โดย ผศ.ดร.นฤมล ตันติพิษณุ กลุ่มวิจัยนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ประเทศไทยของเรามีแมวป่าอยู่ทั้งหมด 9 ชนิดด้วยกัน แบ่งเป็น เสือขนาดเล็ก เสือขนาดกลาง และเสือขนาดใหญ่ จะแบ่งตามน้ำหนักตัว โดย 6 ชนิด เป็นเสือขนาดเล็ก ได้แก่ แมวดาว แมวลายหินอ่อน แมวป่าหัวแบน เสือกระต่าย เสือไฟ และเสือปลา เสือขนาดกลาง ได้แก่ เสือลายเมฆ ส่วนอีก 2 ชนิด จัดอยู่ในกลุ่มเสือขนาดใหญ่คือเสือดาว/เสือดำ และเสือโคร่ง ซึ่งแต่ละชนิด ก็มีสถานภาพการอนุรักษ์จาก IUCN แตกต่างกันไป มีทั้งชนิดที่มีการกระจายเป็นวงกว้าง เป็น least concerned ไปจนถึงชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง (Endangered)
ซึ่งข้อมูลของกลุ่มแมวป่าขนาดเล็ก 6 ชนิด มีข้อมูลอยู่น้อยมาก ถ้าพูดไปก็แทบจะไม่มีใครรู้จัก หรือมีการพูดถึงมาก่อน โดยก่อนหน้านี้มีการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญทุกคนที่ทำงานสำรวจในประเทศไทย เพื่ออัปเดตสถานภาพการกระจายของสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กทั้ง 34 ชนิดในประเทศไทย จากการประชุมในครั้งนั้น ได้มีการรวบรวมข้อมูลที่เป็นข้อมูลจากกล้องดักถ่ายภาพ ตั้งแต่ปี 1996 จนถึงปี 2011 มีการทำงานร่วมกันหลังจากการประชุม 2-3 ปี เกิดการรวบรวมข้อมูลทั้งหมด แล้วตีพิมพ์เป็นผลงานออกมา งานวิจัยเกี่ยวกับการกระจาย แบ่งเป็น 3 ฉบับด้วยกัน มีในส่วนของหมาไน การกระจายของแมวป่าขนาดเล็ก และการกระจายของสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กชนิดอื่น ๆ เช่น นาก ชะมด และอีเห็น รวมถึงวิเคราะห์ช่วงเวลาทํากิจกรรม (Activities pattern) ของแมวขนาดเล็ก 4 ชนิด ได้แก่ แมวดาว กิจกรรมส่วนใหญ่จะอยู่ช่วงกลางคืน เริ่มตั้งแต่ 18.00 น. เป็นต้นไป เสือไฟและแมวลายหินอ่อน กิจกรรมส่วนใหญ่จะอยู่ช่วงกลางวันมากกว่ากลางคืน ส่วนเสือลายเมฆกิจกรรมจะเกิดในช่วงกลางคืนเป็นหลัก ก่อน 6.00 น. และหลัง 18.00 น.
ภาพรวมของแมวป่าขนาดเล็ก 6 ชนิด ในช่วงปี ค.ศ. 1996-2011 จาก 16 พื้นที่อนุรักษ์
แมวดาว (Leopard Cat) แมวเล็กที่มีสถานภาพเป็นกังวลน้อยที่สุด (Least concerned) มีการกระจายทั่วภูมิภาคของประเทศไทย พบได้ทั้งส่วนที่เป็นพื้นที่ตามธรรมชาติ และพื้นที่ที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน จากข้อมูลตอนนั้นที่รวบรวมจากพื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมด 16 แห่ง ได้ภาพจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ทั้งหมด 11 พื้นที่ ก็คือตามกลุ่มป่าใหญ่ ๆ เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ ด้านตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติตาพระยา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อุทยานแห่งชาติเขาสก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ส่วนทางภาคเหนือที่ไม่มีข้อมูลนอกจากนี้ ยังมีการเก็บข้อมูลจากการพบเห็นตัวโดยตรง ซึ่งเจอที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อุทยานแห่งชาติเขาหลวง และอุทยานแห่งชาติเขานัน
แมวลายหินอ่อน (Marbled Cat) มีสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) จะเจอเป็นหลักในพื้นที่ตามธรรมชาติจากพื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมด 6 พื้นที่ ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา อีกทั้งมีการศึกษาการใส่ปลอกคอติดวิทยุที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และพบตัวโดยตรงที่อุทยานแห่งชาติเขาสก
แมวป่าหัวแบน (Flat-headed Cat) มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) เป็นชนิดที่อยู่ในโซน Sundaic ลงมาทางใต้ ณ ตอนนั้น ไม่ได้ข้อมูลจากกล้อง camera trap เลย มีการพบเห็นตัวโดยตรงทางตอนใต้สุดของไทยที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “ป่าพรุโต๊ะแดง” เท่านั้น
เสือกระต่าย (Jungle Cat) มีสถานภาพเป็นกังวลน้อยที่สุด (Least concerned) พบได้ในพื้นที่ทั้งทางเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนประเทศไทยพบได้ตั้งแต่ภาคเหนือไล่ลงมาจนถึงภาคกลาง เป็นแมวขนาดเล็กที่ไม่เคยได้ภาพจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าเลย แต่ว่าก็มีการพูดถึงว่าพบเสือกระต่ายที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ ด้านตะวันตก และหลังจากนั้นก็มีช่างภาพถ่ายเสือกระต่ายได้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย
เสือไฟ (Asiatic Golden Cat) มีสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) มีการกระจายทั่วภูมิภาคของประเทศไทย พบใน 9 พื้นที่อนุรักษ์ ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ ด้านตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา มีการพบเจอตัวโดยตรงอุทยานแห่งชาติเขาสก และอุทยานแห่งชาติภูกระดึง นอกจากนี้สีขนของเสือไฟจะมีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคที่พบ
เสือปลา (Fishing Cat) มีสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) เป็นแมวขนาดเล็กที่ไม่มีข้อมูลเลย และการกระจายค่อนข้างจำกัด ในประเทศไทยได้ข้อมูลจาก 3 พื้นที่ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด และทะเลน้อย นอกจากนี้ยังมีการถกเถียงการพบเห็นเสือปลาโดยตรงใน 3 พื้นที่ ได้แก่ อช.แก่งกระจาน ถกเถียงกันอยู่ว่าเป็นเสือปลาตามธรรมชาติ หรือ เป็นเสือปลาที่มาจากการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพราะบริเวณนั้นมีศูนย์ Wildlife Rescue Centre ซึ่งมีการปล่อยเสือปลาในช่วงเวลานั้นพอดี จังหวัดปัตตานี และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในตอนนั้น จากการอธิบายลักษณะคร่าวๆ ยังเป็นคำถามว่า มันเป็นเสือปลาจริงหรือไม่ เพราะว่าเสือปลามีเหมือนลักษณะที่สามารถทำให้เข้าใจผิดเป็นชนิดอื่นที่ใกล้เคียงกันได้อยู่บ้างเหมือนกัน
และชนิดสุดท้าย เสือลายเมฆ (Clouded Leopard) สถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) มีการกระจายอยู่ค่อนข้างกว้าง แต่ว่าได้สูญพันธุ์ไปในพื้นที่ส่วนใหญ่ในถิ่นอาศัยของเดิม พบใน 9 พื้นที่อนุรักษ์ ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ ด้านตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติตาพระยา อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อุทยานแห่งชาติบางลาง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา นอกจากนี้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงยังไม่มีการยืนยันว่าใช่เสือลายเมฆหรือไม่
สรุปจากเวทีเสวนาวิชาการ Save our home สถานะเสือขนาดเล็กในประเทศไทยและการอนุรักษ์ วันที่ 12 ธันวาคม 2567 เวลา 13.30 -16.00 น. ณ ห้องประชุม Fortrop ชั้น 3 อาคารวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์