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน