โดย ผศ.ดร.นฤมล ตันติพิษณุ กลุ่มวิจัยนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
เสือปลา จัดว่าเป็นสัตว์ผู้ล่าระดับสูงสุดสำหรับพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ Apex Predator หากเทียบกับเสือโคร่งก็จะเป็นตัวทำหน้าที่ช่วยควบคุมจำนวนประชากรของสัตว์ที่เป็นเหยื่อ รักษาสมดุลของพื้นที่ หลังจากข้อมูลที่เคยมีการบันทึกเสือปลาในช่วงปี 1996-2011 ได้มีการรวบรวมข้อมูลของเสือปลามากยิ่งจากรายงานสัตว์ที่โดนรถชน และข้อมูลจากชาวบ้าน ทำให้พบเสือปลาในพื้นที่อื่น ๆ อีกหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น จ.พิษณุโลก บางขุนเทียน จ.กรุงเทพฯ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ จ.สมุทรสาคร แหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี สิงหนคร จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี
เสือปลาใน 5 พื้นที่
เขาสามร้อยยอด
ดำเนินการโดยคุณกิตติพัฒน์ โพธิ์ศรี นักศึกษาปริญญาเอก ศึกษาการเก็บข้อมูลประชากรระยะยาวโดยเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2019 – 2023 ร่วมกับองค์การแพนเทอร่า และองค์การสวนสัตว์ฯ ด้วยวิธีการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าร่วมกับการสัมภาษณ์มีการพูดคุยกับชาวบ้านเกี่ยวกับประเด็นภัยคุกคามในพื้นที่ เพราะเนื่องจากเสือปลาที่พบในพื้นที่เขาสามร้อยยอดอาศัยอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกับชาวบ้านหรืออยู่นอกพื้นที่อนุรักษ์ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่อาจจะต้องมีการเจอกับคน ในพื้นที่นี้ประเด็นภัยคุกคามก็ถือว่าเป็นประสำคัญของการอยู่รอดของเสือปลาในเขาสามร้อยยอด มีการติดตั้งกล้องทั้งหมด 50 จุดด้วยกันเพื่อให้คลอบคลุมพื้นที่รอบ ๆ พื้นที่อช.เขาสามร้อยยอด จากการติดตั้งกล้องร่วมกับการใช้โปรแกรมทางสถิติคำนวณ ประเมินได้ว่าในปี 2019 พบเสือปลาอย่างน้อย 34 ตัว ปี 2021 พบเสือปลา 55 ตัว และปี 2023 พบเสือปลา 61 ตัว ทำให้เห็นว่าประชากรเสือปลามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่สวนทางกับอัตราการรอดชีวิตไม่ได้สูงมาก เสือปลาในพื้นที่นี้มีอัตราการรอดยู่ที่ 0.5 หรือ 50% ถ้าสมมุติเรามีเสือปลาอยู่ 100 ตัว จะมีโอกาสรอดเพียง 50 ตัว เท่านั้น ส่วนการแทนที่ของเสือปลาตัวเก่าและตัวใหม่ในพื้นที่พบค่อนข้างสูงอยู่ที่ 76-80%
แหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี
เริ่มสำรวจในปี 2021 โดยการติดตั้งกล้องจำนวน 112 จุด คาดว่าจะมีเสือปลาอย่างน้อย 16 ตัว ได้ภาพแม่และะลูกเสือปลา และภาพเสือปลาคาบปลาไว้ในปาก
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ จ.สมุทรสาคร
เข้าไปสำรวจในปี 2022 โดยตั้งกล้องไว้นานถึง 3 เดือน ใน 27 จุด และได้ภาพเสือปลาเพียงแค่ 1 จุดเท่านั้น สามารถแยกเสือปลาได้อย่างน้อย 2 ตัว ผ่านมาประมาณ 2-3 ปีแล้วก็ไม่แน่ใจในพื้นที่ยังมีเสือปลาอยู่หรือไม่
จ.จันทบุรี และ จ.ตราด
เริ่มสำรวจในปี 2024 ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ติดตั้งกล้องไปทั้งหมด 122 จุด คลอบคลุมพื้นที่ชุ่มน้ำของ 2 จังหวัด แต่ก็ยังไม่ได้ภาพเสือปลาแม้แต่ภาพเดียว ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีรายงานการพบรอบตีนและกองมูลที่ดูเหมอนจะเป็นเสือปลา
ทะเลสาบสงขลา
เริ่มสำรวจในปี 2024 ตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงเดือนสิงหาคม มีการตั้งกล้อง 141 จุดรอบ ๆ ทางตอนบนและตอนล่างของทะเลสาบสงขลา พบเสือปลาในพื้นที่อย่างน้อย 13 ตัว
ภัยคุกคามของเสือปลา
ปัญหาหลักของเสือปลาคือเรื่องความขัดแย้ง หลายครั้งเรามักเจอข่าวเสือปลาออกไปขโมยกินไก่ เป็ด ปลา ของชาวบ้าน บางพื้นที่เจอปัญหาเรื่องการล่าและถูกรถชน และสุดท้ายที่เป็นปัญหาหลัก คือการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ ล่าสุด Panthera ได้ลงพื้นที่เพื่อไปสำรวจเสือปลาใน จ.เพชรบุรี มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่ค่อนข้างมาก จากเดิมที่เคยเป็นพื้นที่ที่ตามธรรมชาติรกร้าง เริ่มมีการไถเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตร และอีกพื้นที่ในทะเลสาบสงขลามีชุมชนกั้นอยู่ทำให้ประชากรด้านบนและด้านล่างไปหากันไม่ได้ ในอนาคตเสือปลาอาจจะเกิดเลือดชิดและหายไปจากในพื้นที่หากไม่มีการจัดการประชากรเสือปลาที่ดี
สรุปจากเวทีเสวนาวิชาการ Save our home สถานะเสือขนาดเล็กในประเทศไทยและการอนุรักษ์ วันที่ 12 ธันวาคม 2567 เวลา 13.30 -16.00 น. ณ ห้องประชุม Fortrop ชั้น 3 อาคารวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์