ระบบนิเวศสมดุล คน สัตว์ ป่า ยั่งยืน (คนหากิน สัตว์ก็หากิน เราไม่เบียดเบียนกันและกัน)

ระบบนิเวศสมดุล คน สัตว์ ป่า ยั่งยืน (คนหากิน สัตว์ก็หากิน เราไม่เบียดเบียนกันและกัน)

ในงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา ช่วงหนึ่งของกิจกรรมได้จัดให้มีเวทีเสวนาเรื่อง World-Wild-Life Balance ‘ระบบนิเวศสมดุล คน สัตว์ ป่า ยั่งยืน’ มีตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานและความประทับใจที่มีต่อสัตว์ป่าไว้อย่างน่าสนใจ

โดยเรื่องราวเริ่มต้นขึ้นที่ ‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง’ จังหวัดอุทัยธานี แหล่งพันธุกรรมสัตว์ป่าที่สำคัญของประเทศไทย

คุณเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ เริ่มบรรยายข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่ เช่น การเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำสะแกกรังที่ไหลไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มีลำน้ำห้วยขาแข้งไหลลงสู่เขื่อนศรีนครินทร์

ในด้านของสัตว์ป่าที่พบได้หลายชนิด เพราะห้วยขาแข้งเป็นศูนย์กลางของสัตว์ที่เดินทางมาจากหลายแห่ง เช่น สมเสร็จมาลยูจากทางใต้ นกเงือกคอแดงที่บินมาจากหิมาลัย หรือในทางวิชาการที่ระบุว่าพื้นที่ห้วยขาแข้งนั้นตั้งอยู่ในเขตที่เป็นรอยต่อของชีวภูมิศาสตร์สี่ภูมิภาคของเอเชีย

ซึ่งจากการทำงานอนุรักษ์พื้นที่และดูแลสัตว์ป่ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สัตว์ป่าหลายชนิดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ ‘เสือโคร่ง’ ที่สามารถบันทึกภาพและแยกข้อมูลอัตลักษณ์จากลายบนตัวได้อย่างน้อย 77 ตัว ในพื้นที่

นอกจากเสือโคร่ง สัตว์อีกชนิดที่เพิ่มขึ้นชัดเจน คือ ‘วัวแดง’ จากที่เดิมพบเห็นได้ยาก แต่ปัจจุบันสามารถพบได้ทั่วไปในเขตป่าห้วยขาแข้ง และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมายังพบวัวแดงออกมาหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์ หรือในพื้นที่ชุมชนรอบๆ ผืนป่าอีกด้วย

หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ขยายความว่า กรณีที่มีสัตว์ป่าออกไปมาหากินบริเวณชุมชนทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ป่าทั้งเชิงบวกและลบ เชิงลบคือ การหากินของสัตว์ป่าก่อให้เกิดความเสียหายต่อเรือกสวนไร่นาทรัพย์สินของประชาชน แต่ปัจจุบันทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ได้คอยช่วยเหลือประชาชนในเรื่องนี้อยู่ รวมถึงได้จัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังและผลักดันสัตว์ป่ากลับพื้นที่อนุรักษ์ ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สนับสนุนทั้งองค์ความรู้และงบประมาณ

ในด้านสัมพันธ์เชิงบวก ด้วยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายหลายหน่วยงานได้มองถึงการใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าผ่านกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จนเกิดการตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเที่ยวชมสัตว์ป่าที่ออกมาหากินนอกป่า ดำเนินกิจกรรมโดยไม่รบกวนสัตว์ป่า ถือเป็นผลอย่างหนึ่งที่งอกเงยมาจากงานอนุรักษ์สัตว์ป่า

อย่างไรก็ดี แม้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จะเป็นหนึ่งในตัวอย่างพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จด้านงานอนุรักษ์สัตว์ป่า แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดที่ต้องการความช่วยเหลือ ต่อเรื่องนี้ คุณภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ยกตัวอย่างงานอนุรักษ์ที่องค์กรได้ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยกตัวอย่างถึงงานฟื้นฟูประชากร ‘พญาแร้ง’ ซึ่งฝูงสุดท้ายที่อาศัยอยู่ในป่าห้วยขาแข้งได้สูญพันธุ์ไปเมื่อ 30 ปีก่อน ปัจจุบันได้มีการนำแร้งในกรงเลี้ยงมาจับคู่ เพื่อให้เกิดการผสมพันธุ์ และได้ลูกพญาแร้งเกิดใหม่แล้ว 2 ตัว ในอนาคตหากมีลูกพญาแร้งเกิดขึ้นเรื่อยๆ ก็จะปล่อยคืนสู่ป่า

กิจกรรมของมูลนิธิสืบฯ ยังมีงานฟื้นฟูประชากร ‘กวางผา’ ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย งานสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ‘เสือปลา’ บริเวณรอบๆ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ที่ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่ถึง 100 ตัว งานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ ‘ควายป่า’ ในห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นฝูงสุดท้ายของประเทศ และคาดว่าน่าจะมีอยู่ประมาณ 60 ตัว รวมถึงการอนุรักษ์ ‘ปลาซิวสมพงษ์’ ในทุ่งน้ำหลากที่จังหวัดนครนายกเพียงแห่งเดียว ก็เป็นสัตว์อีกชนิดที่มูลนิธิสืบฯ ให้ความสนใจและดำเนินกิจกรรมร่วมกับประชาชนในท้องถิ่น

นอกจากเรื่องสัตว์ป่า ประธานมูลนิธิสืบฯ เล่าว่า งานอีกด้านที่องค์กรให้ความสำคัญมาโดยตลอดนับตั้งแต่วันก่อตั้งคือ กิจกรรมสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ซึ่งผลการดำเนินงานของกองทุนผู้พิทักษ์ป่าในปีที่ผ่านมา พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้รับบาดเจ็บในระหว่างปฏิบัติที่โดยมีสาเหตุจากสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งต้องหาสาเหตุ และวิธีป้องกันแก้ไข เพื่อลดการบาดเจ็บจากสาเหตุนี้ลง

ทางด้าน ชานน ริกุลสุรกาน นักแสดงและพิธีกร หนึ่งในผู้ร่วมเวทีเสวนา ได้เล่าประสบการณ์จากการไปถ่ายทำสารคดีเรื่อง ‘ช้างป่า’ ในพื้นที่ต่างๆ เช่น บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยเล่าถึงขั้นตอนการผลักดันช้างป่าที่เข้าไปมาหากินในชุมชน โดยมีชุมชนและหน่วยงานภาครัฐร่วมกันแก้ไขปัญหา ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากช้างป่าในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวของชุมชนรอบๆ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งนักแสดงหนุ่มชี้ว่า หากมีการจัดการที่ดีและถูกต้อง คน สัตว์ ป่า ก็สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างสมดุลและยั่งยืน

ขณะที่ ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ที่ปรึกษาพิเศษด้านงานจิตอาสา และโครงการพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงประโยชน์ด้านนันทนาการที่มนุษย์ได้รับจากพื้นที่อนุรักษ์ในประเทศไทยที่มีมากกว่า 500 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ ตลอดจนพื้นที่เตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นแตกต่างกันไป ทั้งที่เกิดจากลักษณะของภูมิประเทศ ชนิดของป่าแต่ละแห่ง รวมถึงเรื่องฤดูกาล ช่วงเวลากลางวันหรือกลางคืน ธรรมชาติก็จะเผยความงามที่ต่างกันออกไป และสถานที่เหล่านี้ก็เปิดให้ประชาชนได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้ และสัมผัสความงดงามของธรรมชาติได้

ดร.ธีรภัทร กล่าวอีกว่า การท่องเที่ยวในพื้นที่อนุรักษ์ควรปฏิบัติตามกฎระเบียบ เช่น ไม่ส่งเสียงดังโดยเฉพาะเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นบ้านของ เพราะนอกจากเป็นการรบกวนสัตว์ป่าโดยตรงแล้ว ยังทำให้เราพลาดโอกาสสัมผัสสรรพเสียงต่างๆ ของป่า โดยแนะนำว่าควรเริ่มต้นท่องเที่ยวตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ต่างๆ ก่อน และยังทิ้งท้ายถึงประชาชนว่าอยากให้ใส่เรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่าไว้ในเป้าหมายของชีวิต เพราะเราต่างเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติได้ทุกคน

ถอดความและเรียเบเรียงจาก เสวนาหัวข้อ ระบบนิเวศสมดุล คน สัตว์ ป่า ยั่งยืน วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2567

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม