แคมเปญ HOPE TO FLY AGAIN

แคมเปญ HOPE TO FLY AGAIN

สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ

14 กุมภาพันธ์ 2535 กลางป่าห้วยขาแข้งหลังประกาศเป็นมรดกโลกได้ 1 ปี พญาแร้งฝูงหนึ่งลงมาจิกทึ้งกินซากเก้ง โดยที่พวกมันไม่รู้เลยว่านั่นคืออาหารมื้อสุดท้ายในชีวิต (เนื่องจากพรานกลุ่มหนึ่งวางยาเบื่อในซากเก้งเพื่อหวังว่าให้เสือโคร่งมากิน) ซึ่งนับเป็นโชคร้ายของพญาแร้งที่ลงมากินทำให้พวกมันตายยกฝูง และส่งผลให้พวกมัน ‘สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ’ 

สิ่งที่หายไปไม่ใช่เพียงแค่นกหนึ่งชนิด แต่คือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนเทศบาลและกองควบคุมโรคของผืนป่า

กว่า 30 ปี ที่พญาแร้งหายไปจากป่าเมืองไทย

ในวันนี้พวกเราพยายามวางแผนเพาะพันธุ์พญาแร้งที่เหลืออยู่ในกรงเลี้ยงจำนวน 6 ตัว เพื่อหวังว่าสักวันในผืนป่าประเทศไทยจะมีพญาแร้งกลับมาโผบินอีกครั้ง ซึ่งโจทย์นี้ไม่ง่ายเพราะการจะทำให้สัตว์ที่สูญพันธุ์จากธรรมชาติกลับคืนมายากกว่าการทำให้มันหายไป

ความพยายามที่จะให้พญาแร้งให้กลับมาโบยบิน

หลายภาคส่วนช่วยกันฟื้นฟูประชากรพญาแร้งและเพาะขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์กินซาก (Scavenger) ทำให้เกิดการหมุนเวียนของห่วงโซ่อาหารที่สำคัญในระบบนิเวศซึ่งเป็นการเสริมสร้างความสมดุลของระบบนิเวศผืนป่ามรดกโลก โดยบูรณาการองค์ความรู้ในเรื่องการเพาะเลี้ยง การฟื้นฟูถิ่นอาศัย การสำรวจและวิจัย รวมถึงการสร้างความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่เพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ

ปัจจุบันประเทศไทยมีพญาแร้งในกรงเลี้ยงที่เป็นพ่อแม่พันธุ์ทั้งหมด 6 ตัว นำมาดูแลเพื่อฟื้นฟูสภาพที่สวนสัตว์นครราชสีมา จำนวน 4 ตัว (2 คู่) และอยู่ในกรงฟื้นฟูขนาด 20 x 40 เมตร สูง 20 เมตร บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จำนวน 2 ตัว (1 คู่) ถือเป็นโอกาสดีในการที่จะฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในธรรมชาติถิ่นอาศัยเดิมในผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง 

ถ้าพญาแร้งวางไข่และฟักเป็นตัวสำเร็จ ลูกนกจะถูกฝึกที่กรงฟื้นฟูที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยฝึกเรื่องอาหารให้เขารู้ว่าอะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ ให้รู้ว่ามีอาหารอะไรในธรรมชาติบ้าง ฝึกกล้ามเนื้อในการบิน จนกระทั่งพร้อมปล่อยออกจากกรงฟื้นฟู พร้อมติดตั้งระบบติดตามด้วยสัญญาณวิทยุหรือดาวเทียม เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับอนาคต

ซึ่งการเตรียมการทั้งหมดนี้ ถ้าปัจจัยที่ทำให้พญาแร้งสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติคือมนุษย์ การที่จะปล่อยพญาแร้งกลับไปโดยที่ยังไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องนี้ ก็อาจมีค่าเท่ากับการปล่อยพญาแร้งกลับไปตายเหมือนเดิม “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” จึงได้เข้ามามีส่วนช่วยในการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการเรียนรู้และความตระหนักในการอนุรักษ์พญาแร้งให้กับเยาวชนและผู้คนในท้องที่ รวมถึงประชาชนทั่วไป เพื่อให้พวกเขามีทัศนคติที่ดีต่อพญาแร้ง สร้างเครือข่ายอนุรักษ์และอาสาสมัครดูแลพญาแร้งก่อนปล่อยและงานระดมทุน เพื่อช่วยให้โครงการสามารถดำเนินงานตามแผน อีกทั้งยังต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะพญาแร้งแต่ละตัวมีอายุ 20 ปีขึ้น 

เรามองว่า “การเรียนรู้และความตระหนักเป็นอีกส่วนสำคัญในการอนุรักษ์พญาแร้ง”

การจัดค่ายให้กับเยาวชนจากชุมชนโดยรอบพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ถือเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ ปลูกจิตสำนึกให้พวกเขามีทัศนคติที่ดีต่อพญาแร้ง ไม่ใช่มองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความตายอย่างที่ผ่านมา อีกทั้งเยาวชนเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์ฟื้นฟูประชากรพญาแร้ง ให้ได้กลับมาโบยบินอย่างอิสระบนท้องฟ้าประเทศไทย และเพื่อเติมเต็มจิ๊กซอว์ของบทบาททางนิเวศที่หายไปจากผืนป่าตะวันตก

แสงสว่างจากปลายอุโมงค์ ความพยายามกว่า 9 ปี อาจไม่สูญเปล่า

หลังจากเกิดความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ความหวังได้เกิดขึ้นอีกครั้ง พญาแร้งได้วางไข่สำเร็จ เรามีลูกพญาแร้งเพิ่มขึ้นอีก 2 ตัว จากพ่อแม่พันธุ์คู่ป๊อก-มิ่ง และ แจ๊ค-นุ้ย ทำให้เรามีประชากรพญาแร้งเพิ่มขึ้นเป็น 8 ตัว 

ลูกพญาแร้งตัวแรกที่เกิดจากคู่พญาแร้งแจ๊ค-นุ้ย (พญาแร้งตัวแรกที่เกิดในตู้ฟักควบคุมอุณหภูมิ)
ลูกพญาแร้งตัวที่สองที่เกิดจากคู่พญาแร้งป๊อก-มิ่ง (พญาแร้งตัวแรกที่เกิดในป่าธรรมชาติ)

อย่างไรก็ตาม โครงการ “การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย” ยังต้องการเงินสนับสนุนพื่อให้โครงการฯ บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งทุกท่านสามารถมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พญาแร้งด้วยการสั่งซื้อ “เสื้อพญาแร้งคืนถิ่น” ราคา 350 บาท 

ระยะเวลาการเปิดรับสั่งจอง RED-HEADED T-SHIRT 
เปิดรับสั่งจอง : 15 – 25 ต.ค. 2567
จัดส่งของ : 25 – 30 พ.ย. 2567
ค่าจัดส่ง : 40 บาท/ครั้ง 

ค่าใช้จ่ายในการดูแลพญาแร้ง 8 ตัว และกิจกรรมอื่นๆ

  • ค่าอุปกรณ์รักษาและดูแลนก เฉลี่ย 20,000 บาท
  • ค่าอาหาร/ค่าขนส่งอาหาร เฉลี่ย 30,000 บาท/ปี
  • ค่าประกันอุบัติเหตุผู้ดูแลพญาแร้ง 6,000/ปี
  • ซ่อมแซมกรงพญาแร้ง 20,000 บาท/ปี
  • จัดการเชื้อเพลิงบริเวณรอบพื้นที่กรงฟื้นฟูพญาแร้ง 20,000 บาท/ปี

กิจกรรมที่ผ่านมา

ร่วมสนับสนุนการศึกษาวิจัยและการฟื้นฟูประชากรกับเหล่า “Red Headed Gang” ได้ที่ 
โครงการพญาแร้งคืนถิ่น ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส รัตนาธิเบศร์ 
บัญชีเลขที่ 679-6-72119-5 
(ใบเสร็จจากการบริจาค สามารถลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวน) 
ผู้ที่ต้องการรับใบเสร็จ สามารถส่งหลักฐานการโอนเงิน 
พร้อมทั้ง ชื่อ-ที่อยู่ ในการออกใบเสร็จมาที่กล่องข้อความเฟซบุ๊กพญาแร้งคืนถิ่น
https://www.facebook.com/ThailandredheadedVultureproject