กลุ่มรักษ์หนองมะค่า ยื่นหนังสือกรรมการสิทธิ ขอให้ตรวจสอบโครงการทำเหมืองแร่ ในเขตกันชนป่ามรดกโลก 

กลุ่มรักษ์หนองมะค่า ยื่นหนังสือกรรมการสิทธิ ขอให้ตรวจสอบโครงการทำเหมืองแร่ ในเขตกันชนป่ามรดกโลก 

10 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา กลุ่มรักษ์หนองมะค่า ตำบลสองพี่น้อง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ได้เข้ายื่นคำร้อง ขอให้ตรวจสอบการดำเนินธุรกิจและการพิจารณาใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แก่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ณ ห้องเสวนา 2 ชั้น 6 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  

โดยมี นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รับเรื่องร้องเรียน การดำเนินโครงการทำเหมืองแร่ ชนิดแร่โดโลไมต์ ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ ซึ่งอาจก่อให้ผลกระทบด้านสุขภาพ อาทิ มลภาวะทางอากาศ  เสียงรบกวน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อแหล่งน้ำใต้ดินและบ่อน้ำ รวมทั้งผลกระทบต่อระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น สัตว์ป่า แมลง และพืชพันธุ์ป่าไม้  

พื้นที่ที่จะทำการขอประทานบัตรเหมืองแร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือและป่ายางน้ำกลัดใต้ ในเขตหมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 8 ตำบลสองพี่น้อง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มีเนื้อที่ที่จะขอประทานบัตรรวมทั้งสิ้น 540 – 3 – 70 ไร่ และมีระยะห่างจากผืนป่ามรดกโลกแก่งกระจานเพียง 1.14 กิโลเมตร เท่านั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นพื้นที่เขตกันชนของผืนป่ามรดกโลก 

ดังนั้น กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นหากมีการทำเหมืองดังกล่าว เช่น การระเบิด แรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นแร่ การล้างแร่ 

การขนส่งแร่ ฯลฯ ล้วนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศธรรมชาติ การดำรงชีวิตและพฤติกรรมของสัตว์ป่าชนิดต่างๆ เช่น เลียงผา โดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่หายากใกล้สูญพันธุ์  และหรือมีคุณค่าต่อการอนุรักษ์ในระดับสากล จึงอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการเป็นพื้นที่มรดกโลกได้ และเป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่มีคุณค่าความโดดเด่นเป็นสากล (Outstanding Universal Value – OUV) จากที่กล่าวข้างต้น หากโครงการทำเหมืองแร่โดโลไมต์ได้รับประทานบัตรจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ในเกือบทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตแร่ มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบทางลบต่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

พื้นที่กันชนของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานยังมีธรรมชาติที่สมบูรณ์อยู่มาก ปรากฏสัตว์ป่ามีการอพยพโยกย้ายตามฤดูกาล เข้าและออก ระหว่างพื้นที่อุทยานและพื้นที่กันชน ดังนั้นการทำเหมืองในพื้นที่หนองมะค่าจะกระทบต่อคุณภาพและปริมาณของสัตว์ป่าภายในอุทยานด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พฤติกรรมสัตว์ป่าบางชนิด เช่น ช้างป่า อาจเปลี่ยนแปลงไปในทางลบหรือมีพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อตัวนักท่องเที่ยวและทรัพย์สินที่นำเข้ามาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและแหล่งท่องเที่ยวบริเวณโดยรอบได้ 

นอกจากนี้ การขุดดินเปิดพื้นที่เพื่อระเบิดและขุดแร่ลึกลงไปในดินจะมีผลกระทบต่อระบบน้ำใต้ดินของประชาชนโดยรอบพื้นที่โครงการ ซึ่งประชาชนโดยรอบพื้นที่โครงการมีอาชีพทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ และจะต้องพึ่งพาแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพตลอดจนอาชีพของประชาชนโดยรวม 

ตัวแทนกลุ่มรักษ์หนองมะค่า ได้พูดกับคุณปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชน ที่มารับจดหมายว่า “พวกเราฝากลมหายใจของพวกเราทุกคน ฝากไว้กับท่าน เพราะพวกเราเดือดร้อนจริงๆ” 

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนบริษัทที่ขอทำประทานบัตร เข้ามาประชาคมหมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบ แต่ยังไม่มีการยื่นเรื่องการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติในท้องที่ดังกล่าวกับหน่วยงานกรมป่าไม้ โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะเร่งดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนดังกล่าวต่อไป

ผู้เขียน

+ posts

ตำแหน่ง หมาเฝ้าป่า ผู้มีความหลงใหลในโลกใบจิ๋วของพืชและสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย มีความสุขกับการปั่นจักรยาน ทำขนมปัง และชอบใช้ของมือสอง