ป.ป.ช. เสนอแนวทางป้องกันการทุจริตในการจัดทำ EIA ต่อครม.

ป.ป.ช. เสนอแนวทางป้องกันการทุจริตในการจัดทำ EIA ต่อครม.

คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอแนวทางป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อคณะรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นชอบให้นำเรื่อง “ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)” เสนอต่อคณะรัฐมนตรี

ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดให้มีการจัดทำ “รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” สำหรับการดำเนินโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐและของเอกชน ที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชน ซึ่งผู้ดำเนินการจะต้องมีการศึกษาและประเมินผลกระทบในด้านต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการฯ และกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่าง ๆ เหล่านั้น ก่อนที่จะเริ่มดำเนินโครงการฯ

ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศกระทรวง เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566 เกี่ยวกับโครงการฯ ที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EIA จำนวน 35 ประเภทโครงการ และรายงาน EHIA จำนวน 13 ประเภทโครงการ

แต่ปัจจุบันพบปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินโครงการฯ ที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EIA หรือ EHIA ตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจสอบกลั่นกรองโครงการ หน่วยงานของรัฐและเอกชนดำเนินโครงการฯ โดยไม่ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดการอาศัยช่องว่างของกฎหมาย หรือติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการดังกล่าว 

รวมทั้งพบปัญหาในขั้นตอนการจัดทำรายงานฯ ทั้งในโครงการของรัฐและเอกชน ซึ่งผู้รับผิดชอบการจัดทำรายงาน ๆ อาจมิได้จัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง หรือมีการจัดทำข้อมูลในรายงาน ๆ อันเป็นเท็จ หรือไม่มีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่เหมาะสม

อีกทั้งพบปัญหาในขั้นตอนการพิจารณารายงาน EIA หรือ EHIA ในประเด็นด้านประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจมีการใช้อำนาจหรือ ดุลพินิจที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ดำเนินโครงการ ปัญหาการวิ่งเต้นติดสินบนเพื่อให้รายงานฯ ผ่านความเห็นชอบ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุล และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนทราบอย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ยังพบปัญหาเกี่ยวกับการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA หรือ EHIA ซึ่งยังขาดการดำเนินงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)”

อ้างอิง