คลิปวีดีโอแม่เสือโคร่งพร้อมลูกน้อยอีกสองตัวเดินตามหลังกันในผืนป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เผยแพร่โดย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF เมื่อกว่า 10 ปีก่อน นับเป็นประจักษ์พยานชิ้นสำคัญลำดับต้นๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้
เพราะการดำรงอยู่ของเสือ ย่อมหมายถึงความสมบูรณ์ของเหยื่อ และความอุมดมสมบูรณ์ของเหยื่อย่อมหมายถึงการมีถิ่นอาศัยที่เหมาะสม ตลอดจนการบริการจัดการพื้นที่อย่างมีศักยภาพ และดำเนินกิจกรรมนั้นมาอย่างต่อเนื่อง
หลังจากนั้น เกือบทศวรรษต่อมา มีรายงานการพบเสือโคร่งอุทยานแห่งชาติแม่วงก์มากกว่า 10 ตัว ตลอดจนพบต่อเนื่องไปถึงป่าอนุรักษ์ข้างเคียง
เนรมิต สงแสง อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เคยออกมาให้ข้อมูล ณ เวลาที่ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2565 ระบุว่า ผืนป่าแม่วงก์มีเสือโคร่งอยู่ทั้งหมด 11 ตัว หรือหากนับที่เคลื่อนที่ไปมาระหว่างอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน และอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า พบเสือโคร่งรวมทั้งสิ้น 14 ตัว
โดยอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์อธิบายต่อว่า การดำรงอยู่ของเสือโคร่งกว่า 10 ตัวนี้ เกิดจากการการทำงานที่หลากหลาย ทั้งงานวิจัยเรื่องการติดตามประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่าโดยกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ การปรับปรุงและฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและแผนการปล่อยสัตว์กีบคืนสู่ธรรมชาติ การส่งเสริมระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ของชุมชนและโรงเรียนรอบพื้นที่ โดยมีภาคีเครือข่ายหน่วยงานสิ่งแวดล้อมร่วมให้การสนับสนุน
หรือในผืนป่าที่ต่อเนื่องกันในด้านเหนืออย่างอุทยานแห่งชาติคลองลานก็พบความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่านานาชนิดที่มีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่ากัน เช่น ในปี พ.ศ. 2563 งานสื่อสารของอุทยานแห่งชาติคลองลาน ได้เผยแพร่คลิปวีดีโอเสือดาวและเสือดำเดินอวดโฉมอยู่กลางผืนป่า พร้อมถ้อยคำอธิบายความว่า “ผืนป่าคลองลานยังคงความอุดมสมบูรณ์ เพราะช่วงที่ผ่านมาไม่มีใครเข้าไปรบกวน หรือว่าน้องเสือดาวกับเสือดำ จะออกมาย้ำเตือนไม่ให้เราลืมเลือนเรื่องของพวกเขากัน”
เรื่องราวที่เกริ่นมานี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงอุดมสมบูรณ์ของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลาน รวมถึงพื้นที่อนุรักษ์ข้างเคียง ที่มีอาณาเขตเชื่อมร้อยมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวร
แต่ก็เป็นน้ำหนักอันหนักแน่นมากพอต่อการเสนอให้ผืนป่าทั้งสองแห่งได้รับการยกระดับและถูกรับรองเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติในกลุ่มป่าตะวันตก ต่อจากผืนป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ที่ยูเนสโกให้การรับรองมาก่อนในปี พ.ศ. 2534
โดยสามารถยกเหตุผลเรื่องการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายาก หรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ตามเกณฑ์ข้อ 10 เป็นเหตุผลของความเหมาะสมต่อการเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติได้อย่างไม่เคอะเขิน
แนวคิดการนำเสนอให้ผืนป่าแม่วงก์และคลองลานเป็นอุทยานแห่งชาตินั้น ถูกพูดถึงกันมานาน โดย ศศิน เฉลิมลาภ เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการผลักดันการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์อย่างเข้มข้น
ในหนนั้น ศศิน ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “ถ้ารัฐบาลมีวิสัยทัศน์ เสนออุทยานแม่วงก์ให้เป็นมรดกโลกเลย ที่สวยกว่าห้วยขาแข้งด้วย แล้วให้มีการสร้างศูนย์วิจัยสัตว์ป่า เชิญฝรั่งมาดู ก็จะเป็นรายได้คืนสู่ท้องถิ่น”
แนวคิดการเสนอให้อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และคลองลานเป็นมรดกโลก มิได้มีเพียงมูลนิธิสืบนาคะเสถียร องค์กรเดียวที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แต่ยังมีภาคประชาชนร่วมผลักดัน เช่น การสร้างแคมเปญผ่าน change.org ร่วมลงชื่อให้ “ป่าแม่วงก์” เป็นมรดกโลก มีผู้ลงชื่อรวมกว่า 20,000 ราย และได้ยื่นรายชื่อต่อ ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ระหว่างงานเสวนา 25 ปี มรดกโลก ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง สู่การจัดการผืนป่าตะวันตก 20 ล้านไร่ จัดโดย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ก่อนที่ต่อมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก แพนเทอรา (Panthera) ประเทศไทย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และ สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ได้ส่งหนังสือถึง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ณ เวลานั้น) เรื่อง ขอให้เร่งดำเนินการผนวกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์-คลองลาน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของป่ามรดกโลกทางธรรมชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง
เนื้อความสำคัญของหนังสือฉบับนั้น ระบุว่า จากการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า พบว่าในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนเสือโคร่ง ที่เกิดในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ย้ายเข้ามาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์–คลองลาน และบางตัวได้มาอยู่ประจำในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และมีครอบครัว ซึ่งนับว่าเป็นความสำเร็จขั้นแรกที่เสือแต่ละตัวสามารถย้ายออกไปอาศัยยังผืนป่าอื่นได้ นอกจากเสือโคร่งแล้วยังพบสัตว์ป่าในพื้นที่ เช่น เสือดำ/เสือดาว เสือลายเมฆ เสือไฟ แมวลายหินอ่อน แมวดาว เก้ง กวาง หมูป่า กระทิง นกเงือกคอแดง อีกด้วย
อุทยานแห่งชาติทั้งสองแห่งนี้จึงถือว่ามีความเหมาะสมต่อการขยายเป็นพื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลกเพิ่มเติม ความสำเร็จอีกประการหนึ่งของการจัดการทรัพยากรสัตว์ป่าคือการร่วมแรงร่วมใจทำงานของเจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงความร่วมมือของชุมชนรอบพื้นที่ป่า การทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย จนกลายเป็นความสำเร็จของการฟื้นฟูผืนป่าตะวันตก
ดังนั้น องค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ดังรายชื่อแนบท้าย พิจารณาร่วมกันและเห็นพ้องว่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์-คลองลาน มีศักยภาพและมีความพร้อมในการเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติส่วนขยายเพิ่มเติมจากพื้นที่มรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า
หรือหากกล่าวในเกณฑ์การพิจารณาความเป็นพื้นที่มรดกโลก พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์-คลองลาน ต่างก็เข้าเกณฑ์อย่างต่ำ 3 ข้อ พร้อมเหตุผล ประกอบด้วย
เกณฑ์ข้อที่ 7 ความโดดเด่นของธรรมชาติที่สวยงามเป็นอัศจรรย์ คือ ความสวยงามของลำน้ำแม่วงก์ ความสวยงามตระการตาของน้ำตกขนาดใหญ่ต่างๆ ทั้งในคลองลาน และแม่วงก์ มีป่าดิบเขาผืนใหญ่เทือกเขาโมกูจู เป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากในแต่ละปี
เกณฑ์ข้อที่ 9 ความโดดเด่นของขบวนการทางนิเวศวิทยา ชีววิทยา และวิวัฒนาการ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าใหญ่ คือผืนป่าตะวันตก เป็นแหล่งเสริมสร้างกระบวนการทางธรรมชาติให้กับผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง อย่างชัดเจน เนื่องจากได้รับการฟื้นฟูต่อเนื่องมากว่า 30 ปี ไม่มีชุมชนอาศัย มีความหลากหลายของระบบนิเวศ ตั้งแต่ระบบนิเวศป่าที่ราบต่ำริมลำน้ำแม่วงก์ ไปจนถึงระบบนิเวศป่าดิบเขาสูงเทือกเขาโมกูจู
เกณฑ์ข้อที่ 10 ความโดดเด่นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และชนิดพันธุ์ที่คุกคามใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลก เนื่องจากเป็นที่รองรับการกระจายของประชากรเสือโคร่ง ช้างป่า วัวแดง และอื่นๆ ที่ฟื้นฟูจากผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง
ความคืบหน้าการผลักดันผืนป่าแม่วงก์-คลองลาน เป็นมรดกโลกนั้น ดูมีความหวัง เมื่อนายวราวุธ ศิลปอาชา ได้กล่าวถ้อยแถลงไว้ใน วันคล้ายวันสถาปนากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ครบรอบ 19 ปี ในความตอนหนึ่ง ได้กล่าวถึง การผลักดันพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน และพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์-คลองลาน เป็นมรดกโลก
ขณะเดียวกัน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้จัดทำ เอกสารการจัดการป่าตะวันตก 20 ล้านไร่ และการเสนอคุณค่าของผืนป่าตะวันตกสู่มรดกโลก เพื่ออ้างอิงข้อคิดเห็นว่า ณ ปัจจุบัน งานอนุรักษ์ในพื้นที่นอกเหนือจากผืนป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง มีความพร้อมสำหรับการพิจารณาให้ทั้งกลุ่มป่า หรือพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ก่อนจะเน้นย้ำถึงศักยภาพของผืนป่าแม่วงก์และคลองลานเป็นสำคัญ และระบุเป็นแผนงานตามยุทธศาสตร์การทำงานในปี พ.ศ. 2567 เรื่องติดตามและสนับสนุนการเสนอพื้นที่แม่วงก์-คลองคลานเป็นมรดกโลก
สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ของการเสนอผนวกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์-คลองลาน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลก เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา (มีนาคม พ.ศ. 2567) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ส่งหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องขอติดตามความคืบหน้าผนวกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์-คลองลาน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกทางธรรมชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง และได้รับหนังสือตอบกลับมีเนื้อความดังนี้
สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอเรียนว่า ได้มอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องไปแล้ว หากมีผลการดำเนินการเป็นประกาใด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะแจ้งให้มูลนิธินาคะเสถียรทราบโดยตรงต่อไป
ซึ่งหวังว่ามีข่าวดีเกิดขึ้นในอนาคต
อ้างอิง
- เสือโคร่ง 11 ตัว ในพื้นที่ป่าแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ดัชนี ตัวชี้วัด ความสมบูรณ์ของผืนป่า
- ตะลึง เปิดกล้องป่าแม่วงก์ พบเสือโคร่ง 14 ตัว วัวแดงที่หายไป 40 ปี วันนี้กลับมาแล้ว
- อุทยานฯ อวดโฉม “เสือดาว-เสือดำ” แห่งคลองลาน ชาวเน็ตแห่อวยพรขอให้ปลอดภัยอยู่คู่ผืนป่าไทยไปนานๆ (ชมคลิป)
- “ศศิน” แนะ รบ.เสนอ “แม่วงก์” เป็นมรดกโลก วอน สผ.ทำงานยึดความถูกต้อง
- ร่วมลงชื่อให้ “ป่าแม่วงก์” เป็นมรดกโลก
- ยื่นกว่า 2 หมื่นรายชื่อดันป่าแม่วงก์-คลองลาน เป็นมรดกโลก
- เร่งดำเนินการผนวกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ – คลองลาน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของป่ามรดกโลก
- กรมอุทยานฯ จัดงานครบรอบ 19 ปี “ธรรมชาติสมดุล ป่าไม้เป็นทุนเกื้อหนุนสัตว์ป่า”
- เอกสารการจัดการป่าตะวันตก 20 ล้านไร่ และการเสนอคุณค่าของผืนป่าตะวันตกสู่มรดกโลก
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม