องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ ไอยูซีเอ็น (IUCN) ได้ทำการประเมินสถานะของสัตว์น้ำจืดใหม่อีกหน และแถลงข่าวไปเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ในหน้าข่าวประชาสัมพันธ์องค์กรระบุว่า จากการศึกษาสัตว์น้ำจืด 23,469 ชนิดที่บันทึกอยู่ในบัญชีแดงของไอยูซีเอ็น ขณะนี้มีอย่างน้อย 4,294 ชนิด ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ซึ่งคิดเป็น 24 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 4 ของชนิดพันธุ์ปลาน้ำจืด ปู กุ้งน้ำจืด เครย์ฟิช กุ้งฝอย รวมถึงแมลงปอ แมลงปอเข็มทั่วโลก
บรรดาปู กุ้งแม่น้ำ อยู่ในข่ายเสี่ยงสูญพันธุ์ถึงร้อยละ 30 รองลงมาคือเหล่ามัจฉาร้อยละ 26 และเหล่าแมลงปอ ดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำร้อยละ 16
สาเหตุที่นำพาไปสู่การสูญพันธุ์ ถูกระบุจากหลากหลายปัจจัย โดยส่วนใหญ่มาจากมลพิษทางเกษตรกรรม ที่ทำให้สัตว์น้ำจืดได้รับผลกระทบมากกว่าครึ่งหนึ่ง
รวมถึงปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพื่อทำการเกษตร จนระบบนิเวศที่เป็นถิ่นอาศัยเกิดความเสื่อมโทรม
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำจืดโดยตรง เช่น การสูบน้ำขึ้นมาใช้ การก่อสร้างเขื่อนและฝายปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลา การทำประมงน้ำจืดเกินขนาด และการรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เกิดจากการนำเข้าของมนุษย์ – ปลาหมอคางดำ คือตัวอย่างที่ชัดเจนของเรื่องนี้
ต่อแนวทางการแก้ไขปัญหา รายงานตอนหนึ่งระบุว่า การปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์อาจไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ การอนุรักษ์จำเป็นต้องพุ่งเป้าที่ชนิดของสัตว์ที่กำลังสูญพันธุ์เพิ่มด้วย
สเตฟานี แวร์ (Stephanie Wear) รองประธานอาวุโสของ Conservation International องค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ แสดงความเห็นต่อรายงานฉบับนี้ว่า “เห็นได้ชัดว่าระบบนิเวศน้ำจืดกำลังเผชิญกับภัยคุกคามอย่างหนัก เนื่องจากการสูญเสียแหล่งน้ำ ภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น รวมถึงมลพิษที่แทรกซึมเข้าสู่ถิ่นอาศัยของสัตว์น้ำ”
“การได้ทราบว่าหนึ่งในสี่ของสัตว์น้ำจืดมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากเหตุผลดังกล่าวเป็นเรื่องน่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์นี้แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เราเคยกังวลไว้ว่ามันคือความจริง ระบบนิเวศน้ำจืด และสรรพสัตว์ต้องการความช่วยเหลือในทันที”
“สัตว์น้ำจืดที่ถูกคุกคาม เช่น กุ้ง ปู มีขนาดเล็ก อาศัยอยู่ใต้ผิวน้ำ แต่ไม่ว่าขนาดจะเล็กหรือใหญ่อย่างไร สัตว์เหล่านี้ก็มีส่วนสำคัญต่อการรักษาระบบนิเวศให้กับแหล่งน้ำ ให้ผู้คนนับพันล้านได้พึ่งพาอาศัย”
“ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมเป็นความเสี่ยงต่อการอยู่รอดของสัตว์เหล่านั้น และรวมถึงตัวพวกเราเอง”
“เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และแทนที่จะหมดหวัง เราควรทุ่มเทพลังงานและทรัพยากรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไว้”
“สุขภาพ โภชนาการ น้ำดื่ม และการดำรงชีพของพวกเรา ขึ้นอยู่กับสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์”
ขณะที่ แอนน์ บาวเซอร์ ผู้บริหารของ NatureServe กล่าวถึงความสำคัญของข้อมูลชุดนี้ว่า ชุดข้อมูลที่มีคุณภาพสูงเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งนี้จะช่วยให้เราสามารถระบุชนิดพันธุ์ที่มีความเสี่ยงและดำเนินการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์เหล่านั้น
“การจัดลำดับความสำคัญที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ช่วยให้เราสามารถตัดสินใจได้อย่างรอบรู้มากขึ้น เพื่อปกป้องระบบนิเวศน้ำจืด และชนิดพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในแหล่งนั้น”
ผู้สนใจสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ One-quarter of freshwater fauna threatened with extinction
ปัจจุบัน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้จัดทำโครงการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในปลาน้ำจืดที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง โดยปลาซิวสมพงษ์ถูกจัดเป็น 1 ใน 100 สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งของโลก ตามเกณฑ์ IUCN Red list ที่ต้องได้รับการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน และมีโอกาสสูงมากที่จะสูญพันธุ์ไปจากโลก หากไม่มีการดำเนินการใดๆ
ทำความรู้จักปลาซิวสมพงษ์เพิ่มเติมได้ที่ ปลาซิวสมพงษ์ สารานุกรม ผืนป่า สัตว์ป่า
ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โครงการสนับสนุนชุมชน ในการอนุรักษ์ทุ่งน้ำหลาก อันเป็นระบบนิเวศที่สำคัญของปลาซิวสมพงษ์ ที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์
เรียบเรียงจาก One quarter of freshwater animals at risk of extinction – IUCN Red List
ผู้เขียน
โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน