34 ปี มูลนิธิสืบนาคะเสถียร – ภาณุเดช เกิดมะลิ

34 ปี มูลนิธิสืบนาคะเสถียร – ภาณุเดช เกิดมะลิ

กันยายน 2566 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธานองค์กรใหม่ มาเป็นคุณภาณุเดช เกิดมะลิ นับเป็นประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรลำดับที่ 4 ต่อจาก อาจารย์รตยา จันทรเทียร อาจารย์สุรพล สุดารา และอาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ

จากอาสาสมัครทำงานภาคสนามกับมูลนิธิสืบฯ มาเป็นเจ้าหน้าที่ เป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานของกรมป่าไม้ เป็นผู้จัดการโครงการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม และขยับมาเป็นเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

กระทั่งปีที่ผ่านมา ได้รับมอบหมาย และความไว้วางใจกรรมการและเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้มารับหน้าที่ประธานในวันที่เรื่องราวบนโลกเต็มไปด้วยเรื่องดิสรัปชัน

จากวันนั้นมาถึงวันนี้ ในปีที่ 34 กับการก้าวไปข้างหน้า และในความหมายของการดำรงอยู่ของการเป็นนักอนุรักษ์ ภาณุเดช บอกว่า เราก็เหมือนเพื่อนที่ช่วยเตือนกัน ห้ามกัน ถ้าเพื่อนขับรถเร็วก็ต้องเตือนให้ชะลอหน่อย แต่ถ้ายังไม่ฟังก็อาจต้องออกแรงช่วยเหยียบเบรก

เพราะงานอนุรักษ์เป็นงานที่ไม่มีวันเสร็จ สถานการณ์ปัญหามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สังคมไม่เคยหยุดนิ่ง ปัญหาสภาพแวดล้อมก็ไม่หยุดนิ่งด้วยเช่นกัน และนับวันจะมีความรุนแรง เกิดเร็วและสูญเสียมากขึ้น

การคอยเตือนคอยห้าม จึงเป็นหน้าที่ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเป็นความตั้งใจของ ภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรคนปัจจุบัน

ตอนที่รู้ว่าตัวเองจะต้องขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของมูลนิธิสืบฯ ในฐานะผู้ที่ทำงานมานานกว่า 24 ปี รู้สึกอย่างไรบ้าง

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีระเบียบการดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิชัดเจน คือวาระละ 4 ปี ดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน มีขั้นตอน กระบวนการพิจารณาประธานมูลนิธิ เริ่มจากพิจารณาโดยคณะกรรมการมูลนิธิ เสนอชื่อ และข้อมูลประกอบการพิจารณา มีคณะทำงานกลั่นกรองพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง พร้อมกับประสานทาบทามการดำรงตำแหน่ง โดยรับฟังความเห็นจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิด้วย แล้วจึงเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ เพื่อขอมติที่ประชุม

ส่วนตัวเองที่เข้ามารับตำแหน่งประธาน ต้องบอกตรงๆ ว่าเริ่มต้นไม่ได้คิดจะมารับตำแหน่งนี้ เนื่องจากประธานมูลนิธิ ต้องมีคุณสมบัติพิเศษหลายอย่าง ซึ่งเรายังขาดอยู่ เช่น เป็นผู้มีความรู้ และการยอมรับในสังคม การทำงานอย่างมุ่งมั่นและสละเวลาส่วนตัวให้กับการทำงานได้อย่างเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวคิดการทำงานที่สอดคล้องกับองค์กรด้วย แต่เมื่อกรรมการมูลนิธิเห็นว่าเรามีความเหมาะสม ก็ยินดีทำหน้าที่นี้ คิดว่าประสบการณ์การทำงานมาเกือบจะ 25 ปี แล้ว น่าจะช่วยสานต่อการทำงานขององค์กรได้ ต้องขอบคุณคณะกรรมการทุกท่านที่ให้โอกาส

จุดเด่นของยุคอาจารย์รตยากับอาจารย์ศศินในสายตาคุณคืออะไร ความท้าทายในยุคของแต่ละท่านอยู่ตรงไหน

ประธานมูลนิธิสืบฯ ทั้ง 3 ท่าน คือ อาจารย์รตยา จันทรเทียร อาจารย์สุรพล สุดารา และ อาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ มีสไตล์การทำงานที่ต่างกันค่อนข้างชัดเจน โดยอาจารย์รตยา ซึ่งผมทำงานกับอาจารย์มาตั้งแต่ปี 2542 เห็นว่าอาจารย์รตยามีจุดเด่นเรื่องการวางรากฐานการบริหารองค์กรให้มีระบบ การใช้งบประมาณอย่างโปร่งใส นำความรู้ประสบการณ์จากที่เคยเป็นผู้ว่าการเคหะแห่งชาติมาปรับใช้ในมูลนิธิ ขณะเดียวกันเมื่อเกษียณแล้ว ตัวอาจารย์ก็ได้ไฟเขียวจากครอบครัวให้มาทำงานที่มูลนิธิได้เต็มที่ พร้อมให้การสนับสนุนการทำงานด้วยดีตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยความเป็นคนเรียบง่าย นอบน้อมต่อผู้คน จึงเป็นที่รักของบุคลากรในมูลนิธิและผู้ได้ร่วมงานทุกๆ คน แต่เมื่อเป็นหลักการอนุรักษ์ อาจารย์จะชัดเจน และไม่ยอมใคร

ส่วนอาจารย์สุรพล ถือเป็นรุ่นใหญ่ของวงการอนุรักษ์ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ และมีลูกศิษย์มากมาย อาจารย์สุรพลจึงสามารถประสานความร่วมมือในการทำงานและการสนับสนุนองค์กรเป็นอย่างดี ในช่วงนั้นผมมารับผิดชอบงานป่าตะวันตก มีอาจารย์ศศินเริ่มเข้ามาช่วยงานมูลนิธิในช่วงเวลาเดียวกัน

อาจารย์ศศิน สอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยรังสิต และมีโครงการพานักศึกษาลงไปเก็บข้อมูลการปนเปื้อนแร่ตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ซึ่งมูลนิธิก็สู้เรื่องนี้อยู่ อาจารย์รตยาจึงชวนมาช่วยงานที่มูลนิธิ อาจารย์สุรพลก็ชวนให้เป็นกรรมการ และมารับหน้าที่ผู้จัดการโครงการจอมป่า (โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก) แบบเต็มเวลา อาจารย์ศศินเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจศาสตร์ทุกแขนง สามารถนำความรู้ต่างๆ มาพัฒนาการทำงานได้อย่างดี ประกอบกับการเป็นครู เจ้าหน้าที่มูลนิธิทุกคนเลยได้รับการถ่ายทอดความรู้ ความคิด วิธีการทำงาน และหลายๆ เรื่อง จากอาจารย์มาด้วย วิถีเฉพาะบุคคลของอาจารย์ศศินทำให้โครงการจอมป่าได้รับการยอมรับจากพี่น้องชุมชน และหน่วยงานอนุรักษ์ในพื้นที่มาร่วมมือกันทำงานจนสำเร็จ ส่วนตอนที่ต้องสวมบทบู๊ ก็ไม่ยอมใครเหมือนกัน เช่น การเดินเท้าคัดค้าน EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์ ตัวอย่างทั้งสามท่านนี้ ผมเลยมองว่า การจะรับตำแหน่งประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ควรต้องเป็นผู้มีมาตราฐานไม่น้อย

ภายใต้ยุคดิสรัปชั่นเช่นปัจจุบัน ไม่ว่าจะความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมือง สังคม ตลอดจนค่านิยมของผู้คน ทุกวงการต่างต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด ไม่เว้นแม้แต่ ‘นักอนุรักษ์’ คุณคิดว่าคนที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ รวมถึงมูลนิธิสืบ ได้รับผลกระทบด้านใดบ้าง ต้องปรับตัวแค่ไหน อย่างไร

เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่มีผลโดยตรงกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แต่ในมุมมองผม มันไม่ใช่ปัญหาที่เป็นด้านลบอย่างเดียว แต่มันเป็นด้านบวกที่ทำให้เราสามารถปรับตัว สร้างโอกาสการทำงานอนุรักษ์ในยุคสมัยนี้ได้ด้วย มูลนิธิเริ่มปรับตัวเองกับเรื่องนี้มาตั้งแต่สมัยอาจารย์ศศินเป็นประธาน จากกรณีการเดินเท้าคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ที่เราพยายามสื่อสารเรื่องนี้กับสาธารณชนโดยรูปแบบสื่อปกติอย่างไรก็ยังไม่สำเร็จ แต่เมื่อเลือกใช้เครื่องมือจากเทคโนโลยีใหม่ๆ (ในช่วงนั้น) เช่น เฟซบุ๊กมาเป็นตัวสื่อสารข้อมูล เหตุการณ์จึงได้เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ รูปแบบการสื่อสารของมูลนิธิกับสาธารณะก็เปลี่ยนไปด้วย เรื่องนี้แทบจะเปลี่ยนมูลนิธิในทุกมิติงาน หากไม่ปรับตัวก็ไม่รอด

ชั่วโมงนี้ อุปสรรค ความยาก ความท้าทายที่สุดในการทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร คืออะไร

ขอแบ่งการประเมินในมุมมองของผมออกมาเป็น 4 ด้าน เรื่องแรก คือ สถานการณ์ภายนอก เพราะสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก สถานการณ์ปัญหาก็เช่นกัน แต่ยังมีเรื่องหลักๆ วนอยู่เหมือนเดิม เช่น บริบทสังคม การเมืองเปลี่ยน โดยเฉพาะเมืองไทยมีความเฉพาะตัวสูงมาก และนโยบายของรัฐบาลก็เปลี่ยนบ่อยมากๆ ตามรัฐบาลแต่ละคณะ

มุมมองที่สองเป็นเรื่องภายในมูลนิธิ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานมาถึง 34 ปี มีคณะกรรมการมูลนิธิบริหารองค์กร ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ที่จัดทำทุก 4 ปี การขับเคลื่อนงาน จึงต้องทำให้สอดคล้องกับสถานการณ์อยู่เสมอ และตอนนี้มูลนิธิมีเจ้าหน้าที่ถึง 30 คน ทำงานประจำอยู่ โดยส่วนใหญ่อยู่ในวัย 25-35 ปี ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากคนร่วมรุ่นคุณสืบ เป็นคนหลังรุ่นคุณสืบ ที่ไม่ได้อยู่ในช่วงที่คุณสืบยังมีชีวิตด้วย

มุมมองที่สาม เรื่องผลงาน เนื่องจากองค์กรเป็นที่ยอมรับจากสาธารณชนในเรื่องการทำงานอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่า สังคมจึงมีความคาดหวังองค์กรสูง ผมยอมรับความคาดหวังนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดี และได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างดี

มุมมองสุดท้าย คือ ทุนในการทำงาน ด้วยความผันผวนทางเศรษฐกิจ มีผลต่อการระดมทุนของมูลนิธิ เราต้องพัฒนรูปแบบการระดมทุน และให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าที่สุด และในสมัยที่ผมเป็นประธาน ทุนของมูลนิธิต้องไม่ลดลงจากเดิม

ปัจจุบันภาพรวมของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นอย่างไรบ้าง ทั้งเรื่องเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ เครือข่าย เงินทุน ภาพลักษณ์ มีความพร้อมแค่ไหน

มูลนิธิมีเจ้าหน้าที่ทำงาน 30 คน ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งมูลนิธิมีความพร้อมตอบสนองการทำงานของเจ้าหน้าที่ในทุกๆ ด้าน เช่น สำนักงาน ยานพาหนะ อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน เรากำลังมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลภายใต้แผนยุทธศาสตร์ปัจจุบันนี้ ในส่วนการวิเคราะห์ภายนอกองค์กร ตามที่ได้กล่าวไปว่า เนื่องจากองค์กรเป็นที่ยอมรับจากสาธารณชนในเรื่องการทำงานอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่า สังคมจึงมีความคาดหวังองค์กรสูง

เรื่องเงินบริจาค ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นทุนในการขับเคลื่อนองค์กร อยากทราบว่าเงินบริจาคสำคัญอย่างไร มาจากไหน สำคัญแค่ไหน และที่ผ่านมาต้องเผชิญกับอุปสรรคอะไรบ้าง

เงินบริจาคมีความสำคัญกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรมากๆ ซึ่งคงเป็นเหมือนกันทุกหน่วยงาน เพราะถือเป็นตัวขับเคลื่อนงานทุกๆ ด้าน มูลนิธิเคยประสบปัญหาจนต้องปรับโครงการสร้างการบุคลากรครั้งใหญ่ เมื่อปี 2558 เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอต่อการทำงาน ที่ผ่านมามูลนิธิใช้งบประมาณบริหารองค์กรมาจากดอกเบี้ยเงินฝากจากทุนมูลนิธิ และขอรับงบประมาณสนับสนุนเพื่อทำกิจกรรมเป็นโครงการๆ ไป โดยมีเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มเวลาประมาณ 5 คน ในช่วง 10 ปี แรกของการตั้งองค์กร แต่ปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากให้ผลตอบแทนน้อยลง ไม่เพียงพอต่อการใช้บริหารองค์กร จึงต้องพัฒนากิจกรรมและรูปแบบการระดมทุนเพิ่มขึ้น โดยไม่ให้ขัดกับการเป็นองค์กรสาธารณะที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร ทุกวันนี้กองทุนมูลนิธิ 60 เปอร์เซ็นต์ มาจากการบริจาคของสาธารณชน 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนโครงการต่างๆ ส่วนนี้มีทั้งการสนับสนุนจากในประเทศและจากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศ และอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นงบประมาณจากกิจกรรมการระดมทุน และจากผลิตภัณฑ์ที่ระลึก

ชื่อ ‘สืบ นาคะเสถียร’ ยังขลังอยู่ไหม?

วันนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากบุคคล คือ คุณสืบ นาคะเสถียร เป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่าสำหรับคนรุ่นหลัง เนื่องจากสิ่งที่คุณสืบคิดและทำสมัยมีชีวิตเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤติของโลกที่เกิดขึ้น และส่งผลถึงคนรุ่นนี้โดยตรงที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ เราจึงเห็นคนรุ่นใหม่ๆ มาสื่อสารเรื่องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติกันมากขึ้น โดยบวกกับกระแสความสนใจธรรมชาติ ของคนในเมืองกำลังเป็นที่นิยม ซึ่งถือเป็นเรื่องดี และเป็นโอกาสที่มูลนิธิจะมีเพื่อนร่วมกันดูแลปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่ามากขึ้น แม้องค์กรด้านการอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่าจะเหลือน้อยลงก็ตาม

ปัจจุบันมูลนิธิสืบนาคะเสถียรกำลังทำอะไรอยู่บ้าง แผนยุทธศาสตร์ ทั้งระยะสั้น ระยะยาว เรื่องเร่งด่วน เรื่องที่ต้องเตรียมพร้อม รวมถึงทิศทางและเป้าหมายในอนาคต

แผนยุทธศาสตร์มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจะจัดทำทุก 4 ปี ปัจจุบันอยู่ในแผนประจำปี พ.ศ. 2567 – 2570 ถือเป็นเข็มทิศที่จะพาองค์กรมุ่งไป

ในช่วง 4 ปีนี้ เราให้ความสำคัญกับการทำงานในผืนป่ามรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และแนวเขตกันชนซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นป่าสงวนแห่งชาติโดยรอบ แล้วนำเอาผลที่ได้มาขับเคลื่อนเชิงนโยบาย รวมถึงการรณรงค์คัดค้านโครงการ กิจกรรมที่จะมีผลกระทบต่อผืนป่า สัตว์ป่าในพื้นที่เหล่านี้ เครื่องมือที่เราใช้การขับเคลื่อน คือภาคความร่วมมือในทุกระดับและการสื่อสารซึ่งเป็นหัวใจหลักของมูลนิธิ โดยมีกองทุนและความพร้อมของสำนักงานเป็นฐานสนับสนุน

จากแผนยุทธศาสตร์ที่ได้รับการอนุมัตจากคณะกรรมการมูลนิธิจะถูกแปลงเป็นแผนรายปี เพื่อทำให้กิจกรรมมีความชัดเจนในทางปฏิบัติมากขึ้น และภารกิจเหล่านี้ มีการทบทวนอยู่ตลอด จึงสามารถปรับแก้ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ได้ตลอด

ถ้าพูดถึงเป้าหมายในอนาคต ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ส่วนตัวผมเห็นว่าต้องไม่มีมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นั่นหมายถึง ภารกิจของมูลนิธิถูกถ่ายโอนไปสู่หน่วยงานหลักทำหน้าที่เหล่านี้ได้แล้ว ระบบการแก้ปัญหาของประเทศได้รับการดูแล และบริหารจัดการร่วมกับทุกภาคส่วน มูลนิธิเกิดขึ้นจากจุดบอดเพื่อแก้ไขที่เกิดปัญหาในวันนั้น เมื่อภารกิจเสร็จสมบูรณ์ ก็ควรยุติ แต่คงยังไม่ใช่ตอนนี้

“งานอนุรักษ์เป็นงานที่ไม่มีวันทำเสร็จ” คุณคิดยังไงกับประโยคนี้

เห็นด้วยกับคำพูดนี้ครับ แต่ผมก็ไม่ได้หมายถึงมูลนิธิสืบนาคะเสถียรต้องทำงานไปอีกร้อยปี พันปีนะครับ อาจจะเปลี่ยนรูปแบบองค์กร ยุบ หรือมีองค์กรใหม่ๆ ที่ตั้งมาเพื่อตอบสนองภารกิจอย่างเหมาะสม เพราะสถานการณ์ปัญหามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สังคมไม่เคยหยุดนิ่ง ปัญหาสภาพแวดล้อมก็ไม่หยุดนิ่งด้วยเช่นกัน และนับวันจะมีความรุนแรง เกิดเร็วและสูญเสียมากขึ้น

ยกตัวอย่างถึงคนที่นั่งรถยนต์มาด้วยกัน คนขับรถเร่งความเร็วเพื่อต้องการให้ไปถึงจุดหมาย แต่เราเป็นเพื่อนที่นั่งรถมาด้วย เห็นว่าข้างหน้ามีก้อนหินขวางอยู่ ถ้าเราหยุดรถไม่ทัน อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ จึงเตือนเพื่อนที่กำลังขับรถ ทั้งพูดเตือน ดุเพื่อน ช่วยเหยียบเบรค หรือต้องดึงเบรคมือ ฯลฯ เพื่อให้รถลดความเร็วลง หรือจอด แต่เพื่อนก็ไม่ฟัง ไม่เชื่อ ซึ่งสุดท้ายไม่รู้ว่าจะเบรคทันหรือไม่ การทำงานอนุรักษ์ก็เหมือนเพื่อนที่ช่วยเตือนกัน ห้ามกันนี่ล่ะครับ

หมายเหตุ บทสัมภาษณ์นี้จัดทำขึ้นประกอบงานวีดีโอสื่อสารองค์กร ในวาระ 34 ปี สืบ นาคะเสถียร คำถามโดย อินทรชัย พาณิชกุล