การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ การประมง ที่คาดว่า จะมีการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาในวันจันทร์ที่ 4 หรือวันอังคารที่ 5 มีนาคมนี้ วาระ 2 และ 3
สิ่งที่ตองจับตา คือ มาตรา 69 พระราชกำหนด การประมง เรื่องการใช้ ‘อวนมุ้ง’ ประกอบแสงไฟล่อจับปลากะตัก
‘มูลนิธิสืบนาคะเสถียร’ พร้อมเครือข่ายอนุรักษ์ จึงได้จัดงานเสวนา ‘สภาปลาเล็ก’ เพื่อตั้งคำถาม กับการแก้กฎหมายประมงครั้งสำคัญ ว่าสุดท้าย ‘ทะเลไทย’ จะรอดหรือร่วง

การตัดสินใจต้องอยู่ในองค์ความรู้ที่ถูกต้อง
‘ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง’ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะนายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย ได้ให้มุมมองทางวิชาการเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล
ศักดิ์อนันต์ มองว่า การแก้ไขมาตรา 69 ที่มีการปรับเปลี่ยนขนาดอวน และการอนุญาติให้ใช้อวนล้อมปั่นไฟ เป็นสิ่งที่ภาควิชาการ ‘คัดค้าน’ มาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2526 ส่วนตัวเคยมีส่วนร่วมกับการออกมาแสดงความเห็นด้วยในปี 2540 โดยลงไปศึกษาเอง ซึ่งขณะนั้นกรมประมงได้มีการอะลุ่มอล่วย ให้ชาวประมงใช้อวนครอบได้ แต่ยังไม่สามารถใช้อวนล้อมได้ เนื่องจากจะทำให้ ‘ลูกปลา’ ติดอวนไปด้วย
“การพยากรณ์สถานการณ์ประมงทั่วโลก เชื่อว่าหากมีการปล่อยให้ทำการประมงแบบที่ผ่านมา มนุษย์จะกินสัตว์น้ำเล็กลงเรื่อยๆ สมัยก่อนเราเคยกินปลาใหญ่ แต่ด้วยวิธีการจับปลาทั้งการประมงเกินขนาด และการจับปลาที่ทำให้ประชากรปลารุ่นใหม่เกิดไม่ทัน (การจับลูกปลา) ทำให้ปลาใหญ่ลดลง จนที่สุดจะเหลือน้อยลง ทำให้ตาอวนจะต้องเล็กลงไปเรื่อยๆ”
เป็นผลลัพธ์ทางธรรมชาติที่ศักดิ์อนันต์ระบุ ซึ่งผลกระทบจะตกอยู่ที่ปริมาณของปลาเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีจำนวนขนาดเล็กลง นำมาสู่การบริโภคของมนุษย์ที่จะต้องกินปลาที่มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ อาทิ ปัจจุบันที่มีการบริโภคปลากะตักแล้ว
ในเชิงวิชาการ มีการจัดทำพีระมิด (Trophic Level) เพื่อจำแนกสัดส่วนสัตว์น้ำทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศ ปลากะตัก ถือเป็นสัตว์น้ำในระดับ 3 ซึ่งฐานพิรามิดจำเป็นต้องการสัตว์น้ำมหาศาลเพื่อทำให้ประชากรฐานอื่นสามารถดำรงชีวิตได้ แต่ปัจจุบันข้างบนลดข้างล่างเยอะ
“ถ้าเราคิดสัดส่วนการปนเปื้อนจากการจับสัตว์น้ำ สมมุติติดปลาทู 1 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถเทียบตัวต่อตัวกับปลากะตักได้ เพราะปลาทูเป็นฐานที่สูงกว่า มันคือวิกฤตที่ต้องพิจารณาเป็นอย่างสูง ในมิติการประมง”
อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ยกตัวอย่างข้อมูลการตรวจสอบผลผลิตจากเรือประมงในจังหวัดนราธิวาส ปี 2567 พบว่า ผลผลิตทั้งหมดมีปลากะตัก 68 เปอร์เซ็นต์ ปลาอื่นๆ 21 เปอร์เซ็นต์ และปลาเป็ด 8 เปอร์เซ็นต์ (ปลาที่คนไม่บริโภค – เป็นอาหารสัตว์) หากนำข้อมูลชุดนี้มาเปรียบเทียบกับรายงานปี 2566 มีอัตราของลูกปลา หรือปลาขนาดเล็กติดอวนมามากขึ้น ส่งผลให้เห็นว่าปลาใหญ่มีจำนวนลดลง ซึ่งการที่ปลากะตักถูกจับโดยมาก ต้องส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำผู้ล่าที่กินปลากะตักเป็นอาหารด้วย
สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย มองว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังทำการประมง (จับปลา) Trophic Level ต่ำ ดังนั้นภาครัฐจึงจำเป็นต้องกำหนดขีดจำกัดการจับที่คำนึงถึงความสำคัญทางระบบนิเวศของทรัพยากรเหล่านี้ ซึ่งที่ผ่านมากรมประมงขาดข้อมูลการประมงปลากะตัก จากเครื่องมือประมงอื่นๆ ที่ไม่ได้นำมาใช้ในการคิด MSY
“อวนล้อมปั่นไฟปลากะตัก เป็นเครื่องมือประมงแบบใหม่ที่ผิดกฎหมายมาตลอด 40 ปี ถ้าจะเพิ่มค่า MSY ต้องเพิ่มจากเครื่องมือประมงเดิมไม่ใช่แบบใหม่ อวนครอบมันอยู่ไม่มาก แม้จะมีการปั่นไฟ ปลาที่หลงแสงสีไม่มากก็อาจมีโอกาสหลุด แต่อวนล้อมให้นึกถึงสนามฟุตบอล วงมันใหญ่มากแทบจะไม่มีโอกาสหลุดออกมาได้เลย ดังนั้นหลักคิดต้องเปลี่ยนทั้งหมด โดยเฉพาะการคิดค่า MSY ตอนนี้มันถูกหลักวิชาการหรือเปล่า” ศักดิ์อนันต์ ตั้งคำถาม
ความสำคัญของจริยธรรม ‘คนกินปลา’
‘รศ.ดร.เริงชัย ตันสกุล’ นายกสมาคมผู้บริโภคสงขลา ได้ขยายความการคิดค่า MSY ผ่านแนวคิดการจัดสรรแบ่งปันที่เหมาะสมเป็นธรรม และต้องคำนึงถึงเรื่อง ‘จริยธรรมผู้บริโภค’
“คนกินสำคัญที่สุด คนกินคือคนซื้อ คนกินต้องมีจรรยาบรรณมากขึ้น ถ้าเรายังกินปลาเด็กกุ้งเด็ก ต่อไปเราขายเข้าไปใน EU ไม่ได้ ทุกคนจะรู้ซึ้ง ระวังให้ดีท่านกำลังทำลายอนาคตของตัวเองและลูกหลานอยู่ ซึ่งในภาควิชาการสากลเคยมีการทำนายโดย Boris Worm ในปี 2009 บอกว่าถ้าจับปลากันแบบนี้ ปลาจะหมดโลกในปี 2048”
มีรายงานจาก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า กว่า 34 เปอร์เซ็นต์ คือการจับปลาเกินขนาด มีความใกล้เคียงกับสถานการณ์ในอ่าวไทย ดังนั้นกรมประมง จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับระบบนิเวศทั้งระบบ รวมถึงผู้บริโภคที่จะต้องสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศด้วย
โดยข้อมูลที่มาจากหน่วยงานอย่างกรมประมง ทำให้เห็นว่า การทำประมงในประเทศไทย มีการจับปลาเกินขนาดมาสักระยะแล้ว (ตั้งแต่ปี 2530) ซึ่งหากปล่อยให้มีการจับสัตว์น้ำเกินกำลังต่อไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ต้องเลิกไปเอง เพราะสุดท้ายสิ่งที่ได้มาคือ แพลงก์ตอน
“ประมงเมืองไทยก้าวหน้าไปมากแต่เราถูกควบคุมมากจากใครก็ไม่รู้ แต่วันนี้พวกเราควบคุมคนที่คุมกรมประมงอยู่ให้ทำตามกรมประมงอยากทำ ผู้บริโภคต้องยิ่งใหญ่ หากไม่ใหญ่กว่านี้ลูกหลานตายหมด” เริงชัย ฝากข้อคิด

การแก้กฎหมายประมงผ่าน ‘สภา’ คือการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยน
‘มงคล มงคลตรีลักษณ์’ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร ในฐานะคณะกรรมการบริหารสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นถึงกรณีการแก้ไขมาตรา 69 ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับความเห็นของ ‘ศักดิ์อนันต์’ และ ‘เริงชัย’ ในประเด็นการกำหนดค่า MSY ที่เหมาะสม ซึ่งมงคลอธิบายว่า ประเทศไทยเริ่มใช้ค่าดังกล่าว ตั้งแต่ พ.ร.ก. ปี 2558 ซึ่งก่อนหน้านั้น ชาวประมงทำการประมงโดนยึดหลักเศรษฐกิจ เมื่อมีกำไรก็ทำต่อ หากเมื่อไหร่ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มกับการเสียแรงก็จะหยุด ซึ่งในช่วงที่หยุดทรัพยากรมีการฟื้นตัว ชาวประมงมองว่าควรค่าแก่การลงแรง ก็จะกลับทำประมงต่อ
“พี่น้องชาวประมง งงว่าค่า MSY คำนวนมาจากอะไร เพราะเรายึดหลักการทำประมงตามความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ในมาตรา 69 พอเราใช้ พ.ร.ก. 2558 มาระยะเวลาหนึ่ง เราก็ใช้ MSY จากกรมประมง ซึ่งมีข้อมูลว่าปลากะตักยังเหลืออยู่ ก็เป็นที่มาของการแก้ไขมาตรา 69”
มงคล อธิบายต่อว่า การทำประมงแบบอวนล้อมจับ หรืออวนครอบช้อนยก ชาวประมงเข้าใจดีว่าปลากะตัก ในตอนกลางวันจะลงหน้าดิน ฉะนั้นจะจับต้องจับน้ำตื้น แต่หากในน้ำลึกตอนกลางวันเราไม่มีทางเจอมันได้เลย จึงเป็นที่มาว่าทำไมถึงอยากใช้ประโยชน์จากประกะตักในเขตน้ำลึก หรือนอกชายฝั่ง
ไปอ่าวไทยตัวก. หากไปดูข้อมูลของกรมประมง ในแถบชายฝั่งจะเป็นพื้นที่การทำประมงอย่างหนาแน่น แต่พื้นที่อีก 60 เปอร์เซ็นต์ ที่อยู่นอกชายฝั่งไม่มีการใช้ประมงเลย
“การแก้กฎหมายนี้เราก็แก้มา และเพิ่มมาในชั้นกรรมาธิการ ส่วนหนึ่งเป็นที่ตามรัฐมนตรีประกาศหลักเกณฑ์ขึ้นมา ส่วนเรื่องการใช้แสงไฟล่อ ก็มีบางกลุ่มเข้าใจว่าการแก้กฎหมาย จะเป็นการเปิดการทำประมงล้อมจับปลากะตักประกอบแสงไฟล่อ ต้องชี้แจงว่าเป็นการระบุว่าการออกกฎหมายลูกคุณต้องคำนึงถึงเรื่องนี้นะ ซึ่งจะให้ใช้หรือไม่ใช้ผมก็เห็นด้วยกับทางอาจารย์ทั้ง 2 ท่านว่าเราต้องมีข้อมูลให้เพียงพอ”
คณะกรรมการบริหารสมาคมประมงแห่งประเทศไทยกล่าวต่อว่า แต่หากวันนี้จะให้กลับไปใช้กฎหมายเดิม การทำข้อมูลวิชาการ ต้องมีข้อมูลให้เห็นพ้องต้องกันทุกกลุ่มได้ เพราะตอนนี้มีข้อมูลออกมาจากหลายส่วนทั้ง นักวิชาการ กรมประมง ผู้ประกอบอาชีพประมง ซึ่งไม่เกิดการเชื่อมโยงกัน ทำให้ต่างฝ่ายไม่มีความไว้วางใจกัน แต่เมื่อกฎหมายถูกแก้โดยกลไกของรัฐสภา ก็ถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้ทำข้อมูลวิชาการ นำไปสู่การศึกษาวิจัย จนนำมาสู่ข้อมูลที่พอใจทุกฝ่าย ในส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าอวนตาถี่ เครื่องมือที่ทำลายระบบนิเวศนั้น มงคลมองว่า อยู่ที่บริบทการใช้งานด้วย
“ถ้าเราปิดประตูกฎหมายนี้ วิจัยกลางคืนก็ไม่เกิดขึ้น มันก็จะเป็นข้อกังขาอยู่อย่างนี้ เป็นข้อที่ถกเถียงกัน และอาจนำไปสู่การเสียประโยชน์ของประเทศชาติหรือเปล่า” มงคล กล่าว
‘ปลาเล็ก’ กับประโยชน์ทางนิเวศอันยิ่งใหญ่ ที่อาจสูญพันธุ์ไป
‘ดร.ชวลิต วิทยานนท์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาไทย และกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้ข้อมูลถึงเรื่องการวิจัยและการเก็บข้อมูลประมงตอนกลางคืน ว่า ส่วนตัวขอแนะนำให้ทางกรมประมง มีกฎหมายที่เป็นบทเฉพาะกาล ให้อนุญาตในการเก็บข้อมูลหรือวิจัย เพื่อเป็นพื้นฐานในการปรับปรุงกฎหมายมาตราอื่นๆ ให้ยั่งยืนมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาเทคนิคประมง ในการคัดแยกปลาชนิดอื่นสามารถหนีออกไปจากอวนได้ให้เหลือแต่ปลากะตักอย่างเดียว
ชวลิต อธิบายว่า ทะเลไทยมีปลาเกือบ 2,500 ชนิด ซึ่งอาจมีปลาที่อาศัยอยู่บนผิวน้ำ ที่อาจตกเป็นเหยื่อของการทำประมงอวนล้อมอย่างน้อย 200 ชนิด ส่วนปลากะตักก็ไม่ได้มีอยู่แค่ชนิดเดียว แต่มีด้วยกันอยู่ร่วม 20 ชนิด มีราคาต่างกันและใช้ประโยชน์ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะปลากะตักที่มีขนาดเล็กอย่างปลากระตักข้าวสาร และปลากะตักสายไหม จะมีราคาแพงที่สุด
“หลายประเทศมีการกินลูกปลา ผมก็ไปถามเขาว่ากินแบบนี้ไม่สูญพันธุ์หรอ เขาบอกว่าไม่ อย่างญี่ปุ่นก็บอกไม่สูญพันธุ์ เพราะก่อนจะให้มีการบริโภค เขาวิจัยมาแล้วว่าเขาจะมีคนจับกี่คน เครื่องมือประมงแบบไหน ในเวลากี่วัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่จะการันตีว่าไม่สูญพันธุ์แน่นอน อย่างไรก็ตามจะบริโภคปลาแบบไหนต้องมีงานวิจัยที่ออกมารองรับอย่างชัดเจน”
ชวลิต ยืนยันว่า ปลาทุกชนิดในท้องทะเลมีประโยชน์กับระบบนิเวศ ไม่เว้นแม้แต่ปลากะตัก ที่เป็นอาหารของสัตว์น้ำอีกหลายชนิด ซึ่งปลาใหญ่หลายชนิดเป็นปลาที่ผู้คนนิยมบริโภค ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ดังนั้นจึงควรกำหนดขนาดของปลาในการจับด้วย มิเช่นนั้นจะส่งผลต่อการสูญพันธุ์ของปลาบริโภคอีกหลายชนิด
ในส่วนการเจือปนของภาคเศรษฐกิจ ก็มีผลกระทบเช่นกัน โดยมีกรณีศึกษาจากโรงงานผลิตน้ำปลาแห่งหนึ่ง ที่สะท้อนว่า พบลูกปลาเศรษฐกิจในสายพาน ซึ่งประกอบไปด้วย ลูกปลาทู ปลาลัง ปลากุแล และปลาสีกุน ซึ่งต้องคัดออกเพราะจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ด้วย
ทั้งนี้ ชวลิต ได้ยกการวิจัยของกรมประมงปี 2551 เรื่องการประมงปลากะตักในอ่าวไทย ที่ระบุว่า ตามกฎหมายอนุญาติให้จับปลา 270 วันต่อปี (ในอ่าวไทย) ส่วนอันดามันให้ 250 วันต่อปี ซึ่งตามรายงานระบุว่าอวนครอบมีค่าความสูญเสียจากปลาขนาดเล็กราว 1,000 – 1,300 บาทต่อวัน ขณะที่อวนล้อมปั่นไฟสูญเสียอยู่ที่ 7,300 บาทต่อวัน ส่วนอวนล้อมกลางวันอยู่ที่ 2,600 บาทต่อวัน หากคำนวนโดยภาพรวมแล้ว พบว่าจะเกิดความสูญเสียปลาขนาดเล็กต่อปีถึง ประมาณ 323.11 ล้านบาทต่อปี
“ถ้ากฎหมายนี้ถูกแก้ไขให้จับปลากลางคืนได้มากขึ้น และเกิดการสูญเสียปลาเศรษฐกิจ อาชีพที่จะได้รับผลกระทบก็คือ ทัวร์ดูปลาวาฬ ทัวร์ตกปลาและทัวร์ดำน้ำชมธรรมชาติ ซึ่งจะไม่ได้กระทบแก่นักท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่จะกระทบกับชุมชนและชาวประมงด้วย”

ทางรอดทะเลไทย
‘ปิยะ เทศแย้ม’ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ได้บอกเล่าทิศทางและสถานการณ์ของท้องทะเลไทยผ่านการทำอาชีพประมงของเขา โดยเห็นว่า มีทางรอดอยู่ 2 แนวทางที่จะทำให้คนกับปลาสามารถอยู่กันได้โดยไม่สูญพันธุ์
1) ทางรอดที่พอจะเป็นไปได้คือการจับปลาจำเป็นต้องมีการควบคุม ทั้งเรื่องการกำหนดระยะเวลาในการ ‘ปิดอ่าว’ และ 2) ทางรอด (ที่อาจมองในมุมเพ้อฝัน) คือการกระจายอำนาจให้กับชุมชนพื้นบ้านอย่าง ‘เท่าเทียม’ รวมถึงต้องมี ‘ผู้บริโภค’ และ ‘นักท่องเที่ยว’ รวมอยู่ในสมการด้วย
“มันไม่ใช่แค่ประมงพื้นบ้านหรือประมงพาณิชย์ แต่ผมยืนยันว่าทุกภาคส่วนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับการนโยบายของคณะประมงแห่งชาติ นี่คือทางรอดจริงๆ ไม่ใช่ของตัวเองแต่ทุกคน อย่างการกำหนดขนาดสัตว์น้ำในการจับ หากทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมกับแนวทางจริงๆ ก็จะทำให้ปลาเศรษฐกิจไม่สูญพันธุ์ไป”
ปิยะ กล่าวต่อว่า การให้สัตว์น้ำขนาดเล็กได้มีโอกาสเติบโต เหมือนกับเป็นการเปิดโอกาสให้กับสัตว์น้ำชนิดอื่น ทั้งสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นปลาวาฬ โลมา และปูม้า ได้กินปลากะตักที่ป่วย ตามวงจรชีวิตที่ระบบนิเวศกำหนดไว้ แต่หากอวนตาถี่มาใช้ทำการประมง อาจเป็นการหยุดยั้งการเจริญพันธุ์ของปลาเด็กได้ มันต้องเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เติบโต ซึ่งจะส่งผลถึงฐานรากเศรษฐกิจด้วย มันจะทำให้คนไปกันได้ด้วย
“วันนี้คุณเอาอวนตาถี่มาปั่นไฟล้อมจับ คนที่เขาทำปลาทูล่ะ แล้วผู้บริโภคที่อยากจะกินปลาทู กิโลละ 20 ล่ะครับ อยากซื้อปูม้าให้ลูกกิน 3 ตัว 750 กิน มันไหวเหรอครับ สุดท้าย ถ้าหากมันสามารถสร้างความเท่าเทียมกันได้ มันจะเป็นการเปิดเศรษฐกิจชุมชนระดับฐานราก แล้วมันจะทำให้ทุกภาคส่วนไปกันได้หมด” ปิยะ กล่าวทิ้งท้าย