ปลูกไผ่ 1,800 ต้น สร้างสะพานเชื่อมระบบนิเวศ จากป่าเขาสนามเพรียง ถึงป่าคลองวังเจ้า

ปลูกไผ่ 1,800 ต้น สร้างสะพานเชื่อมระบบนิเวศ จากป่าเขาสนามเพรียง ถึงป่าคลองวังเจ้า

พ.ศ. 2567 โครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อแนวเชื่อมป่าตะวันตกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้เดินทางมาถึงปีที่ 4 ของการดำเนินงาน และเริ่มเห็นภาพฝันของการสร้าง ‘สะพานเชื่อมระบบนิเวศ’ ขยับใกล้ความเป็นจริงขึ้นอีกก้าว 

ท้าวความแบบย่นย่อ โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมช่องว่างระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียงกับอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า ที่ถูกขวางด้วยถนนหลวงและพื้นที่เกษตรกรรมชุมชน ให้มีสภาพป่าถึงกันอีกครั้ง 

กระบวนการหลักของงาน คือ ส่งเสริมประชาชนในพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ไผ่ เติมเต็มช่องว่างแบบ Stepping Stones ให้สัตว์ป่ามีทางเดินไปมาหาสู่กันระหว่างสองพื้นที่ ขณะที่คนปลูกก็นำไผ่มาใช้ประโยชน์และสร้างรายได้ควบคู่ไปด้วยกัน

ตลอดเวลาการดำเนินโครงการที่ผ่านมา (พ.ศ. 2564 – 2566) มีผู้เข้าร่วมโครงการ 84 ราย จากบ้านหนองบัวสามัคคี บ้านไร่พิจิตร และบ้านหนองแดน อ.โกสัมพีนคร และบ้านปางขนุน อ.เมืองกำแพงเพชร ปลูกไผ่ไปแล้ว จำนวน 18,787 ต้น รอดตาย 14,078 ต้น คิดเป็น 75 เปอร์เซ็นต์

และในปีนี้ เพิ่งมีการปลูกเพิ่มอีก 1,800 ต้น ไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริเวณพื้นที่ใช้ประโยชน์ของสมาชิกโครงการ ณ บ้านไร่พิจิตร อ.โกสัมพีนคร จ.กำแพงเพชร 

กิจกรรมปลูกไผ่ 1,800 ต้น เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567
กิจกรรมปลูกไผ่ 1,800 ต้น เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567

แม้จำนวนไผ่นับรวมไม่ถึงสองหมื่นต้น (เมื่อตัดต้นที่ไม่รอดไป เพราะขาดการดูแล สภาวะแห้งแล้ง และไฟป่า) อาจยังไม่นับว่ามากนัก เมื่อเทียบกับพื้นที่รอยต่อที่ต้องการเชื่อมกว่า 5,000 ไร่ 

แต่ภาพฝันก็ถือว่าขยับใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่บางส่วนมีแนวโน้มเกิดทางเชื่อมแบบ Stepping Stones ให้เห็นแล้ว

อำนาจ สุขขวัญ ผู้รับผิดชอบโครงการ อธิบายว่า การส่งเสริมพืชเศรษฐกิจนี้ ไม่ได้หมายถึงการปลูกจนเต็มพื้นที่ แต่เป็นการสร้างสร้างหย่อมป่าหรือหย่อมถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นหย่อมๆ โดยแต่ละหย่อมจะมีการจัดเรียงตัวอย่างเหมาะสม และเอื้อต่อการเคลื่อนที่ของสัตว์ป่า

ซึ่งในขั้นตอนการดำเนินการ ได้แบ่งพื้นที่ปลูกไผ่ทั้งหมดออกเป็น 5 โซน ระหว่างพื้นที่อนุรักษ์ทั้งสองแห่ง เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าพื้นที่โซนไหนมีความเป็นไปได้ต่องานสร้างสะพานเชื่อมระบบนิเวศได้มากที่สุด 

นำไปสู่การออกแบบการทำงาน กำหนดกลุ่มเป้าหมายของงานส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ และกระบวนต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง 

จากพื้นที่ทั้ง 5 โซน ที่แบ่งไว้ ผลการสำรวจของโครงการพบว่า พื้นที่โซนที่ 2 ซึ่งเป็นพื้นที่บ้านไร่พิจิตร อ.โกสัมพีนคร จ.กำแพงเพชร มีศักยภาพในการสร้างแนวเชื่อมต่อผืนป่าได้มากที่สุด 

โดยเนื้อที่ของโซนที่ 2 มีพื้นที่ทั้งหมด 280 ไร่ ปัจจุบันมีสภาพป่า สวน และไผ่ที่ปลูกเพิ่มรวม 115 ไร่ 

หากต้องการให้เกิดแนวเชื่อมต่อระหว่างป่าที่เป็นไปได้จริงๆ จะต้องมีพื้นที่สภาพป่ารวมสวนป่าเศรษฐกิจของโครงการให้ได้ 75 เปอร์เซ็นต์ หรือเพิ่มพื้นที่อีก 95 ไร่ เพื่อให้ได้ 210 ไร่ 

อำนาจ อธิบายว่า ก่อนหน้านี้ฟื้นฟูเสร็จไปแล้ว 34 ไร่ และเมื่อรวมกับที่เพิ่งปลูกไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาอีก 1,800 ต้น หรือคิดเป็น 18 ไร่ หากไผ่ที่ปลูกรอดทั้งหมดก็จะเท่ากับว่าฟื้นฟูสำเร็จ 52 ไร่ ซึ่งไม่ไกลจากเป้าหมาย 95 ไร่มากเท่าไหร่นัก 

จึงมีความเป็นไปได้ว่า ‘สะพานเชื่อมระบบนิเวศ’ จะเกิดขึ้นในพื้นที่โซน 2 ในอนาคตที่ไม่ไกลนัก 

พื้นที่แนวเชื่อมต่อมา 5 โซน
พื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจโซนที่ 2

อย่างไรก็ตาม ในมุมของผู้รับผิดชอบโครงการมองว่า แม้แนวเชื่อมต่อป่าในพื้นที่โซนที่ 2 จะประสบความสำเร็จในเชิงปริมาณ ก็ยังต้องกลับมามองในเรื่องคุณภาพเพื่อชี้วัดจากการใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่าอีกระดับ 

“ที่ผ่านมา เรายังไม่พบสัตว์ป่าเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไผ่เศรษฐกิจของชุมชนที่ปลูกขึ้นใหม่สักเท่าไหร่” อำนาจ สุขขวัญ อธิบาย 

ตามข้อมูลที่ได้จากการสำรวจของทีมลาดตระเวนร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คณะกรรมการป่าชุมชน และเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ เป็นประจำทุกเดือน ยังไม่ปรากฏข้อมูลการเคลื่อนที่ของสัตว์ป่าในพื้นที่ Stepping Stones 

แต่พบสัญญาณการออกมาหากินในพื้นที่ขอบป่าพื้นที่อนุรักษ์ และป่าชุมชนอยู่เป็นประจำ 

หากมองตามแผนงานแล้ว โครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อแนวเชื่อมป่าตะวันตกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน มีแผนจัดทำข้อมูลวิชาการการประกอบเพื่อเป็นเครื่องมือชี้วัดความสำเร็จของโครงการ 

อำนาจ อธิบายต่อว่า นอกจากข้อมูลสัตว์ป่าที่พบบริเวณขอบป่าและป่าชุมชน อาทิ หมาจิ้งจอก หมูป่า อีเห็น ไก่ป่า นกหัวขวาน กระรอก ในอนาคตจะศึกษาการกระจายตัวของนกประจำถิ่นและนกอพยพในพื้นที่แนวเชื่อมต่อป่า ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพิ่มเติมอีกเรื่อง

เวทีประชุมงานวิชาการสัตว์ป่าในพื้นที่เชื่อมป่า

นอกจากงานที่กล่าวมาแล้ว ยังมีภารกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น งานกิจกรรมดูแลพื้นที่แนวเชื่อมต่อป่าระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่

เนื่องจากข้อมูลการลาดตระเวน พบปัจจัยคุกคามที่ต้องมาขบคิดหาทางแก้ไข อาทิ การพบซุ้มนั่งยิงสัตว์ป่าบนพื้นดิน พบปลอกแก๊ป กระสุนปืนลูกซองเบอร์ 12  พบไม้ไผ่มัดติดกับต้นไม้ในลักษณะ คล้ายๆ กับนั่งร้าน เพื่อใช้ปีนเหยียบขึ้นไปเอาสัตว์ป่า 

หากยังมีภัยคุกคามอยู่ สัตว์ป่าก็คงไม่กล้าเข้ามาใช้ประโยชน์

หรือในแง่ที่ว่าอนาคตต่อไป หากมีสัตว์ป่าเข้ามาใช้พื้นที่ Stepping Stones แล้ว เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า จะมีแนวทางจัดการลดความขัดแย้งอย่างไร ก็เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องที่พัฒนาแผนงานขึ้นในปีต่อๆ ไป

ทั้งนี้ โครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อแนวเชื่อมป่าตะวันตกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นโครงการระยะยาว แบ่งช่วงการดำเนินโครงการเป็น 2 ช่วง ช่วงละ 5 ปี ช่วงที่ 1 ระหว่างพ.ศ. 2564 – 2568 และช่วงที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2569 – 2573

โครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อแนวเชื่อมป่าตะวันตกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดยกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร ข้าว ขนส่ง และบริการ เครือเจริญโภคภัณฑ์

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม