อัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ไทย เฉลี่ย 10 สนามฟุตบอล/ชั่วโมง

อัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ไทย เฉลี่ย 10 สนามฟุตบอล/ชั่วโมง

ป่าไม้ คืออะไร 

ป่าไม้ กล่าวคือ สังคมของพืชทุกชนิด และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัย และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า  เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา แมลง สัตว์ป่าชนิดต่างๆ รวมถึงสิ่งไม่มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นดิน แม่น้ำ ภูเขา ซากพืช ซากสัตว์ 

ป่ไม้แต่ละประเภท ล้วนเป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้เกิดการหมุนเวียนและการแลกเปลี่ยนทางระบบนิเวศ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง สังคมสิ่งมีชีวิตในป่า มีลักษณะคล้ายกับสังคมของมนุษย์ ที่มีทั้งการแก่งแย่งแข่งขัน เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด มีการเกิดใหม่ และทดแทน เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของตน มีการพึ่งพาอาศัยกัน เพื่อให้ได้ประโยชน์เอื้ออำนวยต่อกัน จนก่อให้เกิดเป็นระบบนิเวศหนึ่งขึ้นในผืนป่า

ภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า “เราไม่ค่อยได้คิดถึงในสิ่งหนึ่งนั่นก็คือเรื่องคุณภาพของตัวพื้นที่ป่า ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร พยายามสร้างตัวชี้วัดขึ้นมาว่า ความเป็นพื้นที่ป่าที่ดี มีคุณภาพ มันควรมีองค์ประกอบในเรื่องอะไรบ้าง เพราะฉะนั้น นอกจากความสำคัญในเรื่องคำนิยามเพื่อให้เกิดความชัดเจนและเข้าใจตรงกันในทุกฝ่าย ก็ต้องมาดูเรื่องคุรภาพของตัวพื้นที่ตรงนั้นว่าพื้นที่ป่าที่เราดูแลแยู่มีคุณภาพเพียงพอแล้วหรือยัง หรือว่ามันจะต้องไปปรับปรุง เพิ่มเติมส่วนใหญ่อีก เพื่อทำให้คุณค่าในเชิงนิเวศ มันสมบูรณ์ครบถ้วนตามที่ความเป็นป่าจะเื้ออำนวยความสะดวกแก่ชีวิตอื่นๆ ทั่วไปได้ด้วยเช่นกัน”

การเปรียบเทียบอัตราการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของพื้นที่ป่าไม้ 

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ป่าไม้ไทย มีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างคงที่ โดยมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้เปลี่ยนไปเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินรูปแบบอื่น เฉลี่ย 10 สนามฟุตบอลต่อชั่วโมง และขณะเดียวกัน มีพื้นที่ที่เปลี่ยนเป็นพื้นที่ป่าไม้เฉลี่ย 6 สนามฟุตบอลต่อชั่วโมง นั่นแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ป่าไม้ของไทย ยังคงมีแนวโน้มลดลงมากกว่าการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ป่าไม้

สถานการณ์ป่าไม้ไทย 2565 – 2566

สถานการณ์ป่าไม้ไทยในปัจจุบัน จากปี 2565 – 2566 พบว่าผืนป่าของไทย เหลือเพียง 101,818,155.76 ไร่ หรือคิดเป็น 31.47% โดยมีการศูนย์เสียพื้นที่ป่าไม้มากกว่า 130,000 ไร่ ลดลงจากปี 2565 ซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้ที่ยังคงสภาพไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด 101,627,819.86 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ ที่เปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่ป่า 190,335.90 ไร่ โดยสาเหตุหลักของการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่า ไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชน หรือสิ่งปลูกสร้าง และเกิดจากปัญหาไฟป่าที่มีความรุนแรงขึ้น 

ศศิน เฉลิมลาภ กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า “จากปีที่แล้วถึงปีนี้ มันไม่มีอะไรเปลี่ยนมาก แต่เหมือนค่อยๆ เสื่อมโทรมลงอย่างช้าๆ อะไรที่มันเคยพังมันก็ค่อยๆ พังไป ก็ถือว่ามันนิ่งๆ คงที่ยังได้ แต่มันมีแนวโน้มจะลดลง แต่ต้องไม่ลืมว่าเครื่องไม้เครื่องมือของคนที่ทำงานอนุรักษ์ กับสังคม ในวันนี้มีความพร้อมที่จะรักษาป่า เราไม่ได้อยู่ในยุคที่ป่าวิกฤต ในส่วนของความเป็นป่าอนุรักษ์ที่คิดเป็นพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศไทย 70 – 80 ล้านไร่ มันไม่ยุบหรือหายไปมากกว่านี้หรอก เพราะระบบการดูแลมันได้พอสมควร แต่ที่เหลืออีก 30 – 40 ล้านไร่ ที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติในการดูแลของกรมป่าไม้ ในส่วนนี้มันไม่ค่อยมีหลักประกันว่าจะอยู่รอดได้ แต่ว่ามันก็สามารถปรับปรุงบุคลากร เครื่องมือได้ เมื่อก่อนถ้าป่าไม้มันจะหมดไป มันก็หมดไปเพราะความยากจน เพราะความจำยอม เพราะระบบไม่พร้อม ความรู้ไม่มี เป็นประเทศยากจน แต่ปัจจุบัน มีคนรุ่นใหม่ ข้าราชการยุคใหม่ องค์กรยุคใหม่ ถ้าเราทำให้ป่าไม้หมดไปได้ มันเป็นการหมดแบบโง่ๆ เลวๆ อ้างอะไรไม่ได้เลย นอกจากความโง่ ก็แค่นั้นเอง”

ป่าไม้นับได้ว่าเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อมนุษย์โลกทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างยิ่ง เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ ที่ถือเป็นตัวช่วยในการรักษาอุณหภูมิของโลกให้คงที่ มีคุณสมบัติสำคัญ คือดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ สามารถเพิ่มความชื้นจากการปล่อยไอน้ำสู่บรรยากาศได้ ปกป้องผืนดินจากแสงแดด ช่วยรักษาสมดุลและความหลากหลายทางธรรมชาติ เป็นพื้นที่ต้นน้ำ แหล่งผลิตและกักเก็บน้ำจืดตามธรรมชาติ ที่ใหญ่ที่สุด เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์ป่านานาชนิด และยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจให้กับมนุษย์ได้เป็นอย่างดี 

รตยา จันทรเทียร อดีตประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า “เป้าหมายสำคัญของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ก็คือ ปกป้องผืนป่า สัตว์ป่า และธรรมชาติ ให้มนุษย์ได้เกื้อกูลธรรมชาติ ธรรมชาติคงอยู่ เพื่อเกื้อกูลมนุษย์

ดูเพิ่มเติม สถานการณ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อมฉบับเต็ม