ผมรู้จักกับพี่สืบ นาคะเสถียร ตอนปี พ.ศ. 2526 ตั้งแต่เริ่มทำงานเป็นลูกจ้างของกรมป่าไม้ใหม่ๆ มีโอกาสพบเจอกันหลายครั้งในงานหรือเวทีที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่า พี่สืบจะไปเพื่อศึกษาหาข้อมูลอยู่บ่อยๆ กระทั่งผมย้ายมาประจำอยู่ที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ก็มีได้พบกับพี่สืบที่นั่นอีกครั้ง
จนวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ผมได้รับคำสั่งให้ลงมาปฏิบัติงานที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นวันเดียวกับที่พี่สืบได้รับคำสั่งจากกรมป่าไม้ให้มาเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะเป็นเพราะอะไรก็แล้วแต่ ก็ดีใจที่ได้มีโอกาสได้ทำงานด้วยกันสักที
ด้วยส่วนตัวได้พบกับพี่สืบบ่อย มันช่วยจูนให้การทำงานของเราง่ายขึ้น แต่สำหรับคนที่เพิ่งเจอพี่สืบครั้งแรก ก็ไม่ได้ทำงานด้วยยาก เพราะพี่สืบเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ดี มีจิตใจโอบอ้อมอารี เข้าใจความรู้สึกของคนทำงานในอาชีพเดียวกัน ถึงเพิ่งรู้จักกันก็ไม่เป็นปัญหา สามารถทำงานร่วมกันได้ และทำหน้าที่กันตามที่ได้รับมอบหมาย
ก่อนมาอยู่ห้วยขาแข้ง ผมผ่านงานมาหลายพื้นที่ และบอกได้เลยว่ามีปัญหาล่าสัตว์ตัดไม้เหมือนกันทุกที่ แต่ไม่มีที่ไหนรุนแรงเหมือนห้วยขาแข้ง ด้วยความที่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อนเราเลยไม่ค่อยกลัวเท่าไหร่ โดยเฉพาะเมื่อได้ทำงานร่วมกับพี่สืบ เพราะเคยได้ยินกิตติศัพท์ความเป็นมือปราบของแกมาก่อน และเป็นคนทำงานที่เข้มแข็ง ผมเลยอุ่นใจที่ได้เป็นลูกน้องพี่สืบ
ห้วยขาแข้งในตอนนั้นได้ยินเสียงปืนดังทุกทิศทุกคืน ตอนตะวันตกดินเรานั่งทานข้าวกัน กินไปคำสองคำก็สะดุ้งโหยงที ในใจนึกอยากออกไปจับ แต่พี่สืบบอกว่า “อย่าไปเลย เราเสียเปรียบ มืดแล้ว อันตราย ไว้พรุ่งนี้เช้าดีกว่า กลางวันเรายังพอที่จะสู้กับเขาได้” เพราะสมัยก่อนความพร้อมด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ หรือยานพาหนะ แทบไม่มีอะไรเลย ในยุคนั้นที่พี่สืบเข้าไปทำงานเป็นยุคที่เราขาดแคลนเครื่องไม้เครื่องมือ ต้องต่อสู้กับคนลักลอบล่าสัตว์ตัดไม้ แล้วยังต้องสู้กับสภาพของความไม่พร้อม แต่เราก็พยายามฟันฝ่า พี่สืบเข้าใจปัญหาตรงนี้อย่างถ่องแท้ พยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้สถานการณ์มันดีขึ้น พวกเราก็มีกำลังใจทำงานมากขึ้น
โดยหลักการ ถ้าได้ยินเสียงปืน ไม่ว่าเวลาไหน เจ้าหน้าที่ต้องออกไปทำงาน แต่อย่างที่พี่สืบบอกว่ากลางคืนเราเสียเปรียบด้วยข้อด้อยของเราหลายอย่าง ภารกิจในตอนกลางวันจะเป็นการลาดตระเวน เรามีชุดลาดตระเวนแต่มีอัตรากำลังไม่มาก ใช้วิธีสลับสับเปลี่ยนกันออกไป ทีมหนึ่งกลับมาทีมที่สองก็ไปต่อ เส้นทางในป่ามันมีมากมายนับไม่ถ้วน การเดินป่าในระยะแรกๆ เรายังไม่คุ้นเคยทาง ต้องอาศัยพวกพี่ๆ ที่อยู่มาก่อนนำทาง ซึ่งก็เป็นพรานล่าสัตว์มาก่อน แล้วกลับใจมาเป็นเจ้าหน้าที่
คนที่เข้าไปล่าสัตว์ส่วนใหญ่เป็นคนจากหมู่บ้านใกล้ๆ หรือคนจากที่อื่นแต่เป็นเครือญาติกัน ส่วนพวกที่ล่าสัตว์ใหญ่จะเข้าไปอยู่ในป่าลึกๆ พร้อมอาวุธ การจะเข้าไปจับกลุ่มนี้ เราต้องอาศัยการข่าว ต้องรู้ว่ามันจะเข้าเมื่อไหร่ อย่างไร จะล่าอะไร เข้าไปกี่คน พกอาวุธอะไร เป็นการข่าวที่เราต้องเข้าไปหาแหล่งข่าวภายนอก ถึงแม้จะมีการข่าว แต่ในทางปฏิบัติเรากลับทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะขาดแคลนหลายๆ อย่าง รถคันหนึ่งยังต้องหมุนเวียนกันใช้ ตอนนั้นมีรถปิคอัพคันเดียว ตอนออกไปลาดตระเวนต้องไปตามจำนวนอาวุธปืนที่เรามี เป็นปืนลูกซอง 5 นัด แต่ลูกปืนค่อนข้างเก่า เคยทดลองยิง กระสุนก็กลิ้งตกอยู่ข้างหน้ายิงไปไหนไม่ได้ไหล บางทีก็เป็นสนิม กระสุนแบ่งกันได้คนละ 3-4 นัด ส่วนฝ่ายล่าสัตว์อาวุธที่เขามีส่วนใหญ่เป็นอาวุธสงคราม ปืนคาร์บิน ปืนเอ็ม 16
เหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงระยะเวลา 8 เดือน ที่ห้วยขาแข้ง ผมว่าเป็นเหมือนตัวเร่งปฏิกิริยาบางสิ่งบางอย่าง หลายเหตุการณ์ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในป่าหรือเกิดขึ้นในเมืองมันล้วนผสมผสานกัน แล้วเป็นตัวเร่งที่ทำให้พี่สืบคิดว่า การดูแลรักษาป่า รักษาสัตว์ป่า อย่างที่เป็นอยู่มันไม่เกิดผลที่ชัดเจน มันจับต้องไม่ได้ พี่สืบเลยต้องทำบางอย่างนอกเหนือจากงานในหน้าที่ที่ทำอยู่ประจำ คือต้องหาวิธีการสักอย่างที่จะเป็นหลักประกันว่า ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน ป่าเล็กๆ ผืนนี้ จะต้องได้รับการคุ้มครอง ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ สัตว์ป่า และไม่ใช่แค่ที่ห้วยขาแข้ง แต่ป่าที่ล้อมรอบห้วยขาแข้งทั้งหมด 11 ล้านกว่าไร่ จะต้องคงอยู่เป็นป่าผืนเดียวกัน เพราะความเข้าใจหลักการทางวิชาการ สัตว์ป่าไม่ได้อยู่แต่ในห้วยขาแข้ง มันเดินข้ามไปทุ่งใหญ่นเรศวร มันเดินไปสลักพระ ไปอุ้มผาง ไปศรีนครินทร์ มันเดินไปทั่ว ไม่มีเขตแดน เรื่องนี้คือแนวคิดหนึ่งที่พี่สืบพยายามทำจนสำเร็จในนาทีสุดท้าย ก่อนจะลั่นไก
ผมกล้าพูดได้ว่าสิ่งที่พี่สืบทำในคติของชาวพุทธมันอาจเป็นสิ่งไม่ดี แต่ความตายของคนคนหนึ่งเพื่อแลกมากับหลายสิ่งหลายอย่าง ตกทอดมาถึงพวกเรา และส่งต่อไปในอนาคตถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ผมว่าพี่สืบทำถูก มันได้สร้างบางอย่างข้างในจิตใจของคนในชาติ ของคนที่ทำงานอยู่ในป่า
ย้อนกลับไปในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2533 คำว่าลางสังหรณ์หรือลางบอกเหตุ มันแทบจับไม่ได้ สิ่งที่พี่สืบทำในวันนั้นดูผิดปกติจากพฤติกรรมที่ทำในทุกๆ วัน แต่ก็ไม่ได้บ่งบอกอะไรให้เรารู้เลย ผมก็ไม่รู้แม้ว่าจะสนิทกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน ได้รับรู้ความเครียดของพี่สืบบ้างแต่ไม่ได้ระแคะระคายอะไร มันมีอาการที่ทำให้แปลกใจเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น แต่ไม่ได้พูดเรื่องนี้กับใคร
เย็นวันนั้น ในความทรงจำที่ผมจำได้ดี พี่สืบนั่งทานข้าว เราพูดคุยกันหลายเรื่อง ทั้งเรื่องที่พี่สืบกังวลเกี่ยวกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและเรื่องสัพเพเหระ จนประมาณสี่ทุ่มผมแยกออกมานั่งคุยกับยาม และพอใกล้ๆ ห้าทุ่มพี่สืบก็เดินตามออกมานั่งคุยด้วย
พี่สืบถามยามคนนั้นว่าอยู่ที่นี่เป็นอย่างไร สบายดีไหม อยู่ได้ไหม ชีวิตความเป็นอยู่เป็นอย่างไรบ้าง ครอบครัวอยู่ได้ไหม ลูกเมียอยู่ได้ไหม ยามก็ตอบตามสภาพความเป็นจริงว่าอยู่ได้ ไม่มีปัญหาอะไร พี่สืบเป็นห่วงทุกๆ คนไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนงานหรือเจ้าหน้าที่ ห่วงทุกคนเสมอเหมือนกันหมด
หลังจากยามคนนั้นแยกออกไป พี่สืบยังนั่งคุยกับผมอีกสักพัก พี่สืบให้ผมมวนยาเส้นให้สูบ และคุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ สักพักพี่สืบบอกให้ดับไฟ บอกจะกลับบ้านแล้ว ผมก็เดินตามไปส่ง ผมบอกว่า “พี่สืบครับผมจะเดินไปส่งนะ” เพราะสังเกตว่าพี่สืบไม่ได้ถือไฟฉายมา แต่พี่สืบบอกไม่เป็นไร พี่ไม่กลัวหรอก พี่สืบเดินไปสองสามก้าวก็หันหลังกลับมาโบกมือให้ แล้วบอกว่า “หม่อม พี่ไปแล้วนะ” แล้วพี่สืบก็หันหลังเดินหายไปในความมืด อากัปอาการที่โบกมือ พร้อมรอยยิ้มที่มีความเป็นสุข เป็นรอยยิ้มทั้งใบหน้า
คงเป็นช่วงเวลาประมาณ 2 นาฬิกา ที่เสียงปืนดังขึ้น ไม่มีใครสงสัยเพราะว่ามันเป็นเรื่องปกติ กว่าจะรู้ก็เป็นตอนเที่ยงของวันที่ 1 กันยายน ผมตัดสินใจว่าต้องไปดูพี่สืบที่บ้าน เพราะป่านนี้ยังไม่มา ตอนแรกคิดว่าพี่สืบกลับไปนั่งทำงานต่อ เขียนหนังสือเรื่องมรดกโลก ก็ไม่อยากรบกวน และวันนั้นไม่มีราชการต้องไปข้างนอก เลยอยากให้พี่สืบได้พักผ่อน กระทั่งเที่ยงแล้วพวกเราจะกินข้าวมื้อที่สองกันแล้วพี่สืบยังไม่มา
ผมเดินไปเรียกพี่สืบที่บ้านพัก ไม่กล้าเรียกดังเพราะเกรงใจ คิดว่าพี่สืบอาจหลับหรือพักผ่อน หรือไม่สบาย เรียกไปก็เคาะห้องไปด้วยแต่ก็ยังเงียบ ในใจคิดว่าชักไม่ได้การ เลยเดินย้อนไปกลับตามแม่บ้าน ขอกุญแจมาช่วยเปิดบ้าน
ไปถึงผมค่อยๆ สอดลูกกุญแจ แล้วดันประตูเข้าไป เปิดแง้มประมาณฝ่ามือ ตอนแรกชะโงกคอเข้าไปก่อน เห็นแกนอนหันหลังอยู่ แต่ก็สงสัยทำไมนอนนิ่งผิดปกติ เลยเปิดประตูทั้งบานแล้วค่อยๆ เดินเข้าไป พลางหันไปหาแม่บ้านที่ยืนอยู่ข้างนอก ตอนนั้นแม่บ้านมีสีหน้าไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ผมเดินเข้าไปถึงขอบเตียง เห็นแกนอนตะแคงหันหน้าหาข้างฝา
แว่บแรกสายตาเหลือบไปเห็นเลือดที่ขมับขวาของศรีษะ วินาทีนั้นบอกไม่ได้ว่ารู้สึกหรือคิดอะไร สายตาก็ไล่ที่ด้านหน้าของลำตัว เห็นปืน เห็นมือตกเป็นรูปเหนี่ยวไกปืน ตอนนั้นผมยังไม่เชื่อในภาพที่เห็น…
ผมเห็นกระดาษแผ่นหนึ่งสอดอยู่ใต้หมอน เห็นลายมือพี่สืบ ผมอ่านแบบเบลอๆ แกเขียนไว้ชัดเจน “ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวตายโดยไม่มีผู้ใดเกี่ยว้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น” ลงชื่อ สืบ นาคะเสถียร และลงเวลา…
วินาทีนั้น… (นิ่งเงียบไปหลายวินาที) ผมรู้จากแม่บ้านหลังจากนั้น… ผมเอามือต่อยผนังจนเลือดไหล แล้วตะโกนพูดว่า “ทำไมพี่สืบต้องทำอย่างนี้…” จนมาคนมาดึงตัวออกมาไป…
ความจริงมันก็นานแล้ว แต่ทุกครั้งที่พูดถึง… (สะอื้น)
ผมอยากบอกกับพี่สืบว่าขอให้พี่ดีใจ พี่สืบจะไม่ผิดหวัง ทุกสิ่งทุกอย่างมันพัฒนาขึ้นมาด้วยระยะเวลา ไม่ว่าเรื่องจิตสำนึกของผู้คน หรือคนที่มีจิตใจรักในสัตว์ป่าต่างให้ความร่วมมือสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทุกองค์กรที่ประกอบกันเป็นองคาพยพ ทำให้ป่าอยู่ได้ อยากให้พี่สืบรับรู้ ให้มีความสุขที่สุด มันเป็นหน้าที่พวกเราทุกคนต้องทำกันต่อไป
…
คุณหม่อม จิตประพันธ์ กฤตาคม จากไปเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2568
เรียบเรียงจาก เสวนาหัวข้อ สืบ นาคะเสถียร กับผู้พิทักษ์ป่า ในงานรำลึก 25 ปี สืบ นาคะเสถียร วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2558
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม