ควายป่า หรือ มหิงสา (Wild Water Buffalo) เป็นสัตว์ป่าที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย แต่ปัจจุบันสถานภาพของควายป่าถือว่าใกล้สูญพันธุ์ โดยมีการจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และมีการประเมินสถานภาพโดย IUCN ว่าอยู่ในกลุ่มใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) และการประเมินสถานภาพความเสี่ยงของสิ่งมีชีวิตในประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered)
อดีตควายป่าเคยอาศัยอยู่ตามป่าทุ่งโปร่ง พบได้เกือบทุกภูมิภาคในประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ แต่ปัจจุบันคงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี พบการกระจายตัวตลอดแนวลำห้วยขาแข้ง โดยอยู่ห่างจากลำห้วยประมาณ 50 ถึง 100 เมตร ซึ่งมีประชากรทั้งสิ้นไม่ถึง
50 ตัว ถือเป็นควายป่าฝูงเดียวและฝูงสุดท้ายในประเทศไทย
การสัมมนาเรื่องสัตว์ป่าเมืองไทยครั้งที่ 43 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 มีการพูดคุยเกี่ยวกับการอนุรักษ์ควายป่า โดยนายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้กล่าวถึง “การหวนคืนกลับสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาของควายป่าในรอบ 50 ปี”
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในการอนุรักษ์ควายป่าซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่มีสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในประเทศไทย การจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านี้เมื่อปี พ.ศ. 2515 มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องและอนุรักษ์สัตว์ป่าและถิ่นอาศัยของพวกมัน รวมถึงควายป่าที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งด้วย
ในช่วง พ.ศ. 2550 – 2559 และต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน พบว่าควายป่ามีการกระจายตัวเพิ่มขึ้นในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของประชากรควายป่าในพื้นที่นี้ นอกจากนี้ยังมีการใช้โปรแกรม MaxEnt (Maximum Entropy) ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางนิเวศกับการกระจายของควายป่า พบว่าความสูงจากระดับน้ำทะเลมีผลต่อการกระจายของควายป่ามากที่สุด โดยควายป่าชอบพื้นที่ที่ไม่สูงชันมาก และมักพบในบริเวณที่มีแหล่งน้ำและป่าไผ่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญในการวางแผนการจัดการและอนุรักษ์พื้นที่ถิ่นอาศัยของควายป่าในอนาคต
และจากรายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับประชากรควายป่า (Bubalus arnee) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยคุณช่อผกา วิจิตรตระกูลชัย (กลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์)) ซึ่งได้ดำเนินการสำรวจและประเมินความหนาแน่นของประชากรควายป่าในพื้นที่ดังกล่าว โดยใช้กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติในช่วงปี 2567 ซึ่งมีการดำเนินการสำรวจทั้งหมด 2 ครั้ง
ความก้าวหน้าครั้งที่ 1 ระยะเวลา คือ 9 พฤษภาคม – 19 มิถุนายน 2567 จำนวนกล้องที่ติดตั้งทั้งหมด 27 จุด จำนวนจุดที่ถ่ายภาพควายป่าได้ทั้งหมด 23 จุด ผลการจำแนกประชากรพบควายป่า พบควายป่า 66 ตัว เพศผู้ 20 ตัว เพศเมีย 43 ตัว และไม่สามารถจำแนกเพศได้ 3 ตัว ช่วงชั้นอายุสามารถจำแนกได้ดังนี้ ลูก 3 ตัว, วัยรุ่น 13 ตัว, ก่อนโตเต็มวัย 10 ตัว และโตเต็มวัย 40 ตัว
ความก้าวหน้าครั้งที่ 2 ระยะเวลา คือ 24 กันยายน – 24 พฤศจิกายน 2567 จำนวนกล้องที่ติดตั้งทั้งหมด 23 จุด จำนวนจุดที่ถ่ายภาพควายป่าได้ทั้งหมด 20 จุด ผลการจำแนกประชากร ซึ่งดำเนินการในลักษณะเดียวกับครั้งแรก
การวิเคราะห์ข้อมูลหลังจากการจำแนกข้อมูลประชากรควายป่าทั้งสองครั้ง ข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรม Package SECR (Efford, 2019) of R ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ที่ควายป่าใช้ประโยชน์เป็นที่ราบที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลไม่มากนัก ประมาณ 300 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จะเห็นได้ว่าข้อมูลมีความสอดคล้องกันกับหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
การจัดกลุ่มควายป่าจากการสังเกตพฤติกรรมการหากินและการอยู่ร่วมกัน พบว่ามีกลุ่มที่กระจายอยู่ในหลายบริเวณของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า การสำรวจครั้งนี้มีความสำคัญในการติดตามและอนุรักษ์ประชากรควายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย
ฉะนั้นการอนุรักษ์ควายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมีการใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในการติดตามและประเมินประชากรควายป่า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของประชากรในพื้นที่นี้ อย่างไรก็ตาม การอนุรักษ์ควายป่ายังเผชิญกับปัญหาหลายประการ เช่น การเก็บข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน การจัดการฐานข้อมูลที่ซับซ้อน และปัญหาจากสัตว์ป่าอื่น ๆ ที่อาจทำลายอุปกรณ์ในการสำรวจ
การอนุรักษ์ควายป่ารวมถึงการสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยของควายป่าควรมีการจัดการประชากรควายป่า การสำรวจพืชอาหารที่เหมาะสม และการพิจารณาความเสี่ยงด้านพันธุกรรมระหว่างควายบ้านและควายป่า นอกจากนี้ยังควรมีการจัดการชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง การอนุรักษ์ควายป่าจึงต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้สามารถรักษาสายพันธุ์นี้ให้คงอยู่ต่อไปในธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
บทความโดย ณัฐลลิดา ผลจำเริญ