วงกลม แทน ธรรมชาติ
สี่เหลี่ยม แทน สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น
ทรงกลม แทน การคุ้มครองโลก
รวมเป็น ‘สิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ อันหมายถึงมรดกทางวัฒนธรรมใด ๆ นั้น ย่อมมีความจำเป็นต้องอยู่ภายใต้วงล้อมของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยไม่อาจแยกขาดออกจากกันได้’
ความหมายที่บ่งชี้ถึงลักษณะของรูปสี่เหลี่ยมที่ซ้อนอยู่ในวงกลม ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของความเป็น ‘มรดกโลก (World Heritage)’
มรดกโลกคืออะไร?
‘มรดกโลก’ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2515 ผ่านอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ (Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage) โดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) และได้กำหนดนิยามของมรดกโลกไว้ว่า ‘มรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติที่มีคุณค่าโดดเด่นเป็นเลิศในระดับสากล ควรค่าที่จะรักษาไว้’
โดยได้แบ่งประเภทของแหล่งมรดกโลกทั้งหมด 3 ประเภท คือ 1. มรดกโลกทางวัฒนธรรม (Cultural World Heritage) 2. มรดกโลกทางธรรมชาติ (Natural World Heritage) และ 3. มรดกโลกแบบผสมระหว่างวัฒนธรรมและธรรมชาติ (Mixed Cultural and Natural World Heritage)
นิยามของมรดกโลกทางธรรมชาติ
‘มรดกโลกทางธรรมชาติ’ หมายถึงพื้นที่ที่มีคุณค่าโดดเด่นในระดับสากล ทั้งในด้านความงดงามของธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ ธรณีวิทยา หรือธรณีสัณฐาน รวมถึงพื้นที่ที่เป็นถิ่นอาศัยของชนิดพืชและสัตว์ที่ถูกคุกคาม มีคุณค่าในการอนุรักษ์ ความงดงาม และความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างชัดเจน
หลักเกณฑ์ในการเป็นแหล่งมรดกโลก
ในการพิจารณาเพื่อเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น ยูเนสโกได้กำหนดเกณฑ์การพิจารณาด้าน ‘คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล’ จำนวน 10 ข้อ แบ่งเป็นเกณฑ์ทางด้านวัฒนธรรมจำนวน 6 ข้อ (เกณฑ์ข้อที่ 1-6) และเกณฑ์ทางด้านธรรมชาติจำนวน 4 ข้อ (เกณฑ์ข้อที่ 7-10)
โดยมีเงื่อนไขคือ การเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมต้องผ่านอย่างน้อย 1 ข้อ ในเกณฑ์ข้อที่ 1-6 และทางธรรมชาติต้องผ่านอย่างน้อย 1 ข้อ ในเกณฑ์ข้อที่ 7-10 ส่วนมรดกโลกแบบผสมระหว่างวัฒนธรรมและธรรมชาติ ต้องผ่านอย่างน้อย 1 ข้อ ในเกณฑ์ข้อที่ 1-6 และต้องผ่านอย่างน้อย 1 ข้อ ในเกณฑ์ข้อที่ 7-10
สำหรับข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม มีทั้งหมด 6 ข้อ คือ
หลักเกณฑ์ข้อที่ 1 เป็นตัวแทนที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ ด้านศิลปกรรม หรือตัวแทนของความงดงาม และเป็นผลงานชิ้นเอก ที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดยิ่ง
หลักเกณฑ์ข้อที่ 2 แสดงถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือในพื้นที่วัฒนธรรมใด ๆ ของโลก ผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือทางเทคโนโลยี อนุสรณ์ศิลป์ การวางแผนบ้านเมือง หรือการออกแบบภูมิทัศน์
หลักเกณฑ์ข้อที่ 3 เป็นเอกลักษณ์ หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม
หลักเกณฑ์ข้อที่ 4 เป็นตัวอย่างของลักษณะโดยทั่วไปของสิ่งก่อสร้าง อันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรืออุตสาหกรรม
หลักเกณฑ์ข้อที่ 5 เป็นตัวอย่างลักษณะอันเด่นชัด หรือของขนบธรรมเนียมประเพณี แห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ที่มีความเปราะบางด้วยตัวมันเอง หรือเสื่อมสลายได้ง่าย เพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรมที่ไม่สามารถกลับคืนดังเดิมได้ หรือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
หลักเกณฑ์ข้อที่ 6 มีความคิดหรือความเชื่อเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือบุคคลที่มีความสำคัญ หรือความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์
ในส่วนของข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการประเมินเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ มีทั้งหมด 4 ข้อ คือ
หลักเกณฑ์ข้อที่ 7 เป็นแหล่งที่เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่มีความโดดเด่นเห็นได้ชัด หรือพื้นที่ที่มีความงามตามธรรมชาติหาพื้นที่อื่นเปรียบเทียบไม่ได้
หลักเกณฑ์ข้อที่ 8 เป็นตัวอย่างที่มีความโดดเด่นสะท้อนถึงวิวัฒนาการความเป็นมาของโลกในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน ซึ่งรวมไปถึงร่องรอยของสิ่งมีชีวิต หรือกระบวนการทางธรณีวิทยาที่สำคัญ อันทำให้เกิดรูปลักษณ์ของแผ่นดินหรือลักษณะธรณีสัณฐานหรือลักษณะภูมิประเทศที่สำคัญ
หลักเกณฑ์ข้อที่ 9 เป็นตัวอย่างที่มีความโดดเด่นสะท้อนถึงกระบวนการนิเวศวิทยา และชีววิทยาซึ่งก่อให้เกิด และมีพัฒนาการของระบบนิเวศทางบก ระบบนิเวศน้ำจืดหรือระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงสังคมพืชและสัตว์
หลักเกณฑ์ข้อที่ 10 เป็นถิ่นอาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นอาศัยเดิม รวมไปถึงถิ่นอาศัยของชนิดพืชและ/หรือชนิดสัตว์ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก
ประเทศไทยได้เข้าร่วมและเป็นสมาชิกในอนุสัญญานี้ เมื่อ พ.ศ. 2530 และได้รับการประกาศให้ขึ้นทะเบียนพื้นที่เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2534 ปัจจุบันประเทศไทย มีพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง
เป็นแหล่งมรดกทางธรรมชาติ ‘แห่งแรก’ ของไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2534 จากการผลักดันและเสนอชื่อโดย สืบ นาคะเสถียร เป็นหนึ่งในพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญของแหล่งพันธุ์พืช 3 เขตภูมิศาสตร์ คือ Indo-Burma, Annametic และ Malesia ซึ่งมีความหลากหลายทางระบบนิเวศ ด้วยคุณสมบัติโดดเด่นทำให้ผ่านเกณฑ์มรดกโลกทางธรรมชาติถึง 3 ข้อ คือ
หลักเกณฑ์ข้อที่ 8 เป็นตัวอย่างที่มีความโดดเด่นสะท้อนถึงวิวัฒนาการความเป็นมาของโลกในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน ซึ่งรวมไปถึงร่องรอยของสิ่งมีชีวิต หรือกระบวนการทางธรณีวิทยาที่สำคัญ อันทำให้เกิดรูปลักษณ์ของแผ่นดินหรือลักษณะธรณีสัณฐานหรือลักษณะภูมิประเทศที่สำคัญ
หลักเกณฑ์ข้อที่ 9 เป็นตัวอย่างที่มีความโดดเด่นสะท้อนถึงกระบวนการนิเวศวิทยา และชีววิทยาซึ่งก่อให้เกิด และมีพัฒนาการของระบบนิเวศทางบก ระบบนิเวศน้ำจืดหรือระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงสังคมพืชและสัตว์
หลักเกณฑ์ข้อที่ 10 เป็นถิ่นอาศัยที่มีความสำคัญสูงสุด สำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นอาศัยเดิม รวมไปถึงถิ่นอาศัยของชนิดพืชและ/หรือชนิดสัตว์ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก
กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 2 ของไทย เมื่อปี พ.ศ. 2548
กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ประกอบด้วยพื้นที่คุ้มครอง 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ มีเนื้อที่รวมกันทั้งสิ้น 3,854,082.53 ไร่ หรือ 6,152.13 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด อาทิ เสือโคร่ง วัวแดง กระทิง และช้างป่า
ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่น ทำให้ผ่านเกณฑ์มรดกโลกทางธรรมชาติ ในหลักเกณฑ์ข้อที่ 10 เป็นถิ่นอาศัยที่มีความสำคัญสูงสุด สำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นอาศัยเดิม รวมไปถึงถิ่นอาศัยของชนิดพืชและ/หรือชนิดสัตว์ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก
กลุ่มป่าแก่งกระจาน
พื้นที่ล่าสุดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ และเป็นแห่งที่ 3 ของไทย เมื่อปี พ.ศ. 2564
กลุ่มป่าแก่งกระจาน ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี รวมพื้นที่ 2,938,909.84 ไร่ เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วย เขตสัตวภูมิศาสตร์ Sundaic, Sino-Himalayan, Indochinese และ Indo-Burmese มีความสำคัญอย่างยิ่ง และมีความหลากหลายทางชีวภาพ
อีกทั้งยังพบสัตว์ที่หายาก อาทิ จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย สมเสร็จ เสือโคร่ง ช้าง กระทิง รวมถึงเป็นแหล่งต้นน้ำของพื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอด และพื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
กลุ่มป่าแก่งกระจาน ก็มีคุณสมบัติโดดเด่นทำให้ผ่านเกณฑ์มรดกโลกทางธรรมชาติ ในหลักเกณฑ์ข้อที่ 10 เป็นถิ่นอาศัยที่มีความสำคัญสูงสุด สำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นอาศัยเดิม รวมไปถึงถิ่นอาศัยของชนิดพืชและ/หรือชนิดสัตว์ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก
การเป็นมรดกโลกไม่เพียงแต่เป็นการแสดงความสำคัญของพื้นที่เท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่คอยย้ำเตือนถึงความรับผิดชอบและความตระหนักในการปกป้องและส่งต่อทรัพยากรที่มีคุณค่าเหล่านี้ให้กับคนรุ่นหลัง เพราะการได้สถานะมรดกโลกนั้นยากแล้ว แต่การรักษาความเป็นมรดกโลกไว้เป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่า
อ้างอิง
- What is World Heritage?
- The Criteria for Selection
- คู่มือการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและแหล่งมรดกทางธรรมชาติเป็นแหล่งมรดกโลก
- กลุ่มป่าแก่งกระจาน มรดกโลก มรดกแห่งมวลมนุษยชาติ
ผู้เขียน
สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว