33 ปี มรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง จากวันที่ผ่านมาถึงวันข้างหน้า

33 ปี มรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง จากวันที่ผ่านมาถึงวันข้างหน้า

ผืนป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2534 หรือ 1 ปี หลังจาก สืบ นาคะเสถียร เสียชีวิต 

โดยผืนป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ผ่านข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก 3 ข้อ ได้แก่ ทั้งการเป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์หายากหรือสวยงามเป็นพิเศษ เช่น แม่น้ำ น้ำตก ภูเขา 

รวมถึงเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในการเป็นตัวแทนของกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางธรณีวิทยาหรือวิวัฒนาการทางชีววิทยา และปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่กำลังเกิดอยู่ และการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย 

อย่างไรก็ดี แม้การเป็นมรดกโลกอาจหลักประกันในการปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้ในระดับหนึ่ง แต่หากไร้ซึ่งการจัดการพื้นที่อย่างมีคุณภาพ คุณค่าต่างๆ ที่กล่าวถึงก็อาจพังทลายลงได้สักวัน 

จากเดือนธันวาคม พ.ศ. 2534 จนมาถึงวันนี้ เกือบ 33 ปี ที่ผ่านมา เมื่อมองย้อนกลับไปยังเกณฑ์พิจารณาต่างๆ ก็พบโจทย์ที่น่าสนใจว่า คุณค่าความสำคัญของผืนป่ามรดกโลกยังครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ระบุไว้หรือไม่ หรือในแง่ของการทำงานดูแลรักษาผืนป่า สัตว์ป่า และระบบนิเวศ จะยังสามารถต่อยอดจากสิ่งที่พัฒนามาแล้วไปในทิศทางใด มิติไหน เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นในอนาคต

หากกล่าวถึงผืนป่ามรดกโลกแห่งแรกของประเทศไทย คงต้องย้อนไปถึงการทำเอกสารเสนอชื่อต่อองค์การยูเนสโก คุณอรุณี อิ้วเจริญ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ผลักดันการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ได้เริ่มเกริ่นถึงความสำคัญของพื้นที่ว่า

ในเอกสารนำเสนอยูเนสโกได้ระบุเรื่องความโดดเด่นของพื้นที่ไว้ 3 ข้อ ตามเกณฑ์ยูเนสโก ประกอบด้วย เกณฑ์ข้อที่ 7 ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง มีลักษณะภูมิประเทศที่สลับซับซ้อนของเทือกเขาจากเหนือไปใต้ ด้วยลักษณะพื้นที่ที่มีความแตกต่างทำให้เกิดความสวยงาม รวมถึงเป็นต้นน้ำของแม่น้ำแควตอนบน และแม่น้ำแม่กลอง เป็นลำดับแรก

ข้อต่อมา เกณฑ์ข้อที่ 9 กระบวนการทางนิเวศวิทยาอันนำมาสู่วิวัฒนาการต่างๆ ที่ประกอบขึ้นจากลักษณะภูมิศาสตร์ 4 แบบ ซึ่งความแตกต่างของลักษณะภูมิประเทศมีผลต่อวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ ขณะที่ด้านป่าไม้จากที่จำแนกป่าได้ 7 ประเภท ที่นี่มีถึง 5 ประเภทด้วยกัน คือ ป่าดิบเขา ดิบแล้ง ป่าทุ่งหญ้า ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ก็มีส่วนอย่างมากต่อการเกิดวิวัฒนาการที่สำคัญ

และเกณฑ์ข้อ 10 ที่พูดถึงถิ่นที่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์หายากหรือตกอยู่ในภาวะอันตราย โดยในเอกสารระบุว่ามีตัวสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น ช้างกับเสือร้อยละ 77 และมีนกขนาดใหญ่อีกร้อยละ 50 ของชนิดสัตว์ที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นมรดกที่สำคัญของประเทศทั้งสิ้น

“การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมีวัตถุประสงค์หลักๆ คือ การอนุรักษ์คุณค่าของแหล่งมรดกโลกเพื่อส่งไปยังคนรุ่นถัดไป” 

คุณอรุณี กล่าวต่อว่า เมื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว คณะกรรมการมรดกโลกจะมีมติเสนอประเด็นควรติดตามเฝ้าระวังออกมาทันที แต่ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ไม่มีมติในวันรับรอง ซึ่งหมายความว่า ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ผ่านด้วยเกณฑ์ที่มีศักยภาพ และเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก (ในสมัยนั้น) คณะกรรมการมรดกโลกจึงไม่กังวลเรื่องการบุกรุกมากนัก

อย่างไรก็ดี ครั้งหนึ่งทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเคยได้รับการเตือนจากคณะกรรมการมรดกโลกในเรื่องการเกิดไฟป่า (พ.ศ. 2535) แต่เป็นการเตือนเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และไม่ใช่เพราะการบริหารจัดการไม่ดี แต่เตือนเพื่อขอทราบถึงแนวทางบริหารจัดการ และหลังจากนั้นไม่มีการเตือนเกิดขึ้นอีกเลย ซึ่งสะท้อนถึงแผนการจัดการที่มีความชัดเจนและมีศักยภาพ

ต่อเรื่อง ‘ไฟป่า’ ที่เคยถูกเตือน ผศ.ดร.กอบศักดิ์ วันธงไชย คณบดีคณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่ควรให้ความสำคัญ สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับพื้นที่อนุรักษ์ทุกที่ ซึ่งสะท้อนออกมาแล้วในเรื่องไฟป่า

“ถ้าหากเราจะยังคงความเป็นมรดกโลกเอาไว้ได้ เราต้องคำนึงถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ให้มาก โดยเฉพาะเรื่องไฟป่า ต้องเป็นแผนงานที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ” 

ผศ.ดร.กอบศักดิ์ ยังตั้งข้อสังเกตว่า นิเวศทุ่งหญ้าและป่าเต็งรัง ที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า จะต้องหาทางจัดการให้เหมาะสมทั้งในแนวทางจัดการทางวิชาการ ที่ต้องบำรุงรักษาลักษณะพื้นที่เอาไว้ (จำเป็นต้องมีไฟ) แต่ก็ต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายของภาครัฐที่ต้องการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นงานท้าทายการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ

นอกจากการจัดการภายในพื้นที่อนุรักษ์แล้ว การจัดการพื้นที่รอบๆ เขตอนุรักษ์ก็สำคัญเช่นกัน ในมุมของ ผศ.ดร.กอบศักดิ์ มองว่า ที่ผ่านมาชุมชนรอบๆ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นตัวอย่างที่ดีของงานอนุรักษ์ควบคู่ไปการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้นั้นสะท้อนกลับมาด้วยจิตสำนึกงานอนุรักษ์ที่เพิ่มมากขึ้น

“เมื่อก่อนงานอนุรักษ์ถูกมองว่าเป็นเรื่องที่กินไม่ได้ รับรู้กันในเชิงสปิริตด้านเดียว แต่วันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว งานอนุรักษ์มันกินได้ ก่อให้เกิดรายได้กับชุมชนโดยรอบ ทำให้สาธารณชนเกิดความรู้สึกหวงแหนพื้นที่ ช่วยสร้างจิตสำนึกโดยปริยายให้กับทุกคน จากรายได้ของสิ่งที่เราอนุรักษ์ ตรงนี้ถือเป็นจุดโดดเด่นอย่างหนึ่งของพื้นที่ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง” ผศ.ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

ในอีกด้านหนึ่ง ดร.โดม ประทุมทอง ได้ฉายให้เห็นถึงภาพความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณ และสัตว์ป่า โดยได้ยกตัวอย่างข้อมูลชนิดของพืชและสัตว์ที่เคยสำรวจในอดีตเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ซึ่งพบว่าความอุดมสมบูรณ์เหล่านั้นไม่ได้ลดลงเลย รังแต่เพิ่มมากขึ้น มีตัวอย่างที่ได้จากการสำรวจวิจัยและพบชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ที่ตกสำรวจหลายชนิด เช่น ค้างคาวมงกุฎหูโตสยาม เดิมบันทึกการพบเจอเพียงทางภาคเหนือของประเทศ หรือค้างคาวจมูกหลอดอันนัม ซึ่งถูกค้นพบบริเวณเทือกเขาอันนัม ประเทศเวียดนาม ก็สามารถพบได้ในพื้นที่มรดกโลก หรือชนิดพันธุ์หายากอย่าง รองเท้านารีเวศย์วรุตม์ ที่ไม่มีฐานข้อมูลมานานแต่ก็มาพบในพื้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

“งานวิชาการ งานบริหารจัดการของมรดกโลกที่มันดี ไม่มีข้อตำหนิ มาจากการบริหารจัดการโดยมีงานวิชาการเป็นตัวนำ ตลอด 30 ปีที่ผ่านมามีงานศึกษาวิจัยมากเกือบ 300 ชิ้น โดยเฉพาะที่ผืนป่าห้วยขาแข้ง”

อย่างไรก็ดี ดร.โดม ตั้งข้อสังเกตว่างานวิจัยส่วนมากเป็นเรื่องสัตว์ป่า เรื่องของพืชหรือถิ่นที่อยู่อาศัยยังมีอยู่น้อย เช่นเดียวกับข้อมูลเรื่องไฟป่า (ที่ถูกเตือน) ยังมีไม่มากนัก แต่ข้อมูลวิชาการที่มีน้อยที่สุดคือเรื่องคน โดยเฉพาะข้อมูลชุมชนในทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกและตะวันตก ซึ่งมีความจำเป็นต่อการบริหารจัดการพื้นที่ในอนาคต

แต่ทั้งหมดทั้งมวล ทุกเรื่องราวด้านบวกที่ถูกกล่าวขาน ข้อมูลงานวิจัยที่ได้ หลักฐานการเพิ่มขึ้นของสัตว์ป่า เช่น เสือโคร่ง และความอุดมสมบูรณ์ที่คงอยู่มาถึงวันนี้ คงไม่เกิดขึ้นหากไม่มี ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทุกคน’ ที่ทำงานอย่างทุ่มเทและเสียสละ เดินลาดตระเวนป้องปรามภัยคุกคามทั่วผืนป่ามรดกโลก ซึ่งคิดรวมเป็นระยะทางทั้งหมดถึง 690,882 กิโลเมตร (นับจากปี พ.ศ. 2550 – 2566) 

“หากเรานับตามเส้นศูนย์สูตร เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งเดินรอบโลกไปแล้ว 17 รอบ เทียบได้กับระยะทางจากโลกไปดวงจันทร์ ซึ่งอยู่ห่างจากโลกของเราไป 384,000 กว่ากิโลเมตร ตอนนี้เจ้าหน้าที่ทุ่งใหญ่นเรศวรเดินไปถึงดวงจันทร์แล้ว และกำลังเดินกลับลงมาที่ห้วยขาแข้งเกือบครบ 1 รอบไปกลับ” ดร.โดม กล่าว

ดร.โดม กล่าวทิ้งท้ายว่า ด้วยการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า การศึกษาวิจัย และการบริหารพื้นที่เชิงวิชาการ ทุกวันนี้ผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง จึงแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนโดยรอบ ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งยังให้ก่อประโยชน์แก่คนเมืองที่อยู่ห่างไกลออกไปอีกประการ ซึ่งทราบหรือไม่ว่า น้ำจากโรงประปามหาสวัสดิ์ รับมาจากแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำแควตอนบน ลำห้วยขาแข้ง และลำน้ำสาขาต่างๆ จากพื้นที่มรดกโลก มาช่วยผลักดันน้ำเค็มช่วยแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ให้กระทบการผลิตน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค 

อันเป็นสิ่งที่ใครหลายคนจับต้องได้ จากการคงอยู่ของผืนป่ามรดกโลก ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม