สถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลของไทย กำลังเดินทางไปสู่ความเวิ้งว้างอันว่างเปล่า หลังมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง ในมาตรา 69 ที่จะอนุญาตให้ใช้อวนตาถี่น้อยกว่า 2.5 เซนติเมตร ล้อมจับสัตว์น้ำในตอนกลางคืนในระยะมากกว่า 12 ไมล์ทะเล
โดยเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ แก้ไขมาตรา 69 ในพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. … หรือ ร่างกฎหมายประมงฉบับใหม่
จากเดิมที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำในเวลากลางคืน
แต่เนื้อความในร่างฉบับใหม่ มาตรา 69 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ในเขต 12 ไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่งในเวลากลางคืน
การประมงนอกเขตพื้นที่ 12 ไมล์ทะเลทะเลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการเงื่อนไข และพื้นที่ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวต้องกำหนดในเรื่องการใช้แสงไฟล่อไว้ด้วย
นั่นหมายความว่า หากอยู่นอกเขต 12 ไมล์ทะเล จะสามารถใช้อวนล้อมจับที่มีช่องตาเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรได้ รวมถึงใช้งานในเวลากลางคืนได้ด้วย
ซึ่งเหตุผลในการปรับปรุงแก้ไขมาตราดังกล่าว อ้างว่า มีเจตนาเพื่อ “ลดการนำเข้าปลากะตัก” โดยค่า MSY ของปลากะตัก (ปริมาณสูงสุดของสัตว์น้ำที่จะจับมาใช้ประโยชน์ได้ โดยสัตว์น้ำส่วนที่เหลือยังคงได้วางไข่และเจริญเติบโตมาทดแทนอย่างสมดุลกับปริมาณ) ยังคงเหลือเพียงพอให้จับเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยที่ไม่มีการเพิ่มจำนวนเรือจับปลากะตักมากไปกว่าที่มีอยู่เดิม และไม่เกิน MSY ที่มีอยู่
และยังมีข้อมูลระบุว่า การผ่อนปรนให้เรือจับปลากะตักทำการประมงเวลากลางคืนนอกเขต 12 ไมล์ทะเลได้ ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า (1) จะต้องมีการ “ขออนุญาต” ในการใช้อวนขนาด 6 มิลลิเมตร ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนด
(2) จะต้องมี “มาตรการควบคุม” ตามประกาศของรัฐมนตรีฯ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ควบคุมเรื่องพื้นที่ ขนาดอวน แสงไฟ จำนวนเรือ และอื่นๆ (3) จะต้อง “ไม่มีการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน” หรือสัตว์น้ำขนาดเล็กติดมาด้วยเกินกว่าที่ประกาศกำหนดตามมาตรา 57
ซึ่งหลังจากมีมติมีเห็นชอบแก้ไขมาตรา 69 ทางสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ขอให้วุฒิสภาพทบทวนมาตรา 69 กฎหมายประมงฉบับใหม่ ซึ่งจะเข้าเข้าสู่กระบวนการวุฒิสภาพหลังปีใหม่ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2568 และขอให้ทุกพรรคการเมืองได้ทบทวนอย่างลึกซึ้งอีกครั้ง
ในความตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ให้เหตุผลว่า กรณีมาตรา 69 อนุญาตให้ใช้อวนตาถี่ 3 มิลลิเมตร ล้อมจับสัตว์น้ำในเวลากลางคืนได้เป็นครั้งแรกในระบบกฎหมายไทย จะนำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศทะเล กระทบต่อพันธุ์สัตว์น้ำจำนวนมากที่อาศัยระบบนิเวศทางทะเลในการเลี้ยงดูตัวอ่อนสืบพันธุ์ และผลกระทบจะไม่เกิดเฉพาะต่อชาวประมงพื้นบ้านพาณิชย์ทุกประเภทด้วยกันเองเท่านั้น ที่ต้องอาศัยการเจริญเติบโตของฝูงปลาในการประกอบการประมง แต่ลุกลามไปยังกลุ่มนันทนาการทางทะเล การดำน้ำ ธุรกิจการนำเที่ยวตกปลา และถึงที่สุดจะกระทบต่ออาหารในจานของคนไทยทุกคน
ต่อมาวันที่ 7 มกราคม 2568 สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 โดยย้ำว่า จุดสำคัญ ของ มาตรา 69 อยู่ที่การให้ใช้ อวนตาเท่ามุ้งล้อมจับสัตว์น้ำขนาดเล็กและวัยอ่อนได้ตั้งแต่ระยะ 12 ไมล์ออกไป คือ ชะตากรรมของชาวประมงพื้นบ้านคนเล็กคนน้อย ที่ต้องแบกรับกรรมนี้ไว้เต็มบ่า โดยจะถูกอุตสาหกรรม “ไฟนรกล่อสังหาร” ดูดสัตว์น้ำวัยอ่อน และขนาดเล็กที่เป็นต้นธารอาหารในธรรมชาติไปหมด โอกาสที่ชาวประมงพื้นบ้านจะมีรายได้เลี้ยงปากท้องยิ่งน้อยลงไปอีก
ขณะที่ คณะกรรมการประสานงานกลุ่มคนพัฒนาเอกชน (กป.อพช) แสดงความคิดเห็นผ่านจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 200 ท่าน ระบุว่า มาตรา 69 ที่สาระสำคัญคือการอนุญาตให้ทำการประมงด้วยอวนตาถี่ (ขนาด 3 – 6 มิลลิเมตร) ด้วยวิธีล้อมจับโดยใช้แสงไฟล่อในเวลากลางคืนได้ ในระยะห่างจากชายฝั่ง 12 ไมล์ทะเล
มาตรา 69 คือการเอื้อให้อุตสาหกรรมการประมงไทยทำได้เป็นครั้งแรก เพราะตลอดช่วงเวลากว่า 50 ปี ที่ผ่านมาวิธีการทำประมงด้วยการ “ตีวงล้อมจับ” ด้วยอวนประเภทนี้ถูกห้ามมิกระทำมาตลอด เหตุผลเพราะ การใช้ “แสงไฟล่อ” แล้ว “ล้อมจับ” ด้วยอวนตาถี่ตามความยาว 1,000 – 2,000 เมตร มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันว่าจะจับเอาสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนในสัดส่วนมาก ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ควรได้จริงนับแสนล้านบาทต่อปี นอกจากนั้นยังจะเป็นอุตสาหกรรมการประมงที่มุ่งตักตวงผลผลิต ตัดวงจรชีวิตห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ และมีข้อมูลงานวิจัยชี้ชัดว่าเขตทะเลระดับ 12 ไมล์ทะเลออกไปนั้น เป็นพื้นที่แหล่งกำเนิดของสัตวน้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนหลากหลายชนิด
การตัดสินใจ ในการบริหารทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่อิงบนฐานข้อเท็จจริงทางวิชาการ จนอาจทำให้เกิดความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง เพียงเพื่อเอื้อให้กับกลุ่มผู้สนับสนุนคะแนนเสียงเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการกำหนด “ให้สิทธิ” ไว้ ในกฎหมายระดับ “พระราชบัญญัติ” ยิ่งจะทำให้การปรับปรุงแก้ไขความผิดพลาดนั้นกระทำได้ยากมาก และผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่กลุ่มชาวประมงทั่วไปเท่านั้น แต่กฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง ที่จะต้องสูญเสียฐานทรัพยากรการประมงอันเป็นทรัพย์สินส่วนรวมของคนทั้งประเทศ
จากเนื้อหาแถลงการณ์ที่ยกมาจะเห็นว่ามีการพูดถึงประเด็นสำคัญไว้หลายข้อตัวอย่าง เช่น การพูดถึงอวนตาเท่ามุ้ง หรือที่ชาวบ้านปชาวประมงมักเรียกว่า ‘อวนตามุ้ง’ ซึ่งเป็นอวนที่มีความห่างของช่องว่างอวนขนาดเล็กมาก
ซึ่งการใช้อวนตามุ้งหรืออวนที่มีขนาดตาเล็กมากๆ ในการทำประมงจะจับติดสัตว์น้ำวัยอ่อน หรือลูกสัตว์น้ำขนาดเล็ก ติดมากับอวนด้วย ต่างจากการใช้อวนตาขนาดใหญ่ที่มีช่องว่างเพียงพอให้สัตว์น้ำขนาดเล็กไม่ถูกจับ ขณะเดียวกันยังรวมถึงการจับสัตว์น้ำแบบผลพลอยได้ (bycatch) ขึ้นมาเป็นจำนวนมหาศาลอีก
และหากเมื่อสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับติดอวนบ่อยมากขึ้น (จากการแก้ไขมาตรา 69) จะส่งผลต่อระบบนิเวศในทะเลอย่างรุนแรง ประชากรปลาจะลดลงเพราะสัตว์น้ำวัยอ่อนไม่มีโอกาสได้เจริญเติบโต รวมถึงเป็นการทำลายห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ
คำสำคัญอีกข้อ คือ ‘ไฟนรกล่อสังหาร’ หรือหมายถึงการใช้ ‘แสงไฟล่อ’ ซึ่งปลาหลายชนิดรวมถึงปลากะตักชอบเล่นแสงไฟตอนกลางคืน เมื่อมีไฟมาล่อก็จะสามารถใช้อวนล้อมจับได้ง่าย แต่ในความเป็นจริง ช่วงเวลากลางคืนยังมีบรรดาแพลงก์ตอนให้ลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ ตามมาด้วยสัตว์น้ำวัยอ่อน และสัตว์น้ำขนาดเล็กว่ายจับแพลงก์ตอนเป็นอาหาร รวมถึงมีปลาขนาดใหญ่หลายชนิด (และเป็นปลาเศรษฐกิจ) เข้ามาร่วมวง
ทว่าตอนจนของการรวมฝูงของปลามากหน้าหลายชนิด กลับกลายเป็นการ ‘ล้อมจับ’ จากอวนครอบจับฝูงปลา ตลอดจนห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศทางทะเลทั้งหมดขึ้นเรือไป
หรือก็คือการเดินทางไปสู่ความเวิ้งว้างอันว่างเปล่า
หมายเหตุ วันที่ 13 มกราคมนี้ ทางสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย จะเคลื่อนไหวใหญ่ ปักหลักหน้าสภาฯ เพื่อติดตามและสื่อสารไปยังวุฒิสภา สังคม และสส. ที่โหวตผ่าน โดยเฉพาะมาตรา 69 ทบทวนบทบาทตนเอง ว่าจะอยู่บนผลประโยชน์ของชาติ ผลประโยชน์ประชาชนที่แท้จริง จะต้องยึดโยงกับหลักการสำคัญในการปกป้องทรัพยากรทางทะเลเพื่อคนทั้งประเทศหรือไม่
อ้างอิง
- มาตรา ๖๙ อวนล้อมจับตาถี่ในเวลากลางคืน (ยังไม่จบ)
- เตรียมพบวุฒิสภา แก้ไขมาตรา ๖๙ หยุดอวนล้อมตาถี่ทำลายสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ทำลายประชาชน
- รายละเอียด ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ 2558 พ.ศ. ….
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม