ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้อ่านอาจพบเรื่องราวของกวางผา เสือปลา พญาแร้ง ควายป่า ตลอดจนปลาซิวสมพงษ์ ปรากฏบนช่องทางสื่อสารของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรอยู่เป็นระยะๆ
เหตุผลสำคัญที่ต้องกล่าวถึงมากหน่อย นั่นเพราะสัตว์ป่าทั้ง 5 ชนิด อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จำเป็นต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองดูแลอย่างเข้มข้นในทุกๆ มิติ ทั้งเรื่องของการฟื้นฟูจำนวนประชากร รวมถึงการมีส่วนร่วมในงานอนุรักษ์จากภาคสาธารณชน
ขณะเดียวกัน มูลนิธิสืบฯ ได้ดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่าที่กล่าวไปร่วมกับภาคีเครือข่าย หน่วยงานและองค์กรอนุรักษ์ ตลอดจนสถาบันการศึกษา ร่วมกันฟื้นฟูจำนวนประชากรให้รอดพ้นจากสถานะอันน่าเป็นห่วง
และเหนืออื่นใด งานอนุรักษ์สัตว์ป่าที่มูลนิธิสืบฯ ได้ดำเนินการอยู่นับจากอดีตจนถึงปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแต่ชนิดสัตว์ป่าที่เกริ่นถึง แต่ยังหมายรวมถึงภาพใหญ่ในการปกป้องบ้านของสัตว์ป่า และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม
เนื่องในวันอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งชาติ 26 ธันวาคม จึงชวน ภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มาบอกเล่าเรื่องราวที่มาที่ไปของงานอนุรักษ์สัตว์ป่าที่มูลนิธิสืบฯ ได้ดำเนินการทั้งเรื่องในอดีต จนถึงปัจจุบัน
นอกจากเรื่องราวของ กวางผา เสือปลา พญาแร้ง ควายป่า และปลาซิวสมพงษ์ กับคำที่คุณสืบ นาคะเสถียร เคยบอกว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า” นั้นสานต่อมาอย่างไร
ชวนอ่าน “เราขอพูดในนามของสัตว์ป่า” ภารกิจอนุรักษ์สัตว์ป่ามูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภารกิจของมูลนิธิสืบฯ ที่พูดเรื่องการรักษาป่าใหญ่เป็นอันดับแรกนั้นมีความหมายต่อสัตว์ป่าอย่างไร
มูลนิธิสืบนาคะเสถียรมีภารกิจชัดเจนในเรื่องการปกป้องพื้นที่อนุรักษ์ที่มีขนาดใหญ่ อย่างเช่นกลุ่มป่าตะวันตก และอีกส่วนคือพื้นที่ที่มีคุณค่าความสำคัญทางระบบนิเวศต่อสัตว์ป่า เราจะเห็นว่าการทำงานของมูลนิธิสืบฯ ตลอด 35 ปีที่ผ่านมา เราทำงานในกลุ่มป่าตะวันตกหรือพื้นที่อนุรักษ์ที่มีขนาดใหญ่ๆ ผ่านการคัดค้านกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่ามาโดยตลอด
สาเหตุที่เราต้องปกป้องพื้นที่ขนาดใหญ่ และพื้นที่ที่มีคุณค่าความสำคัญเชิงระบบนิเวศเป็นลำดับแรก เนื่องจากว่าสัตว์ป่ามีปัจจัยในการดำรงชีวิตอยู่ 3 เรื่องหลักๆ ด้วยกัน เรื่องแรกคือถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีขนาดใหญ่และมีความต่อเนื่องกัน เราลองนึกภาพสัตว์ป่าที่อาศัยในพื้นที่ที่ถูกบุกรุกทำลายจนกระทั่งพื้นที่กลายเป็นเกาะแก่ง สัตว์ป่าไม่อาจเคลื่อนย้ายไปมาได้ ไม่สามารถขยายพันธุ์ สืบพันธุ์ มันก็ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ได้ ถ้าพื้นที่มีความต่อเนื่องกันสัตว์ป่าจะมีโอกาสกระจายที่อยู่อาศัย สามารถไปเจอกับสัตว์ป่าในกลุ่มอื่นๆ เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ ขยายเผ่าพันธุ์ ทำให้สายพันธุ์มีความเข้มแข็งมากขึ้น ยิ่งมีผืนป่าขนาดใหญ่เท่าไหร่ โอกาสรอดของสัตว์ป่ามันก็มีความเป็นไปได้สูงเช่นกัน
ประการที่สอง พื้นที่ขนาดใหญ่หมายถึงมีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ ทำให้สัตว์ป่าสามารถเคลื่อนย้ายกระจายตัวไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม เพียงพอต่อความต้องการของสัตว์ป่าแต่ละกลุ่ม และส่วนสุดท้าย การที่เรามีพื้นที่ขนาดใหญ่ทำให้เรามีระบบในการปกป้อง คุ้มครองดูแล มันคือพื้นฐานสำคัญที่มูลนิธิสืบฯ มองว่าการรักษาป่าผืนใหญ่เป็นการปกป้องคุ้มครองสัตว์ป่าได้นั่นเอง
วิธีการปกป้องป่าใหญ่ของมูลนิธิสืบฯ ดำเนินการอย่างไร
สำหรับการปกป้องป่าผืนใหญ่ มีกิจกรรมหลักๆ 3 เรื่อง ประกอบด้วย การเฝ้าระวังนโยบายที่มีผลกระทบกับผืนป่า และตัวสัตว์ป่าที่อยู่ในพื้นที่ตรงนั้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่อนุรักษ์ โครงการพัฒนาเส้นทาง หรือกิจกรรมโครงการอื่นๆ ของรัฐที่จะเข้าไปในพื้นที่ เพราะหากมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้น มันมีโอกาสทำให้ผืนป่าถูกฉีกขาดถูกแบ่งแยกออกจากกันได้สูง รวมถึงยังมีเรื่องของการล่า การแย่งพื้นที่ หรือการทำให้ตัวสัตว์ป่าไม่สามารถหากินในบริเวณนั้นได้ การเฝ้าระวังนโยบายและกิจกรรมที่มีผลกระทบถือเป็นภารกิจแรกที่มูลนิธิสืบฯ ให้ความสำคัญและพยายามเฝ้าระวังพื้นที่เหล่านี้มาโดยตลอด
เรื่องที่สอง คือการหนุนสริมความเข้มแข็งของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในการปกป้องคุ้มครองพื้นที่ ผ่านการตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า เพื่อสนับสนุนสวัสดิการสวัสดิภาพแก่เจ้าหน้าที่ ทำให้เขาสามารถดูแลคุ้มครองพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนที่สาม เป็นการสนับสนุนการทำงาน เช่น เรื่องการสื่อสาร บอกเล่าเรื่องราวไปสู่สังคม เพื่อให้คนในประเทศมีส่วนร่วมเฝ้าระวัง ติดตามกิจกรรมที่มีผลกระทบกับผืนป่า และช่วยกันส่งเสียงแทนกับผืนป่าและสัตว์ป่า ไม่ให้ถูกโครงการพัฒนาเข้าไปกระทำกับพื้นที่ได้
ในอดีตมูลนิธิสืบฯ มี ‘กองทุนสัตว์ป่า’ กองทุนนี้จัดตั้งขึ้นเพื่ออะไร ปัจจุบันมีสถานะเป็นอย่างไร
กองทุนสัตว์ป่าจัดตั้งขึ้นหลังการก่อตั้งมูลนิธิสืบฯ มาได้ระยะหนึ่ง และคณะกรรมการเห็นว่าควรตั้งกองทุนสัตว์ป่าขึ้นมา ในช่วงแรกมูลนิธิสืบฯ ใช้งบประมาณจากกองทุนสัตว์ป่าเพื่อการศึกษาวิจัย การจัดทำฐานข้อมูลเพื่อเอามาใช้วางแผนบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่เราต้องการในเวลานั้น
ต่อมากองทุนสัตว์ป่าถูกใช้เพื่อสนับสนุนงานติดตามประชากรของสัตว์ป่า หรืองานวิจัยสัตว์ป่าอย่างเข้มข้นในแต่ละชนิด เช่น เสือโคร่งในกลุ่มป่าตะวันตกและในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นหลัก แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมกับกองทุนสัตว์ป่ามากนัก เนื่องจากมีฐานข้อมูลที่จำเป็นค่อนข้างมากแล้ว แต่ในอนาคตเรากำลังวางแผนฟื้นฟูกองทุนสัตว์ป่าขึ้นอีกครั้ง อาจเป็นการนำโครงการที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่าที่มูลนิธิสืบฯ กำลังดำเนินการ เช่น ควายป่า เสือปลา พญาแร้ง และสัตว์อื่นๆ ที่มีความสำคัญเข้ามาดำเนินงานภายใต้กองทุนสัตว์ป่าในอนาคต
ปัจจุบันมูลนิธิสืบฯ ทำงานด้านการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าอยู่หลายชนิดด้วยกัน มูลนิธิสืบฯ ใช้เกณฑ์อะไรตัดสินใจว่าจะทำงานกับสัตว์ป่าชนิดใด
เกณฑ์ในการตัดสินใจมาจากข้อมูล เราติดตามและประเมินข้อมูลสัตว์ป่าแต่ละชนิดมาโดยตลอด โดยมีคณะกรรมการที่ทำงานด้านวิชาการมาช่วยประเมินว่ามีสัตว์ชนิดไหนที่เราควรเข้าไปทำงานอย่างเข้มข้น เพื่อให้สัตว์ป่าที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในพื้นที่นั้นๆ ยังคงอยู่ และสัตว์ป่าชนิดนั้นได้รับการประกาศว่ามีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่งตามบัญชีแดงไอยูซีเอ็น รวมถึงการพูดคุยกับหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ องค์กรภาคีเครือข่าย ทั้งสถาบันการศึกษา นักวิจัย หรือคนดูแลพื้นที่อนุรักษ์แต่ละแห่งว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่เพื่อร่วมมือกันดำเนินการ
จะมีกรณีพิเศษ คือ กวางผา เพราะกวางผาเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ตามบัญชีแดงไอยูซีเอ็น ขณะเดียวกันยังเป็นสัญลักษณ์ของมูลนิธิสืบฯ และเป็นสัตว์ป่าที่คุณสืบ นาคะเสถียร เคยเดินทางไปศึกษาวิจัยในพื้นที่ดอยม่องจอง ซึ่งงานที่คุณสืบเคยทำไว้หลายๆ เรื่อง คณะกรรมการเห็นควรว่าต้องสืบสานการทำงานในเรื่องนี้ต่อ กวางผาเลยเป็นสัตว์ชนิดแรกที่ถูกพูดถึง เป็นความสัมพันธ์ที่มูลนิธิสืบฯ จะต้องให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูดูแลประชากร จึงเกิดเป็นโครงการติดตามกวางผาขึ้นมา
โครงการติดตามประชากรกวางผาดำเนินการในด้านไหนอย่างไร
เรื่องของกวางผา มูลนิธิสืบฯ ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกคนเห็นตรงกันว่าจำนวนประชากรยังไม่น่าเป็นห่วง แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือ ภาวะเลือดชิด หรือ Inbreeding ทำให้ประชากรกวางผามันเริ่มมีลักษณะยีนส์ด้อยปรากฏให้เห็น มีอาการเขาเก เขาหัก หรือว่าร่างกายเล็กลง ไม่แข็งแรง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักวิชาการต่างกังวล มูลนิธิสืบฯ จึงออกแบบงานมา 3 ส่วน เรื่องแรกคือการประเมินจำนวนประชากรให้มีความชัดเจน กวางผาในประเทศไทยเหลืออยู่กี่ตัวอาศัยอยู่ในผืนป่าใดบ้าง เป็นงานที่มูลนิธิสืบฯ ให้การสนับสนุนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการ
งานที่สอง เรื่องตรวจสอบดีเอ็นเอของกวางผา ทั้งกวางผาในธรรมชาติและที่อยู่ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า เพื่อประเมินว่ากวางผาแต่ละตัวมาจากกลุ่มครอบครัวไหน เมื่อเรารู้ว่ามาจากกลุ่มประชากรใด ในการปล่อยกวางผาคืนสู่ธรมชาติก็จะมีขั้นตอนการเลือกกลุ่มประชากรที่มีสายพันธุ์ไม่ตรงกับที่อยู่เดิม เพื่อให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรม
ส่วนที่สาม คือ การสนับสนุนงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนงานพิทักษ์ป่า การสร้างจุดสกัดในพื้นที่หล่อแหลมต่อการคุกคามทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ สนับสนุนการทำงานร่วมกับสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า
โครงการต่อมา เป็นเรื่องเสือปลา
สัตว์ชนิดที่สองที่มูลนิธิสืบฯ เริ่มทำโครงการไล่เลี่ยกับกวางผาคือ เสือปลา ซึ่งพบว่าปัญหาหลักของเสือปลาในธรรมชาติมีจำนวนประชากรลดลง เพราะถิ่นอาศัยของเสือปลามีการเปลี่ยนสภาพหรือเปลี่ยนการใช้ประโยชน์โดยมนุษย์ เช่น พื้นที่รอบๆ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จากเดิมเป็นป่าละเมาะ ป่าธรรมชาติ ป่าสาธารณะ แต่ภายหลังมีการพัฒนาเป็นบ่อกุ้งบ่อปลา ทำให้ถิ่นที่อยู่ของเสือปลาถูกเปลี่ยนสภาพ และที่สำคัญบ่อกุ้งบ่อปลากลายเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของเสือปลาที่อาศัยในบริเวณนั้น เลยทำให้เกิดความขัดแย้งเรื่องการใช้พื้นที่ระหว่างคนกับสัตว์ป่าเกิดขึ้น และเพราะเสือปลาไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ตัวของเสือปลาจึงไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างจริงจัง โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน รอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดจึงเกิดขึ้น
โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลาฯ มีกิจกรรมหลักๆ 3 ส่วน คือ งานศึกษาวิจัย เพราะต้องการข้อมูลที่ชัดเจนว่าถิ่นที่อยู่อาศัยมีสถานภาพเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงข้อมูลของเสือปลา เราอยากทราบว่าเสือปลากินอะไร ใช้พื้นที่มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้จะใช้เป็นฐานการออกแบบการทำงาน
ส่วนที่สอง เรื่องสร้างการมีส่วนร่วมกับชาวบ้านและชุมชนในพื้นที่ ให้เขาได้มีบทบาทช่วยกันปกป้องอนุรักษ์กับทางเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เพราะเสือปลาเข้ามาอาศัยในพื้นที่ของชุมชน ดังนั้น ชุมชนควรมีส่วนร่วมตรงนี้ด้วย ซึ่งงานของมูลนิธิสืบฯ คือ การส่งเสริมอาชีพ ลดความขัดแย้ง มีงานติดตั้งกล้องสังเกตว่าเสือปลาเข้ามาพื้นที่ใดในชุมชนบ้าง เพื่อเฝ้าระวังได้อย่างชัดเจน รวมถึงหนุนเสริมเรื่องกรงเลี้ยงสัตว์แก่ครัวเรือน กองทุนเยียวยา และเรื่องอื่นๆ ที่ลดความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือปลาลง
ส่วนสุดท้าย คือ งานผลักดันเชิงนโยบาย หรือเรื่องการบริหารจัดการ เพื่อให้ตัวเสือปลาอยู่ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ได้ เช่น การติดตามโครงการพัฒนาในพื้นที่บริเวณที่อยู่อาศัยของเสือปลา หรือบางกิจกรรมที่รัฐได้พัฒนาไปแล้ว เช่น เรื่องของทางรถไฟ หรืออื่นๆ เป็นการศึกษาผลกระทบและให้ความเห็นต่อนโยบายเหล่านี้
โครงการสำรวจแบบมีส่วนร่วมเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์ในประเทศไทย
ต้องยอมรับว่าสถานภาพของปลาซิวสมพงษ์เป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์เหมือนกัน และอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีการคุ้มครองดูแลใดๆ เลย แถมยังเป็นพื้นที่ที่มนุษย์ใช้ประโยชน์ในทุ่งธรรมชาติ โครงการนี้ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ หนึ่งในคณะกรรมการของมูลนิธิสืบฯ ค่อนข้างเป็นห่วงและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จึงขอเป็นผู้รับผิดชอบดูแลโครงการโดยตรง ไปทำงานในพื้นที่อำภอปากพลี จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวของที่ราบภาคกลางที่ยังไม่มีโครงการก่อสร้างหรือโครงการของรัฐที่เข้าไปทำให้พื้นที่เสื่อมสภาพ ไม่เหมือนกับที่ราบลุ่มภาคกลางบริเวณอื่นๆ ปลาซิวสมพงษ์จึงยังอาศัยอยู่ได้ อย่างไรก็ดี ในอดีตปลาซิงสมพงษ์เคยกระจายอยู่ทั่วไปในที่ราบกลางภาค เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าสิ่งสำคัญ คือ การคุ้มครองพื้นที่ และกลับมาตอบคำถามว่าทำไมมูลนิธิสืบฯ ถึงเน้นเรื่องของการคุ้มครองดูแลพื้นที่มากกว่าเรื่องของตัวสัตว์เป็นชนิดๆ
งานของโครงการปลาซิวสมพงษ์ฯ จะคล้ายกับโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลาฯ เช่น ทำข้อมูลของปลาซิวสมพงษ์ให้เกิดความชัดเจนว่ากลุ่มประชากรอยู่ตรงไหนบ้าง ส่วนที่สอง คือ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ให้เข้ามาช่วยดูแล และในอนาคต คือ จะพยายามเพิ่มประชากรปลาซิวสมพงษ์ที่อยู่ในธรรมชาติให้เขามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น (หมายเหตุ – ปัจจุบันโครงการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์ได้ขยายการทำกิจกรรมออกไป เป็นโครงการสนับสนุนชุมชน ในการอนุรักษ์ทุ่งน้ำหลาก อันเป็นระบบนิเวศที่สำคัญของปลาซิวสมพงษ์ ที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์)
ควายป่าที่ห้วยขาแข้ง
ควายป่าเป็นสัตว์ที่ถูกพูดถึงกันมานานมากว่าเราเหลือประชากรหลักกลุ่มสุดท้ายอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เราต้องให้ความสำคัญ ต้องคุ้มครองดูแล แต่ที่ผ่านมากลับไม่ค่อยมีโครงการหรือกิจกรรมเฉพาะในการอนุรักษ์ควายป่าในพื้นที่บริเวณนั้นเลย ในด้านหนึ่งผืนป่าห้วยขาแข้งคือพื้นที่คุ้มครองที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่สำหรับควายป่าที่มีประชากรเหลืออยู่ไม่ถึง 100 ตัว มันจำเป็นต้องมีมาตรการโครงการหรือกิจกรรมคุ้มครองประชากรที่เหลืออยู่ให้มากขึ้น มูลนิธิสืบฯ จึงสนใจทำโครงการฟื้นฟูประชากรควายป่าและถิ่นที่อยู่อาศัยในประเทศไทยขึ้น โดยได้พัฒนาโครงการร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อเข้าไปทำงานในพื้นที่อย่างเข้มข้น
ปีที่ผ่านมา มูลนิธิสืบฯ ร่วมกับกลุ่มงานวิชาการของสำนักบริหารจัดการพื้นที่ 12 นครสวรรค์ เข้าไปประเมินประชากรในพื้นที่โดยการตั้งกล้องดักถ่ายภาพ เพื่อตรวจดูประชากรว่ามีอยู่ทั้งหมดเท่าไหร่ รวมถึงการศึกษาเรื่องถิ่นอาศัย และแหล่งอาหารของควายป่า ศึกษาศักยภาพพื้นที่ว่ามีความเหมาะสมต่อการรองรับประชากรได้แค่ไหน ถ้าเรามีโอกาสไปฟื้นฟูพื้นที่อื่นๆ ที่มีความเหมาะสม เราควรวางแผนการบริหารพื้นที่อย่างไร เนื่องจากเราคาดหวังถึงการพัฒนาศักยภาพพื้นที่อื่นๆ ที่มีศักยภาพในการรองรับควายป่า เพื่อให้ควายป่าได้มีโอกาสกระจายประชากรไปอยู่ในจุดอื่นๆ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะตอนล่างของห้วยขาแข้ง และเพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ในระยะยาว บทบาทหนึ่งของมูลนิธิสืบฯ คือ การดึงประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์คุ้มครองดูแล เราไม่ได้มองว่าการคุ้มครองดูแลพื้นที่เป็นภารกิจของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหรือของหน่วยงานที่ดูแลตามกฎหมายเท่านั้น แต่ประชาชนควรมีโอกาสร่วมกันดูแล และอีกสิ่งที่สำคัญ จะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ในระยะยาวอย่างยั่งยืน เป็นอีกเรื่องที่ท้าทายการทำงานในอนาคต
เรื่องพญาแร้งที่สูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 30 ปี
ในประเทศไทยพญาแร้งสูญพันธุ์มากว่า 30 ปีแล้ว เราไม่พบประชากรพญาแร้งในธรรมชาติอีกเลย แต่โชคดีที่ยังมีพญาแร้งอยู่ในสวนสัตว์ และที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รวมทั้งหมด 6 ตัว โดยโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ งานแรกที่เราทำ คือสร้างกรงในธรรมชาติที่หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยทำกรงขนาดใหญ่เลียนแบบธรรมชาติเพื่อนำพญาแร้งมาปรับตัวและสืบขยายพันธุ์ในพื้นที่ธรรมชาติ หลังทำงานมาปีที่สองเราก็ได้ลูกตัวแรกจากสวนสัตว์นครราชสีมา และปีที่สามได้ลูกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ปัจจุบันลูกตัวที่เกิดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีการทำกรงอนุบาลเพิ่มเติมเพื่อนำลูกมาอยู่ในกรงอนุบาล และให้คู่พ่อแม่พญาแร้งสามารถทำรังวางไข่ต่อไปได้อีก ในอนาคตถ้าจำนวนประชากรมีความมั่นคงเพียงพอ ก็มีโอกาสปล่อยคืนธรรมชาติ
งานต่อมา คือ การทำงานประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจกับชุมชนที่อยู่โดยรอบและสาธารณชน เพราะในอดีตเรามองพญาแร้งเป็นสัตว์เป็นสัตว์กินซาก เป็นสิ่งสกปรก เป็นสัตว์ที่ไม่น่าสนใจ ถ้าเจอก็จะกำจัดทิ้ง แต่เราพยายามทำให้สังคมตระหนักว่าแร้งมีความสำคัญ เขามีความน่ารักในตัวของเขา ไม่ใช่สัตว์ที่ดูน่ากลัว เกี่ยวข้องกับความตาย หรือสิ่งสกปรก เป็นเรื่องที่มูลนิธิสืบฯ รับโจทย์การบ้านมาเพื่อสื่อสารผ่านสื่อของโครงการ อีกส่วนคือดึงให้สาธารณชนเข้าไปเรียนรู้เรื่องของพญาแร้งในพื้นที่ และการทำงานกับชุมชนโดยรอบขอบป่าห้วยขาแข้ง เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องนี้
สุดท้าย คืองานระดมทุน เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการระยะยาว จำเป็นต้องมีทุนทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาเรามีกิจกรรมจำหน่ายเสื้อและของที่ระลึกอื่นๆ รวมถึงเปิดรับบริจาคโดยตรงกับบัญชีของโครงการฯ เพื่อสนับสนุนการทำงานตรงนี้ (โครงการพญาแร้งคืนถิ่น ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส รัตนาธิเบศร์ บัญชีเลขที่ 679-6-72119-5)
การทำงานเรื่องสัตว์ป่าของมูลนิธิสืบฯ ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายจากหลายภาคส่วน ต่อเรื่องนี้มองว่ามีความสำคัญอย่างไร
ในวันนี้ต้องยอมรับว่าการทำงานอนุรักษ์ ไมใช่เรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานเดียว จำเป็นต้องประสานการทำงานร่วมกัน การประสานความร่วมมือนี้ไม่ใช่แค่การทำงานร่วมกันอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงเรื่ององค์ความรู้ที่แต่ละหน่วยงานมี เพราะแต่ละหน่วยงานจะมีความถนัดไม่เหมือนกัน มีศักยภาพในการดำเนินกิจกรรมแตกต่างกัน หรือกระทั่งเรื่องงบประมาณที่ต้องเอามาบูรณาการการทำงานหรือเสริมการทำงานของโครงการต่างๆ
งานฟื้นฟูคุ้มครองประชากรสัตว์ป่าของมูลนิธิสืบฯ จึงเห็นว่ามีหน่วยงานภาคีเครือข่าย สถาบันการศึกษา หรือกลุ่มบุคคลต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม และทุกๆ โครงการต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกัน หรือมีชื่อร่วมกัน เพื่อให้การทำงานสามารถตอบโจทย์ครบทุกมิติที่เราต้องการ เรามองว่าการช่วยกันเติมเต็มจะทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำเร็จผลตามเป้าหมายได้อย่างชัดเจน
ตัวอย่างโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ เห็นได้ชัดเลยว่าองค์ความรู้จากองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้านเพาะขยายพันธุ์สามารถนำมาใช้ฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในพื้นที่ได้ หรือการเก็บข้อมูลดีเอ็นเอในกวางผาก็ได้คณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นแกนหลักในการช่วยเหลือ สิ่งต่างๆ ตรงนี้มีความสำคัญ เราต้องช่วยกันหรือก้าวเดินไปด้วยกันในการคุ้มครองดูแลทั้งพื้นที่และประชากรสัตว์ป่าที่มีสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพื่อให้เขาสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน
นอกจากงานฟื้นฟูสัตว์ป่ารายชนิด และติดตามนโยบาย มูลนิธิสืบฯ ยังมีโครงการที่ดูแลสัตว์ป่าในทางอ้อมอื่นๆ อีก มีโครงการอะไรบ้าง
ขอเริ่มที่โครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อแนวเชื่อมต่อป่าตะวันตกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงการนี้เกิดขึ้นเพราะผืนป่าระหว่างพื้นที่อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้ากับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียงมันขาดจากกัน ตัวสัตว์ป่าไม่สามารถเคลื่อนย้ายประชากรไปมาระหว่างพื้นที่ทั้งสองแห่งได้ แนวคิดของเราคือทำให้ผืนป่าทั้งสองแห่งเชื่อมถึงกัน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นตัวป่าเท่านั้น สามารถเป็นการปรับปรุงพื้นที่เกษตรกรรมหรือการฟื้นฟูธรรมชาติในพื้นที่ให้เอื้อประโยชน์ต่อสัตว์ป่าได้ และสิ่งสำคัญเมื่อสัตว์ป่าเคลื่อนย้ายไปมาจะต้องมีความปลอดภัย นั่นคืองานสร้างการรับรู้ต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ การดูแลปกป้องอย่างมีส่วนร่วม และสิ่งสำคัญเมื่อประชาชนเข้ามาร่วมโครงการต้องได้รับประโยชน์กลับไปที่ตัวชุมชนด้วย โครงการจึงมุ่งเรื่องการส่งเสริมอาชีพคนในชุมชนให้มีวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่า
หรือโครงการที่เราดำเนินมาเกือบ 20 ปี คือ โครงการสมุนไพรอินทรีย์ในผืนป่าตะวันตก เราต้องการให้ชุมชนมีอาชีพที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันอาชีพก็สามารถเอื้อประโยชน์ในการอนุรักษ์ได้ การทำสมุนไพรอินทรีย์ คือ ไม่ใช้สารคเมีในพื้นที่ มีส่วนช่วยเรื่องการฟื้นฟูป่า และตัวสมุนไพรยังมีเรื่องของตลาดรับส่ง เพื่อให้เกิดระบบหมุนเวียนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องขอขอบคุณมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศที่เห็นความสำคัญกับการทำงานกับชุมชน และสนับสนุนโครงการนี้มาโดยตลอด
อีกโครงการ คือ เรื่องการเฝ้าระวังสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ ในโซนพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพราะการปกป้องสัตว์ป่าในสองพื้นที่มีประสิทธิภาพดีจนสัตว์ป่าเพิ่มจำนวนประชากร สัตว์ป่าบางส่วนเริ่มกระจายออกมาแนวขอบป่า บางตัวเริ่มเข้าไปรบกวนประชาชนที่ใช้ประโยชน์พื้นที่ตามแนวกันชน จนกลายเป็นความขัดแย้ง นำไปสู่การใช้ความรุนแรง มูลนิธิสืบฯ จึงเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อหามาตรการแก้ปัญหา
คิดว่าในปัจจุบัน สาธารณชนให้ความสำคัญกับเรื่องของสัตว์ป่ามากน้อยแค่ไหน
สิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างดีใจและก็เห็นในปัจจุบัน คือเราให้ความสำคัญกับสัตว์หลายๆ ชนิดเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหมูเด้ง ฮิปโปแคระ หรือว่าสัตว์อีกหลายๆ ชนิด ที่อยู่ในสวนสัตว์ สัตว์เหล่านี้เป็นตัวแทนของสัตว์ป่าที่มีอยู่ในธรรมชาติและเป็นตัวแทนของสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งบทบาทของมนุษย์ คือ ความรับผิดชอบที่จะดูแลพวกเขาให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เป็นอารยธรรมที่พวกเราควรคำนึงถึง แล้วเป็นสิ่งที่ทำให้ความเป็นมนุษย์ของเรามีความสมบูรณ์มากขึ้น
เรื่องของการคำนึงถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อยู่ในโลกของเรา การพยายามทำทุกวิถีทางให้เพื่อนเราสามารถอยู่ร่วมกับเราในโลกใบนี้ได้ นั่นคือความเป็นมนุษย์ที่อยากให้ทุกคนตระหนัก และเข้ามามีส่วนร่วมในการคุ้มครองดูแลเพื่อนร่วมโลกของเรา
ทิ้งท้าย ถึงคำพูดของคุณสืบ นาคะเสถียร “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า”
สถานการณ์ของสัตว์ป่าในวันนี้กำลังถูกคุกคามอย่างชัดเจน สัตว์ป่าหลายๆ ชนิดได้สูญพันธุ์ไปจากโลกใบนี้แล้ว การที่คุณสืบออกมาปกป้องแล้วก็พยายามสื่อสาร “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า” เป็นคำพูดที่คนในสังคมไม่เคยคิดถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพราะเขาพูดไม่ได้ ไม่สามารถสื่อสารกับเราได้ ว่าวันนี้มันเกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้าง และเขาสูญเสียอะไรไปบ้าง บ้านของเขา ถิ่นที่อยู่อาศัยของเขา
บทบาทของคนทำงานอนุรักษ์อย่างคุณสืบหรือพวกเราทุกคน คือพยายามสื่อสารแทนกลุ่มสัตว์ป่าที่เขาไม่สามารถออกมาพูดออกมากับสาธารณชนได้ งานที่มูลนิธิสืบฯ ทำ คือพยายามสื่อสารเรื่องของผืนป่า สัตว์ป่า เรามีหน้าที่ออกมาบอกกล่าวทำให้ตัวสาธารณชนได้รับรู้ว่าปัจจุบันมันเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาบ้าง แล้วเราควรดูแลพวกเขาอย่างไรบ้าง เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของเรามูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม