นโยบายให้เช่าอุทยานแห่งชาติ กำลังจะเอื้อประโยชน์ให้กับใคร?

นโยบายให้เช่าอุทยานแห่งชาติ กำลังจะเอื้อประโยชน์ให้กับใคร?

ตามที่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ที่ผ่านมา ถึงนโยบายของกรมอุทยานฯ ว่า “อุทยานฯ มีแนวคิดที่จะพัฒนา ยกระดับที่พักในอุทยานแห่งชาติ โดยให้เอกชน เข้ามาบริหารจัดการ เพื่อทำให้ที่พักอุทยานยกระดับขึ้น และลดภารการทำงานของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ให้ไปปฏิบัติภารกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวกับงานอุทยานฯ โดยตรงได้ โดยเฉพาะในอุทยานใหญ่ๆ เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานฯ เอราวัณ เป็นต้น มีเงื่อนไข คือ หากเอกชนเข้ามาทำ ราคาต้องให้ทุกคนเข้าถึงได้ มีหลายระดับไม่แพงจนเกินไป ทำแล้วประชาชนจะเข้ามาเที่ยวเพิ่ม ไม่ใช่เข้ามาแล้ว ราคาสูงจนคนเที่ยวน้อยลง อย่างนี้ไม่เอา”

พอได้ฟังข่าวนี้ ผมถึงกับตกใจว่าอะไรดลใจให้อธิบดีกรมอุทยานฯ ให้ข่าวเรื่องนี้กับสื่อมวลชน ทั้งที่ผ่านมาท่านไม่เคยมีการแถลงนโยบายเรื่องการให้เอกชนเข้ามาดำเนินการภายในพื้นที่อนุรักษ์มาก่อน

ท่านรับงานใครมาหรือเปล่าครับ?

อดีตนโยบายนี้ เคยมีผู้บริหารในกรมอุทยานฯ นำเสนอขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 จนถึงปี 2558 ที่กรมอุทยานฯ จะปรับแก้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และนำเรื่องนี้ใส่ไว้ จึงถูกคัดค้านอย่างหนักจากบุคลากรในกรมอุทยานฯ นักวิชาการ สาธารณชน รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน นโยบายนี้จึงถูกพับเก็บไป ผ่านมาผู้บริหารกรมอุทยานฯ หลายท่านไม่เคยนำมาผลักดันต่อ แต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ และการจัดการท่องเที่ยวในอุทยานฯ ให้มีคุณภาพมากขึ้น ส่งผลให้กรมอุทยานฯ สามารถจัดเก็บรายได้ มาเป็นงบประมาณในการทำงานของกรมอุทยานฯ จนช่วยลดภาระการใช้งบประมาณของประเทศไทยได้อย่างน่าชื่นชม 

ผมจึงมาทบทวนข้อมูลความเห็นที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมกับเครือข่าย ได้คัดค้านกรมอุทยานฯ ที่จะแปลงอุทยานแห่งชาติเป็นทุนให้เอกชนเข้ามาเช่า ในเวทีเสวนาวิชาการคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.เปิดป่า-ค้าสัตว์ ที่จัดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 และคาดว่าแนวทางที่กำลังจะเกิดขึ้นในปัจจุบันไม่น่าจะต่างกัน จึงขอเสนอความเห็นให้กับสาธารณะ ได้ทบทวนข้อมูล ข้อพิจารณา เพื่อเฝ้าระวังนโยบายที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่อนุรักษ์ดังนี้ 

1. เจตนารมณ์ของการประกาศอุทยานแห่งชาติ เพื่อสงวน คุ้มครอง ปกป้องรักษาให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิม ให้เป็นแหล่งศึกษาและความรื่นรมย์ของประชาชนสืบไป

ดังนั้นภารกิจหลักของอุทยานแห่งชาติคือการคุ้มครองพื้นที่ธรรมชาตินี้ไว้ ต่อมาจึงเป็นการจัดการศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เป็นเสมือนห้องเรียนกลางแจ้ง (ซึ่งส่วนนี้เป็นเรื่องที่กรมอุทยาน ควรให้ความสำคัญในนโยบาย การส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของพื้นที่) จากนั้นจึงเป็นส่วนการเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจจากความงามในธรรมชาติ 

2. การกำหนดนโยบายที่ส่งผลต่อพื้นที่อุทยานแห่งชาติของประเทศไทย ควรมีการศึกษาข้อมูล ข้อกฎหมายกันให้รอบด้าน โดยเฉพาะในกรมอุทยานแห่งชาติ รวมถึงคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ก่อนจะนำเสนอต่อสาธารณะ ซึ่งควรต้องมีขั้นตอนกระบวนการในการพิจารณาอย่างรอบด้านต่อไป

3. ที่ผ่านมากรมอุทยาน บังคับใช้กฎหมายกับชุมชนที่อยู่ในเขตพื้นที่อุทยาน แต่กลับเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาสัมปทานธุรกิจการท่องเที่ยวในเขตอุทยาน

4. ข้อกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่เพื่อรองรับ “ธุรกิจท่องเที่ยว” ที่เน้นจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการ ความสะดวกสบายของผู้ใช้บริการ และการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับกิจกรรมโดยไม่สอดคล้องกับการอุทยานแห่งชาติ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่มีความเปราะบาง การเรียนรู้โดยการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสภาพธรรมชาติดั้งเดิมที่เป็นจริง จะไม่มีอยู่ในแนวคิดหลักของรูปแบบการจัดการนี้

5. อำนาจหน้าที่และรูปแบบการทำหน้าที่ของบุคลากรภาคบริการ ซึ่งมีความแตกต่างจากบุคลากรในสังกัดอุทยานแห่งชาติ ซึ่งความแตกต่างนี้จะส่งผลต่อการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

6. สาธารณชนจะขาดโอกาสในการเข้าถึงพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จากการให้เอกชนสัมปทานพื้นที่เพื่อประกอบธุรกิจท่องเที่ยว

7. นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลกับนโยบายให้เช่าอุทยานแห่งชาติ ที่ยังไม่มีความชัดเจน เช่น หลักเกณฑ์  ในการคัดเลือกเอกชนที่จะเข้ามาสัมปทาน และความโปร่งใส ระยะเวลาเช่า การทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหากมีโครงการพัฒนาในพื้นที่ ข้อกำหนดเรื่องจำนวนคนที่เข้ามาใช้บริการท่องเที่ยว การติดตามประเมินผล ฯลฯ และความรับผิดต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นโยบายให้เช่าอุทยานแห่งชาติ กำลังจะเอื้อประโยชน์ให้กับใคร?

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร