COP29 หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 ที่จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ถูกเรียกขานว่าเป็นการประชุม “COP ด้านการเงิน” เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ที่ตัวแทนจากทุกประเทศทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อกำหนด ‘การจัดทำเป้าหมายทางการเงินใหม่’ (New Collective Quantified Goal on Climate Finance: NCQG)
โดยเป้าหมายใหม่นี้จะถูกนำมาปรับแทนที่เป้าหมายที่เคยตั้งไว้ในปี 2009 ที่เคยตกลงไว้ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วจะจัดสรรเงิน 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2020 เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เรื่องของเป้าหมายทางการเงินกลับประสบปัญหาในการจัดสรรงบประมาณไม่เป็นตามเป้า และตัวเลข 100,000 ล้านดอลลาร์ ก็ยังถือว่าน้อยไป เมื่อเทียบกับความต้องการทางการเงินของประเทศกำลังพัฒนาและสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องมีการหารือเรื่องนี้ขึ้นใหม่ และ NCQG ก็ถูกวางไว้เป็นวาระสำคัญของการประชุม
ในรายละเอียดของ NCQG จะมีการหารือในเรื่องใดบ้าง และนอกจากประเด็นนี้แล้ว วาระสำคัญของการประชุม COP 29 ยังประกอบด้วยเรื่องใดอีก ?
เป้าหมายทางการเงินใหม่
การจัดทำเป้าหมายทางการเงินใหม่นี้ เป็นเรื่องที่เคยบรรจุไว้ในข้อตกลงปารีสปี 2015 โดยกำหนดให้ในปี 2024 มีการตกลงเรื่องนี้ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและสถานการณ์ของประเทศที่กำลังพัฒนา
ซึ่งนอกจากสถานการณ์การจัดสรรงบที่ขาด และไม่เข้าเป้ามาตลอดดังที่เกริ่นไปแล้ว ใน สถานการณ์ปัจจุบันพบว่าประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ จะต้องใช้เงินทุนเพื่อจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าที่เคยระบุไว้ถึง 5 เท่า โดยมีความต้องการมากขึ้นอีก 500,000 ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี
โดยการในการประชุม COP29 ถูกระบุไว้ว่า นอกจากการหารือถึงจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นแล้ว การเจรจายังครอบคลุมถึง รอบเวลาและเงื่อนไขในการจัดหาเงินทุน ว่าเงินทุนจะสนับสนุนอะไร เงินทุนจะเข้าถึงชุมชนที่ต้องการมากที่สุดได้อย่างไร และจะชี้วัดคุณภาพเงินทุนจากผลลัพธ์ได้อย่างไร และยังกำหนดให้มีขั้นตอนการมอบเงินทุนผ่านการใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายและมีกลยุทธ์มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม NCQG เพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถเติมช่องว่างทางการเงินด้านสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวในระดับโลกได้อย่างครบถ้วน ยังจำเป็นต้องมีกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อช่วยให้บรรลุระดับและคุณภาพของการเงินที่จำเป็น อย่างการปฏิรูปและการเพิ่มทุนของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น จากธนาคารเพื่อการพัฒนา หรือระดมทุนจากภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลือ
กองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย
หลังจากการเจรจาอย่างเข้มข้นเป็นเวลานานหลายปี การประชุม COP28 ที่ดูไบก็ได้ข้อสรุปว่ากองทุน กองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage Fund) จะดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ
กองทุนนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยให้ประเทศที่เปราะบางสามารถรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกินกว่าที่ประชาชนจะปรับตัวได้ เช่น แหล่งมรดกโลกริมชายฝั่งหายไปเนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น หรือการสูญเสียชีวิตและบ้านเรือนจากอุทกภัยครั้งใหญ่
ในการประชุม COP29 ได้เตรียมขยายรายละเอียดคำมั่นสัญญาทางการเงินไขของกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย เพื่อให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการแก้ไขปัญหาการความสูญเสียและเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก
ประเทศต่างๆ ได้ตกลงกันภายใต้ข้อตกลงปารีสที่จะส่งคำมั่นสัญญาแห่งชาติว่าจะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยกำหนดให้มีการปรับแผนปฏิบัติในทุกๆ 5 ปี และรอบต่อไปมีกำหนดหลังการประชุม COP29 เพียงไม่กี่เดือน การประชุมหนนี้จึงเป็นโอกาสนำเสนอแผนที่สำคัญของแต่ละประเทศ
ในข้อกำหนดเบื้องต้นระบุว่า ประเทศต่างๆ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของตนสอดคล้องกับระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าจำเป็นต่อการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
และแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกควรมีเป้าหมายเฉพาะภาคส่วนด้วย เช่น เป้าหมายที่ชัดเจนในการเปลี่ยนไปใช้ระบบพลังงานและอาหารที่ปลอดการปล่อยมลพิษ หรือ ควรมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้แน่ใจว่าเกิด ‘การเปลี่ยนแปลงที่ยุติธรรม’
และควรมีคำมั่นสัญญาในการปรับตัวที่เข้มงวดยิ่งขึ้น โดยเน้นที่กลุ่มชุมชนที่เปราะบางและถูกละเลยมากที่สุด
ความคืบหน้าด้านต่างๆ พลังงาน อาหาร และป่าไม้ ฯลฯ
ผลลัพธ์ของการประชุม COP28 แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นระดับโลกที่ไม่เคยมีมาก่อน ในการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การเรียกร้องให้เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกเป็น 3 เท่า และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีประเทศต่างๆ หลายร้อยประเทศเข้าร่วมให้คำมั่นในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศโดยสมัครใจต่อแนวทางต่างๆ เช่น คำมั่นสัญญาเกี่ยวกับการลดมีเทนทั่วโลก คำประกาศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ว่าด้วยเกษตรกรรมยั่งยืน ระบบอาหารที่ยืดหยุ่น คำประกาศของกลาสโกว์ว่าด้วยป่าไม้และการใช้ที่ดิน
การประชุมหนนี้จัดให้มีการแสดงความคืบหน้าเหล่านั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศต่างยึดมั่นในคำสัญญาและบรรลุในข้อสัญญาเหล่านั้นแล้วจริง
กรอบเจรจา ประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้จัดเตรียมประเด็นนำเสนอในการประชุม COP29 ไว้ 5 เรื่อง ประกอบด้วย
1. การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อการบรรลุ NDC 2030 ซึ่งคาดว่าสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 43 เปอร์เซ็นต์ จากเป้าหมาย 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
2. การขับเคลื่อนแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการประเด็นการปรับตัวฯ เข้าสู่แผนและยุทธศาสตร์ในรายสาขาและในพื้นที่ รวมถึงการจัดทำข้อมูลด้านภูมิอากาศและข้อมูลความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับประเทศ
3. การเร่งผลักดัน พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4. ตัวอย่างการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนให้เป็นรูปธรรม จากการประชุมภาคีขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 3 (Thailand Climate Action Conference: TCAC 2024)
5. การจัดส่งรายงานความโปร่งใสราย 2 ปี ซึ่งประเทศไทยกำหนดให้สามารถจัดส่งได้ภายในเดือนธันวาคม 2567 ตามกำหนดเวลา
อ้างอิง
- Key Issues to Watch at COP29
- ทส. เตรียมพร้อม 5 ประเด็นเจรจาสำคัญของประเทศไทย ในเวที COP29 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม