1. สูญเสียระบบนิเวศ ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าเพียง 31 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะป่าริมน้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นทั้งแหล่งเพาะพันธุ์ แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารของสัตว์น้ำ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก แหล่งอาหารของชุมชน เป็นแหล่งบริการทางนิเวศที่เหลืออยู่น้อยมาก ซึ่งประเทศไทยเหลืออยู่น้อยมาก และจะสูญเสียไม่ได้อีกแล้ว โดยในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ แต่โครงการพัฒนา ของรัฐกลับมุ่งไปทำลายพื้นที่ป่าอนุรักษ์
2. การสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศแห่งการละเมิดอนุสัญญาเรื่องการจัดการพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมอนุสัญญาความตกลงระหว่างประเทศต่างๆ เรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ป่าไม้ เมื่อปี 2565 รัฐบาลไทยได้ไปเข้าร่วมปฏิณญา Glasglow คือการหยุดตัดไม้ทำลายป่าให้ได้ไปในปี 2030 หรือ พ.ศ.2573 เมื่อ วันที่ 20 กันยายน 2566 นายกฯ ได้ไปเข้าร่วมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า ประเทศไทยยินดีที่จะเข้าร่วมและทำตาม และก็ยังพูดถึงเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่กระบวนการทำงานของรัฐบาลไทยกลับสวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้น นั่นคือ โครงการสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่ามรดกโลกฯ
3. การสร้างเขื่อน กระทบหนักต่อพืชพรรณและสัตว์ป่า สะเทือนสถานะมรดกโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีการพบเสือโคร่ง สัตว์สถานะใกล้สูญพันธุ์ ในอุทยานแห่งชาติทับลาน ปางสีดา และตาพระยาอย่างน้อย ๒๐ ตัว ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จึงเป็นบ้านความหวังหลังที่สองของเสือโคร่ง รองมาจากห้วยขาแข้ง แต่พื้นที่เป้าหมายสร้างอ่างเก็บน้ำจะทับกับอาณาเขตหากินของเสือโคร่ง
4. เขื่อนทำให้สูญเสียโอกาสในการเชื่อมผืนป่า อุทยานแห่งชาติทับลาน และหลายภาคส่วน มีความพยายามที่จะให้เสือโคร่งกลับเข้าไปในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยสร้างทางเชื่อมต่อสำหรับสัตว์ป่า หรืออุโมงค์คอริดอร์ บนถนน 304 ด้วยงบหลายพันล้าน แต่โครงการทำเขื่อนรอบๆ ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กำลังจะตัดผืนป่าออกจากกัน
5. การสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จะทำให้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างคนกับช้างป่ารุนแรงขึ้น ข้อมูลจาก ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางธรรมชาติของประเทศไทย และผู้อำนวยการ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ได้ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยเหลือพื้นที่เหมาะให้ช้างได้อยู่อาศัยไม่ถึง 8 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นภาคประชาชนจึงมีความเห็นว่าการสูญเสียพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ยิ่งจะทำให้ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า รวมถึงกระทิง และหมี จะมีความรุนแรงและเกิดความสูญเสียมากยิ่งขึ้น
6. ระบบกลไกการตรวจสอบทางสิ่งแวดล้อม ในที่นี้หมายถึงกระบวนการจัดรายงานประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อม EIA EHIA SEA HIA มีปัญหา ตั้งแต่กระบวนการศึกษา กระบวนการประเมิน ตรวจสอบ การประชุม รายงานต่างๆ การประเมินผลกระทบต่ำกว่าความเป็นจริง ขณะที่การประเมินประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อนสูงกว่าความเป็นจริงด้วย
7. กระบวนการในการฟื้นฟูผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถตรวจสอบได้ เช่น กรณีการปลูกป่าทดแทน ของโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เขื่อนห้วยโสมง) จังหวัดปราจีนบุรี ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลพื้นที่ จำนวนพื้นที่ ผลการดำเนินงานเรื่องการปลูกป่าทดแทน การสูญเสียพื้นที่ป่าซึ่งมีระบบนิเวศเฉพาะ ไม่สามารถสร้างใหม่เพื่อทดแทนได้ การปลูกป่าของกรมชลประทานจึงเป็นเพียงการปลูกต้นไม้ ที่ต้องใช้เวลาอีกมาก กว่าสภาพจะฟื้นสู่ความเป็นป่า
8. การสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่า นอกจากจะเป็นการทำลายพื้นที่เก็บกักแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติแล้ว ยังก่อให้เกิดแก๊สมีเทน ตัวการสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การศึกษาของ National Institute of Space Research ภายใต้รัฐบาลบราซิล พบว่าเขื่อนเป็นแหล่งปล่อยก๊าซมีเทนขนาดใหญ่ที่สุด คิดเป็น 23 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากการที่เขื่อนเปลี่ยนทางน้ำไหลเป็นบ่อน้ำนิ่ง บ่มเพาะตะกอนและซากพืชกลายเป็นแหล่งผลิตก๊าซมีเทนขนาดใหญ่ในที่สุด
9. เขื่อนในประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้นหรือลดลงแตกต่างกันไปในบางพื้นที่ เนื่องจากการกระจายตัวของฝนที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การดำเนินงานในการจัดการน้ำจะซับซ้อนและยุ่งยากขึ้น 95 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ข้อมูลจากงานวิจัยหลายชิ้นซึ่งรวบรวมในรายงานการสังเคราะห์และประมวลสถานภาพองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทยฉบับที่ 2 (TARC 2) โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
10. การสร้างและการบำรุงรักษาเขื่อนใช้งบประมาณจำนวนมาก มีผู้เชี่ยวชาญมากมายออกมาระบุว่า “การสร้างเขื่อนส่งผลเสียมากกว่าผลดี” เพราะเขื่อนมีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศของแม่น้ำแล้ว เขื่อนกักเก็บตะกอนไว้ในอ่างเก็บน้ำ ส่งผลให้เขื่อนตื้นเขินและกักเก็บน้ำได้น้อยลงทุกปี สารอาหารจำเป็นของพืชและสัตว์น้ำหายไป จำนวนชนิดพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำลดจำนวนลง ทั้งยังเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมและภัยแล้ง ที่จะต้องมีการจ่ายค่าชดเชยผลกระทบซึ่งไม่เคยถูกคิดเป็นต้นทุนในการสร้างและบำรุงรักษาเขื่อน
11. ในยุคภาวะโลกเดือด “ประชาชนต้องการน้ำ แต่ก็ต้องการป่าด้วย” ประเทศไทยและทั่วโลกไม่ได้อยู่ในภาวะโลกร้อน แต่อยู่ในภาวะโลกเดือด เพราะฉะนั้นกรมชลประทาน ควรสร้างทางเลือกในการจัดการการน้ำ เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมมีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่สามารถการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ความแห้งแล้ง ภัยพิบัติแบบเดิมๆ ได้อีก ฉะนั้น กรมชลประทานจะใช้เขื่อนที่ต้องแลกกับผืนป่าจำนวนมากไม่ได้อีกแล้ว
หมายเหตุ ข้อมูลชุดนี้จัดทำขึ้นและมอบแก่ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร และอธิบดีกรมชลประทาน เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 โดยเครือข่ายอนุรักษ์รอบกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่