ชื่อโครงการ : สนับสนุนชุมชน ในการอนุรักษ์ทุ่งน้ำหลากอันเป็น ระบบนิเวศที่สำคัญของปลาซิวสมพงษ์ ที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์
Name of Project : Participatory conservation of floodplain: key habitats of critically endangered Somphong’s Rasbora Trigonostigma somphongsi
ได้รับสนับสนุนทุนโครงการขนาดเล็ก จาก Critical Ecosystem Partnership Fund (CEPF) ดำเนินการโดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เพื่อรักษาพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุด และกำลังอยู่ในภาวะถูกคุกคามที่สุดระดับโลกในการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
องค์กรผู้ดำเนินโครงการ
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร 140 ถ.ติวานนท์ ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี 11000 โทร. 02 580 4381
ผู้บริหารองค์กร
นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อีเมล [email protected]
ผู้รับผิดชอบโครงการหลัก
ดร. ชวลิต วิทยานนท์ กรรมการวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร บ้านเลขที่ 92/45 ซ. ปรีดี 45 คลองตัน เขตวัฒนา กทม. 10110 โทร. 08 6640 4950 อีเมล [email protected]
พื้นที่โครงการ
ต.ท่าเรือ ทั้งตำบล อ.ปากพลี จ.นครนายก และพื้นที่รอยต่อใกล้เคียงในจ.นครนายกและปราจีนบุรี เนื้อที่ราว 150 ตร.กม. ระหว่างละติจูดที่ 14 องศา 0 ลิปดาเหนือ กับ 14 องศา 6 ลิปดาเหนือ และลองจิจูดที่ 101 องศา 12 ลิปดาตะวันออก กับ 101 องศา 17 ลิปดาตะวันออก พื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของทางเชื่อมของพื้นที่สำคัญยิ่งทางนิเวศวิทยาของโลกสามแห่ง คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลาน และปางสีดา โดยเป็นที่ราบลุ่มต่ำรับน้ำท่วมตามธรรมชาติ (แก้มลิง) ผืนสุดท้ายของลุ่มน้ำบางปะกง
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
1 กรกฏาคม 2567 – 30 มิถุนายน 2568 (12 เดือน)
ยุทธศาสตร์โครงการ
เพื่อปกป้องปลาซิวสมพงษ์ประชากรสุดท้ายของโลกที่ถูกคุกคาม โดยการลดภัยคุกคามที่สำคัญ โดย
1. สร้างความยั่งยืนให้กับการอนุรักษ์ในระยะยาว ผ่านการปกป้องถิ่นอาศัยและกลุ่มประชากรหลักปลาซิวสมพงษ์
2. ปรับปรุงข้อมูลสถานภาพของประชากรปลาซิวสมพงษ์ เพื่อใช้ในการรักษาระบบนิเวศ สภาพต่างๆ ของพื้นที่สุดท้าย
3. ให้การสนับสนุนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับชุมชนถึงจังหวัดเพื่อดำเนินการกิจกรรมที่สำคัญในท้องถิ่น
หลักการและเหตุผล
อนุรักษ์ก่อนจะสูญพันธุ์
ปลาซิวสมพงษ์ Trigonostigma somphongsi (Meinken, 1958) อยู่ในวงศ์ปลาซิว (Danionidae) ในอันดับปลาตะเพียน ซิว รากกล้วย (Cypriniformes) เป็นชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นของไทย พบเฉพาะในลุ่มน้ำบางปะกงตอนกลางที่จังหวัดนครนายกและปราจีนบุรี เป็น 1 ใน 100 สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งของโลก (Baillie, J.E.M. & Butcher, E. R., 2012) มีสถานภาพตามเกณฑ์ IUCN Redlist ระดับโลกใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered-CR) (Vidthayanon, C. 2013) และเป็น 1 ใน 10 ชนิดพันธุ์ของโครงการอนุรักษ์ถิ่นอาศัยของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีความสำคัญระดับโลก มีในพื้นที่ภาคการผลิตของประเทศไทย โดยเป็นชนิดที่ต้องได้รับการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน เพราะมีโอกาสสูงมากที่จะสูญพันธุ์หากไม่ดำเนินการใดๆ
จากการสำรวจข้อมูลล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2566 พบว่า ประชากรปลาซิวสมพงษ์มีแนวโน้มลดลงจากปัจจัยคุกคามหลักคือ 1 การระบาดของจอกหูหนูยักษ์ 2 การเปลี่ยนพื้นที่เป็นบ่อปลาและ 3 การจับมากเกินขนาด โดยมีการประเมินขนาดพื้นที่ที่พบทั้งหมดในโลก/ไทย (EOO) รวมแล้ว น้อยกว่า 100 ตารางกิโลเมตร และขนาดพื้นที่ถิ่นอาศัยจริงในฤดูแล้ง (AOO) น้อยกว่า 0.001 ตารางกิโลเมตร ในปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดที่ทำงานอนุรักษ์หรือมีแผนงานเพื่ออนุรักษ์ปลาชนิดนี้โดยตรง
สภาพการใช้ประโยชน์ของแหล่งที่พบ และแหล่งอื่นๆที่เหมาะสมในการปล่อยคืน เพื่อเป็นแนวทางการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์ โดยระบุพื้นที่ที่มีประชากรและศักยภาพเชิงอนุรักษ์ คือพื้นที่ชุ่มน้ำในอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก และพื้นที่ในศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี
พื้นที่โครงการทั้งหมด
ขนาดราว 150 ตร.กม. อยู่ในพื้นที่ทั้งต.ท่าเรือ อ.ปากพลี จ.นครนายก และพื้นที่รอยต่อ ใน ต.ปากพลี อ.ปากพลี และต.บ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี เป็นที่ราบลุ่มต่ำรับน้ำท่วมตามธรรมชาติ (แก้มลิง) ผืนสุดท้ายของลุ่มน้ำบางปะกง และเป็นระบบนิเวศใกล้สูญพันธุ์จากที่ราบภาคกลางของประเทศไทย
พื้นที่โครงการส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยและทำการเกษตรของชาวบ้านแถบนั้น ซึ่งถือครองที่ดินระหว่าง 10-100 ไร่ วงจรชีวิตและวงจรธรรมชาติส่วนใหญ่เป็นไปตาตามวงจรน้ำธรรมชาติ การเกษตรส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าวปีละ 1 ครั้ง เกือบทั้งหมดเป็นข้าวต้นสูงหนีน้ำสำหรับปลูกในทุ่งน้ำท่วม โดยเป็นถิ่นปลูกข้าวหนีน้ำที่มีพื้นที่กว้างที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงปลาในบ่อแบบจับขายปีละ 1 รอบ ส่วนใหญ่เป็นปลาเกล็ดทั่วไปและปลาดุกบิ๊กอุย และพื้นที่บางส่วนใช้ปลูกแตงโมในฤดูแล้ง
เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นการทำนาแบบไม่ใช้สารเคมี เพราะน้ำท่วมสูงจะพัดพาสารเคมีไปหมด ระบบนิเวศจึงดี และยังมีความหลากหลายตามธรรมชาติของห่วงโซ่อาหารที่สมบูรณ์ มีทั้งพืชและสัตว์ในน้ำและในทุ่ง พบปลามากกว่า 90 ชนิด พืชน้ำมากกว่า 20 ชนิด และสัตว์น้ำอื่นๆหลายชนิด เมื่อน้ำเริ่มลดจะมีหนู งู และนกน้ำจำนวนมาก รวมทั้งนกนักล่าอพยพ จำพวกเหยี่ยว อินทรี และแร้ง รวมหลายพันตัวเข้ามาพักอาศัยในฤดูหนาว เกิดเป็นนิเวศบริการต่อมนุษย์และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายรูปแบบตามไปด้วย
พื้นที่ทั้ง ต.ท่าเรือ อ.ปากพลี จ.นครนายก
อยู่ทางฝั่งตะวันออกของโครงการ เป็นพื้นที่ต่ำกว่าพื้นที่โดยรอบ ขนาดราว 75 ตร.กม. สภาพโดยรวมเป็นพื้นที่แอ่งกะทะที่น้ำหลากท่วมทุ่งสูงและนานกว่าในตำบลอื่นๆของนครนายกและปราจีนบุรี ทำให้วิถีชีวิตของคนทั้งตำบลผูกพันกับระบบนิเวศแบบทุ่งน้ำหลากโดยตรง และในพื้นที่ยังมีพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่เป็นทุ่งน้ำหลากขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง คือทุ่งใหญ่ปากพลี ซึ่งเป็นแหล่งดูนกที่สำคัญแหล่งหนึ่งของไทย ทำให้ชุมชนคุ้นเคยกับกิจกรรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้วในระดับหนึ่ง
คณะทำงานโครงการได้มีการหารือกับผู้นำชุมชน ต.ท่าเรือหลายครั้ง พบว่าชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษฺสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ และต้องการการสนับสนุนด้านความรู้และเทคนิคในการอนุรักษ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมทั้งการสนับสนุนทรัพยากรด้านต่างๆเพื่อให้ชาวบ้านทั้งตำบลเกิดความตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์พื้นที่ร่วมกัน และในปัจจุบัน คณะกรรมการบริหารตำบลท่าเรือ ได้กำหนดทิศทางของการจัดทำแผนพัฒนาตำบลในปี พ.ศ. 2564 จากการประชาคมหมู่บ้านทั้ง 8 หมู่บ้านไว้ว่า “การเกษตรก้าวไกล อาหารปลอดสารพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นโอกาสดีที่การทำงานโครงการและความต้องการของชุมชนเป็นไปในทิศทางใหญ่เดียวกัน
กลุ่มผู้นำชุมชนจึงเริ่มเห็นความจำเป็นในการทำให้ทุ่งใหญ่ปากพลีเป็นพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเพื่อบริหารจัดการพื้นที่เชิงอนุรักษ์ เช่น การเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งเวดล้อม และเริ่มสนใจในความเป็นไปได้ที่จะเสนอพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ (Ramsar Site )
ความจำเป็นเร่งด่วนของโครงการ
ปลาซิวสมพงษ์ แม้ไม่ได้ถูกล่าโดยตรง แต่ก็ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งจากการสูญสูญเสียถิ่นอาศัยที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติที่มีคุณภาพดีอย่างวิกฤติเช่นกัน รวมทั้งจากการที่แทบไม่มีคนรู้จักและตระหนักถึงความสำคัญของมัน ในฐานะเป็นชนิดพันธุ์ที่เป็นธงนำและตัวบ่งชี้คุณภาพและความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ชุมน้ำที่ดี ความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ของปลาซิวสมพงษ์ไปจากโลก จึงเท่ากับความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะสูญเสียระบบนิเวศที่เป็นที่ราบลุ่มต่ำรับน้ำท่วมตามธรรมชาติ (แก้มลิง) ผืนสุดท้ายของลุ่มน้ำบางปะกงไปด้วย และพื้นที่โครงการจะเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญระดับชาติ คือที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่แม่น้ำบางปะกง ซึ่ง IUCN จะเสนอให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ แต่ก็ยังไม่มีงบประมาณหรือการดำเนินการใดๆ ลงไปทำงานในพื้นที่ร่วมกับชุมชนในประเด็นนี้โดยตรง ทำให้ชุมชนเองรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลาง ขาดข้อมูล ความรู้ และการตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและใกล้สูญพันธ์ที่ตนเองมีอยู่ ซึ่งหากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ โดยเร่งด่วน ทรัพยากรที่สำคัญเหล่านี้มีโอกาสที่จะสูญเสียไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้อีก
ดังนั้นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน คือ การเสริมศักยภาพและอำนาจชุมชนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับดูแลระบบนิเวศของท้องถิ่น รวมทั้งประสานเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรระดับต่างๆ ที่สามารถสนับสนุนการดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์พื้นที่อย่างยั่งยืนให้เข้ามามีส่วนร่วมในงานสำคัญนี้ร่วมกัน
เป้าหมาย
ประชากรปลาซิวสมพงษ์และถิ่นอาศัยสุดท้ายได้รับการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมจากชุมชนและสร้างความสำคัญในระดับที่กว้างขึ้น
วัตถุประสงค์
1. นำองค์ความรู้จากผลของโครงการที่ผ่านมา ใช้เป็นแผนอนุรักษ์ให้แก่ชุมชนและสำรวจเพิ่มเติมเพื่อให้ทันเหตุการณ์
2. อนุรักษ์ระบบนิเวศสำคัญของปลาซิวสมพงษ์ คือทุ่งน้ำหลากอย่างยั่งยืน และทำให้เกิดความสำคัญไปสู่นโยบายหลักอย่างน้อยระดับจังหวัด
3. เสริมสร้างสมรรถนะ แก่ทุกภาคส่วนในชุมชนในการดูแลรักษานิเวศทุ่งน้ำหลาก รวมถึงภาคการศึกษา
กิจกรรม
1. สำรวจเพิ่มเติมด้านประชากรปลาซิวสมพงษ์และความหลากหายทางชีวภาพของทุ่งน้ำหลาก และทำแผนที่ภูมิประเทศล่าสุด ร่วมกับชุมชน
2. ประชุมและปฎิบัติการกับผู้มีส่วนร่วม ชุมชนและหน่วยราชการต่างๆเพื่อหาความร่วมมือและวางแผนระดับชุมชนถึงจังหวัดในการอนุรักษ์ปลาซิวฯ ในวิธีต่างๆ เช่น การกำหนดมาตรการการประมงปลาซิวฯ การเพาะเลี้ยงและฟื้นฟูถิ่นอาศัย การทำนาน้ำลึกและพันธุ์ข้าวที่เพิ่มผลกำไร เป็นต้น
3. การทำกิจกรรมและผลิตสื่อใช้ในการเผยแพร่และกิจกรรมในโรงเรียบ ผู้สนใจทั่วไป
ภาคีผู้ร่วมงาน/ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการ
คณะผู้ดำเนินโครงการ
หัวหน้าโครงการ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายทางชีวภาพ กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ผู้ประสานงานโครงการ นางจารุปภา วะสี
ผู้นำชุมชน นายประทีป บุญเทียน กำนัน ต. ท่าเรือ อ. ปากพลี
ผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจปลา ดร. สิทธิ กุหลาบทอง กรรมการสมาคม เซฟ ไวล์ดไลฟ์ ไทยแลนด์
กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการ
เป็นผู้มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการ คือ ชุมชนในพื้นที่โครงการ ปราชญ์ชาวบ้าน และองค์กรในพื้นที่ คือ คณะกรรมการบริหารตำบลท่าเรือ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ โรงเรียนวัดโพธิ์ปากพลี โรงเรียนวัดลำบัวลอย ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนตำบลท่าเรือ กลุ่มอนุรักษ์นกเหยี่ยวปากพลี และสถาบันเกษตรอินทรีย์แบบพอเพียงตำบลท่าเรือ ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี ประมงอำเภอปากพลี ซึ่งจะเป็นทั้งผู้ให้และรับความรู้ และได้รับการเสริมศักยภาพด้านการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์และถิ่นอาศัย และสามารถร่วมตัดสินใจในการกำหนดแนวทางด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน
กลุ่มเป้าหมายรองของโครงการ
เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการในระดับต่างๆ มีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูล ความเห็น ร่วมปรึกษาหารือ และเป็นเครือข่ายสนับสนุนการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์และถิ่นอาศัย รวมทั้งนำผลดำเนินงานจากโครงการไปใช้ต่อยอดในการทำงานได้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
องค์กรระดับพื้นที่ คือ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นครนายก ปราจีนบุรี และลุ่มน้ำบางปะกง ได้แก่ อำเภอปากพลี องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครนายก ประมงจังหวัดนครนายก ปศุสัตว์อำเภอปากพลี สถานีพัฒนาที่ดิน จ.นครนายก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จ.นครนายก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ และกลุ่มใบไม้
องค์กรส่วนกลาง คือ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านพื้นที่ชุ่มน้ำในระดับประเทศ คือ กรมประมง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำ
ความยั่งยืนในระยะยาว/ศักยภาพในการนำไปปฏิบัติ
นอกจากเป้าหมายระยะยาวในการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์และถิ่นอาศัยอย่างยั่งยืนแล้ว สิ่งที่จะเกิดกับชุมชนในพื้นที่โครงการคือ การเสริมศักยภาพของกลุ่มผู้นำชุมชน ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของปลาซิวสมพงษ์และถิ่นอาศัย จนเกิดเป็นกลุ่มคนทำงานอนุรักษ์ระดับพื้นที่ ที่สามารถนำข้อมูลและความรู้ทั้งที่ระเบิดจากชุมชนและที่จากการร่วมกันทำงานในโครงการไปใช้ในการตัดสินใจด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน และเสริมสร้างสิทธิอันชอบธรรมในการดำเนินวิถีชีวิตอยู่อย่างเท่าเทียมและมีศักดิ์ศรี และยังสามารถต่อยอดไปสู่การเข้าร่วมกับเครือข่ายการอนุรักษ์เพิ่มเติมที่กว้างขึ้น ทั้งในระดับลุ่มน้ำ ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และเป็นแนวร่วมสนับสนุนและต่อยอดในการดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์พื้นที่อย่างยั่งยืน โดยสอดคล้องกับแผนของหมู่บ้าน ตำบล และการท่องเที่ยวของจังหวัด จนถึงการอนุวัติตาม (ร่าง) พรบ. ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่กำลังดำเนินการ โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นคณะดำเนินการหลักในการนำเสนอสู่มาตรการต่างๆ ตามมติ ครม. เช่น การเสนอพื้นที่เป็นแรมซาร์ไซต์ และพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนองเขตคุ้มครอง (OECM)