ภาพรวมสถานภาพเสือขนาดเล็กในปัจจุบัน โดย รศ.ดร.รองลาภ สุขมาสรวง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ปัจจุบันเสือที่พบบนโลกมีประมาณ 40 ชนิด แต่เป็นเสือขนาดเล็ก 33 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่คนทั่วไปแทบไม่ค่อยรู้จักมัน พอดูรายละเอียดก็จะรู้ว่า สถานการณ์ของเสือขนาดเล็กแย่กว่ากลุ่มหมาป่าซะอีก ทั้งๆ ที่สัตว์กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ถูกละเลยมากๆ ซึ่งแน่นอนถ้าไม่รู้จักมันก็ยากที่จะจัดการในแต่ละชนิด ถือว่าเป็นเรื่องที่เร่งด่วนมากๆ สำหรับการจัดการสัตว์ป่า
จากปี ค.ศ. 2012-2024 ตลอด 12 ปี จากการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่ากว่า 324 จุด รวมจำนวนกว่า 40,000 กับดักคืน (trap night) ใน 11 พื้นที่ กระจายตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย ประกอบด้วยพื้นที่อนุรักษ์ 9 แห่ง และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 2 แห่ง บริเวณพื้นที่เชื่อมต่อกับอุทยานแห่งชาติทับลาน-เขาใหญ่ ถือว่าเป็นจุดที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เสือขนาดเล็กและขนาดกลางเข้ามาใช้ประโยชน์และเป็นพื้นที่ที่ติดกับชุมชนและใกล้คน ซึ่งปัญหาสัตว์ป่าออกมานอกพื้นที่อนุรักษ์ก็เป็นโจทย์ใหญ่และต้องหาวิธีการจัดการ
ภาพรวมการปรากฏเสือ 5 ชนิด ได้แก่ เสือไฟ เสือลายเมฆ เสือปลา แมวดาว และแมวลายหินอ่อน ในแต่ละพื้นที่ที่มีการติดตั้งกล้องจะพบแตกต่างกันไป เช่น บริเวณวังน้ำเขียว เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญมากเพราะพบเสือถึง 4 ชนิด ยกเว้นแมวลายหินอ่อนชนิดเดียว นอกจากนี้พื้นที่บริเวณนี้ยังพบหมาใน ช้างป่าอีกด้วย พื้นที่เชื่อมต่อกับอุทยานแห่งชาติทับลาน-เขาใหญ่ บริเวณอุโมงค์กับสะพานยกระดับบ้านบุพราหมณ์ อุทยานแห่งชาติออบขาน บริเวณเขาหินปูนในจังหวัดสระบุรี พบ 1 ชนิด คือ แมวดาว ส่วนพื้นที่อื่นๆ พบ 2-4 ชนิด เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งพบเสือลายเมฆ เสือไฟ แมวลายหินอ่อน แมวดาว ยกเว้นเสือปลา และจากการเก็บข้อมูลทั้ง 11 พื้นที่ พบแมวดาวมากที่สุด รองลงมาจะเป็นเสือลายเมฆ เสือไฟ และแมวลายหินอ่อน ส่วนเสือปลาพบน้อยที่สุด
โดยสรุปการจัดการ การศึกษาเสือขนาดเล็กก็ยังคงต้องศึกษาต่อไป การจัดการก็คงต้องเน้นไปในพื้นที่อนุรักษ์ รวมถึงพื้นที่ป่าสงวนที่สำคัญที่ต้องดำเนินการ ปัจจุบันทางกรมอุทยานฯ มีกิจกรรมที่เข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นความหวังในการอนุรักษ์ และอาจทำให้เรามุ่งเน้นความสำคัญไปที่การศึกษาและการจัดการเสือขนาดเล็กในอนาคตได้ดีมากยิ่งขึ้น
สรุปจากเวทีเสวนาวิชาการ Save our home สถานะเสือขนาดเล็กในประเทศไทยและการอนุรักษ์ วันที่ 12 ธันวาคม 2567 เวลา 13.30 -16.00 น. ณ ห้องประชุม Fortrop ชั้น 3 อาคารวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์