ผู้นำเก่งเราจะรอดกันหมด ว่าด้วยพฤติกรรมและลักษณะที่เหมาะสม? ที่สัตว์ใช้ในการเลือกจ่าฝูงประจำกลุ่ม

ผู้นำเก่งเราจะรอดกันหมด ว่าด้วยพฤติกรรมและลักษณะที่เหมาะสม? ที่สัตว์ใช้ในการเลือกจ่าฝูงประจำกลุ่ม

ถ้าต้องเลือกผู้นำสักคน คงอยากได้แบบที่เก่งที่สุดมากกว่า

คงจะดีไม่ใช่น้อย หากตำแหน่งที่มีความสำคัญมากที่สุด เกิดจากความสมัครใจและข้อตกลงร่วมกันของทุกฝ่าย การเลือกผู้นำเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติในสังคมมนุษย์ ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากหลายปัจจัย ทั้งองค์ความรู้ ความสามารถ วิสัยทัศน์ นโยบาย หรือแม้แต่การเข้าถึงและเข้าใจปัญหาของคนทั่วไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ล้วนต้องใช้วิจารณญาณในการตัดสินทั้งสิ้น

ไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้นที่ต้องการผู้นำ สัตว์สังคมทุกชนิดต่างก็ต้องการที่พึ่งอย่างผู้นำหรือจ่าฝูงไว้ประจำกลุ่มด้วยเช่นกัน แต่พวกเขาจะมีวิธีการพิจารณาหรือตัดสินใจอย่างไร ว่าใครเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับตำแหน่งผู้นำสูงสุดในกลุ่ม วันนี้แอดมินชวนหาคำตอบว่าสัตว์มีพฤติกรรมการเลือกจ่าฝูงอย่างไร ต้องมีลักษณะแบบใดถึงจะได้เป็นจ่าฝูง และการมีจ่าฝูงที่ดีจะทำให้พวกเขาอยู่รอดในสังคมได้อย่างไร

ทำไมสัตว์ถึงต้องมีจ่าฝูง?

‘จ่าฝูง’ ถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญในกลุ่มสัตว์สังคมหรือสัตว์ที่อยู่รวมกันเป็นฝูง มีหน้าที่สำคัญในการนำพาฝูงไปยังแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ หรือสถานที่ปลอดภัย และยังต้องคอยปกป้องฝูงจากอันตรายหรือภัยคุกคามต่าง ๆ ที่จะเข้ามา 

จ่าฝูงมักเป็นสัตว์ที่มีความแข็งแกร่ง ฉลาด มีประสบการณ์ และมีความสามารถในการนำและดูแลสมาชิกในฝูง สัตว์ทุกตัวในฝูงจะต้องปฏิบัติตามจ่าฝูง เนื่องจากเห็นว่ามีลักษณะและความสามารถในการตัดสินใจที่เป็นประโยชน์ต่อความอยู่รอดของตัวเองและตัวอื่น ๆ ในฝูงได้

ตัวอย่างการเลือกจ่าฝูงในสัตว์ชนิดต่าง ๆ

การศึกษาพฤติกรรมการเลือกจ่าฝูง จะช่วยให้เห็นถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกและอิทธิพลของจ่าฝูงต่อพฤติกรรมของสมาชิกในฝูง โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีลำดับชั้นและความซับซ้อนทางสังคมในฝูง อย่างหมาป่า (wolf)

หมาป่า มักอาศัยอยู่เป็นกลุ่มที่มีการจัดระเบียบชัดเจน โดยมีจ่าฝูงที่เรียกว่า อัลฟ่า (alpha) ซึ่งเป็นหมาป่าที่แข็งแกร่ง ฉลาด และมีความสามารถในการนำพาฝูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การที่หมาป่าตัวใดตัวหนึ่งจะขึ้นมาเป็นจ่าฝูงได้นั้น เกิดจากการแสดงพลัง ความฉลาด และความสามารถในการปกป้องฝูง รวมถึงการได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกในฝูง หมาป่าที่เป็นจ่าฝูงจะต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ เช่น การหาอาหาร การเลือกถิ่นอาศัย อาณาเขต หรือการปกป้องฝูงจากภัยคุกคาม การเป็นจ่าฝูงไม่ใช่แค่ต้องแข็งแกร่งมากกว่าเท่านั้น แต่ยังต้องมีทักษะทางสังคม เช่น การสื่อสารและการดูแลหมาป่าตัวอื่น ๆ ในฝูง เพื่อให้ฝูงทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น

หมาป่าสามารถเป็นจ่าฝูงได้ทั้งตัวผู้และตัวเมีย โดยจ่าฝูงตัวเมียจะมีหน้าที่ในการดูแลและปกป้องลูกหมาป่า ขณะที่จ่าฝูงตัวผู้มีหน้าที่คอยดูแลและพาฝูงไปยังที่ที่ปลอดภัย การทำงานร่วมกันระหว่างจ่าฝูงตัวผู้และตัวเมียทำให้ฝูงมีความแข็งแรงและมั่นคงยิ่งขึ้น

และจากงานวิจัย Alpha status, dominance, and division of labor in wolf packs พบว่า ในกลุ่มหมาป่า อัลฟ่ามักเป็นหมาป่าที่มีความแข็งแกร่งที่สุดและเป็นตัวที่สามารถรักษาความสงบสุขในฝูงได้ หมาป่าที่มีความแข็งแกร่งและความสามารถในการล่าสัตว์ มักจะได้รับความเคารพจากฝูง และหากจ่าฝูงอ่อนแอลงหรือสูญเสียความสามารถในการปกป้องฝูง สมาชิกตัวอื่นก็อาจจะพยายามเข้ามาท้าทาย เพื่อชิงตำแหน่งจ่าฝูงนั้นมาครองได้

ตัวอย่างการเลือกจ่าฝูงในช้างป่า จากงานวิจัย Relationships and social structure of African elephants พบว่า ช้างตัวเมียที่มีอายุมากที่สุดในฝูงจะได้เป็นจ่าฝูง เรียกว่าช้างแม่แปรก (Matriarch) เพราะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการนำทางและหาแหล่งน้ำ รวมถึงการปกป้องฝูงจากนักล่า งานวิจัยยังพบอีกว่า ความเป็นผู้นำของช้างตัวเมียสูงอายุสามารถช่วยให้ฝูงอยู่รอดได้ในช่วงภัยแล้งหรืออันตรายอื่น ๆ

ตัวอย่างการเลือกจ่าฝูงในลิง จากงานวิจัย Chimpanzee Politics: Power and Sex among Apes ในกลุ่มลิง เช่น ลิงกอริลลาและชิมแปนซี พบว่า จ่าฝูงมักเป็นลิงตัวผู้ที่มีความสามารถในการปกป้องกลุ่มและมีความแข็งแกร่ง แต่ปัจจัยอื่น ๆ เช่น การเข้ากับสมาชิกได้ดีและมีความใส่ใจก็มีผลเช่นกัน รวมถึงการศึกษาในลิงบาบูน พบว่า แม้จ่าฝูงจะต้องมีความแข็งแกร่งเป็นหลัก แต่การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับสมาชิกในฝูงก็มีผลที่ทำให้สามารถรักษาตำแหน่งของจ่าฝูงไว้ได้นานยิ่งขึ้น

รวมถึงตัวอย่างสัตว์ชนิดอื่นที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม อย่างการเลือกจ่าฝูงของปลา จากงานวิจัย Sociality: The Behaviour of Group-Living Animals พบว่า จ่าฝูงของปลาในฝูงนั้นจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามสถานการณ์ อาจขึ้นอยู่กับตัวที่มีภาวะการตัดสินใจเด็ดขาด และมีประสบการณ์ในการหลบหลีกนักล่า ความสามารถหาแหล่งอาหาร หรือเพศของปลา ขึ้นอยู่กับชนิดและปัจจัยสภาพแวดล้อมอื่น ๆ จ่าฝูงของปลาถือว่ามีลักษณะเฉพาะตัวและมีความยืดหยุ่น สามารถเปลี่ยนกลับไปมาได้ 

รวมถึงทักษะด้านการสื่อสารระหว่างจ่าฝูงและสมาชิกในกลุ่ม จากงานวิจัยพบว่า สัตว์บางชนิด เช่น ช้างและหมาป่า มีการใช้เสียงและท่าทางในการสื่อสาร เพื่อบอกให้ฝูงเคลื่อนที่หรือเตรียมพร้อมเมื่อพบกับอันตราย การมีจ่าฝูงจะช่วยให้สมาชิกในกลุ่มทำงานร่วมกันได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยลดความขัดแย้งในกลุ่มได้

การมีจ่าฝูงหรือผู้นำในกลุ่มช่วยให้สัตว์สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างมีระบบระเบียบ โดยเฉพาะการมีผู้นำที่ดี สามารถช่วยให้มีความมั่นคงทางด้านอาหาร ถิ่นอาศัย และการป้องกันตัวจากศัตรูได้ การเลือกจ่าฝูงไม่เพียงแค่ต้องมีความแข็งแกร่งเท่านั้น แต่ต้องมีความฉลาด มีไหวพริบ รวมถึงต้องมีทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันอีกด้วย และนั่นก็หมายถึงศักยภาพของสัตว์ชนิดนั้น ๆ ที่จะสามารถดำรงชีวิตและรักษาเผ่าพันธุ์ของตัวเองไว้ได้

ผู้นำที่ดีที่สุดไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เก่งที่สุด แข็งแกร่งที่สุด หรือมีทักษะรอบด้านที่สุด แต่ควรเป็นคนที่เหมาะสมที่สุดกับสถานการณ์ สถานที่ และช่วงเวลานั้น ๆ

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว