ข้อมูลจากการประเมินจำนวนประชากร ‘เสือโคร่ง’ ในผืนป่าของไทย เมื่อ 10 ปีก่อน พบว่าไทยมีเสือโคร่งในป่าธรรมชาติไม่ถึง 100 ตัว
แต่หลังจากผ่านการทำงานอนุรักษ์อย่างเข้มข้น ด้วยการศึกษาวิจัย และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง การจัดการถิ่นอาศัยและประชากรเหยื่อของเสือโคร่ง ตลอดจนการกระจายตัวของเสือโคร่ง ทำให้ปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากร ‘เสือโคร่ง’ ตัวเต็มวัยอยู่ประมาณ 179 – 223 ตัว
นอกจากจำนวนที่เพิ่มขึ้นแล้ว สิ่งนี้ยังหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่เป็นบ้านของเสือโคร่งหลายๆ แห่งที่ได้รับการดูแล ยกระดับการป้องกัน ตลอดจนการรักษาประชากรสัตว์กีบขนาดใหญ่ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งเอาไว้ได้อีกด้วย
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้ความเห็นในงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2567 เอาไว้ว่า จำนวนประชากรเสือโคร่งที่เพิ่มขึ้นนั้นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของระบบการบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในรูปแบบภูมิทัศน์เชิงนิเวศ และการทำงานเพื่อเอาชนะความท้าทายในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบการจัดการตามหลักวิทยาศาสตร์ การติดตามการบังคับใช้กฎหมายการปรับปรุงพัฒนาระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ วางโครงสร้างการบริหารจัดการตามระบบนิเวศ
รวมถึง การเพิ่มศักยภาพพัฒนาทักษะด้านการจัดการพื้นที่คุ้มครองของหัวหน้าหน่วยงาน และการลาดตระเวนเชิงคุณภาพของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ปฏิบัติงานครอบคลุมพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการร่วมบริหารจัดการพื้นที่ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าว
โดยปัจจุบันพบเสือโคร่งกระจายอยู่ในกลุ่มป่าต่างๆ ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก 152 – 196 ตัว กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 19 ตัว กลุ่มป่าแก่งกระจาน-กุยบุรี 5 ตัว กลุ่มป่าฮาลา-บาลา 2 ตัว และกลุ่มป่าชุมพร 1 ตัว
และจากข้อมูลเชิงประจักษ์ งานอนุรักษ์เสือโคร่งในผืนป่าไทย จึงถูกยกให้เป็น ‘แชมเปี้ยนส์ด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ จากในที่ประชุมการเงินที่ยั่งยืนเพื่อการอนุรักษ์ภูมิทัศน์เสือโคร่ง (Sustainable Finance for Tiger Landscapes Conference: SFTLC) เมื่อวันที่ 22 – 23 เมษายน 2567 ณ เมืองพาโร ราชอาณาจักรภูฏานที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เพราะงานอนุรักษ์เป็นงานที่ไม่มีวันทำเสร็จ การฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งก็ยังเป็นงานทีทำต่อเนื่อง ฐานะแชมเปี้ยนส์ในวันนี้ไม่ใช่สิ่งการันตีว่าอนาคตจะมีมากกว่า 179 – 223 ตัว และเรื่องราวในปัจจุบันก็ยังเป็นเพียงก้าวแรกๆ ของงานอนุรักษ์เสือโคร่ง ตามแผนปฏิบัติการเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2565 – 2577 (แผนฉบับแรก พ.ศ. 2553-2565) ยังมีงานที่ต้องทำอีกมาก
ในเวทีเสวนาส่องทาง..มองมุมเสือโคร่งคืนถิ่น เนื่องในวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2567 ผู้ร่วมเสวนา ตัวแทนจากภาคีเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ที่ทำงานอนุรักษ์เสือโคร่งร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ เห็นตรงกันว่า การจะอนุรักษ์เสือโคร่งเอาไว้ได้นั้น ประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ อาทิ การปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัย ที่ต้องมีป่าผืนใหญ่ที่มีความต่อเนื่อง มีแหล่งอาหารที่เพียงพอ ความเข้มแข็งของคนทำงานอนุรักษ์ ตลอดจนการสร้างความตระหนักรู้กับประชาชน และมีอีกหลายเรื่องที่ต้องยกระดับขึ้นมา
ดร.รุ้งนภา พูลจำปา องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ให้ความเห็นว่า การฟื้นฟูจำนวนประชากรเสือโคร่งนั้นไม่ได้หมายความถึงตัวของเสือโคร่งเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงจำนวนประชากรของเหยื่อด้วย โดยเฉพาะสัตว์กีบขนาดใหญ่อย่างกวางป่าและวัวแดง ซึ่งประชากรเหยื่อถือเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนเสือโคร่งได้หรือไม่
“ที่ผ่านมา WWF ได้ทำงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในเรื่องการเพิ่มจำนวนประชากรกวางป่า ซึ่งพบว่าประชากรในธรรมชาติและกรงเลี้ยงยังถือว่าน้อย ดังนั้น จึงได้ร่วมมือกับสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าหลายแห่ง เพื่อเพิ่มพูนประชากรกวางป่า ที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติมีความเชี่ยวชาญการเพาะเลี้ยงและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องเหยื่อเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่ทางเราอยากเน้นและให้ความสำคัญ”
ดร.รุ่งนภา อธิบายต่อว่า ความสำเร็จของการอนุรักษ์เสือโคร่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรนั้นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่ามีเสือโคร่งเพิ่มมากขึ้น จากนี้ต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไรจึงจะขยายพื้นที่ไข่แดงอย่างทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ไปยังพื้นที่ใกล้เคียงให้มีศักยภาพในการรองรับประชากรเสือโคร่งได้มากขึ้น เช่น พื้นที่กลุ่มป่าตะวันตกตอนบนอย่างอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลาน
ดร.พรกมล จรบุรมย์ จากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) แสดงความเห็นถึงงานป้องปรามการล่าสัตว์ ซึ่งจากการสนับสนุนกรมอุทยานแห่งชาติเรื่องงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และมีการเก็บข้อมูลด้านต่างๆ ต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ทำให้ทราบว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยงที่อาจเกิดการล่าเสือโคร่ง หรือการล่าสัตว์ประชากรเหยื่อของเสือโคร่ง ตลอดจนการลักลอบตัดไม้ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ ขั้นตอนหลังจากนี้ คือ การนำข้อมูลไปขยายผลกับแผนงานด้านต่างๆ ที่สอดคล้องกับงานป้องกันถิ่นที่อยู่อาศัยและตัวของสัตว์ป่าเอง เพื่อหยุดไม่ให้เกิดการล่าสัตว์ป่าทั้งเสือโคร่งและสัตว์กีบเกิดขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนมีความปลอดภัยด้วย
“เรามีคำง่ายๆ ว่าจับก่อนตัด จับก่อนล่า เป็นการป้องกันก่อนเขาเข้ามาเอาทรัพยากรออกไป หรือจับก่อนนำไปค้าข้ามชาติได้ ซึ่งทางองค์กรเอกชนมีข้อมูลและเทคโนโลยีที่สามารถช่วยกรมอุทยานแห่งชาติฯ วิเคราะห์รายละเอียดต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้”
นายประทีป มีคติธรรม ผู้แทนจาก IUCN ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่าการฟื้นฟูจำนวนประชากรเสือโคร่งจำเป็นต้องมองถึงมาตรการสำหรับอนาคต เมื่อเสือโคร่งมีเพิ่มมากขึ้นอาจทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือตามมาเช่นกัน ซึ่งมีบทเรียนแล้วในประเทศอินเดียและเนปาล ถ้าหากกรณีนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย จะดำเนินการอย่างไร ตัวอย่างเช่นพื้นที่ป่าตะวันตกตอนใต้ที่มีชุมชนตั้งถิ่นฐานและมีการเลี้ยงปศุสัตว์ค่อนข้างมาก จะทำอย่างไรให้มีความปลอดภัยมากที่สุด เช่นเรื่องการสร้างความรู้ความเข้าใจกับชุมชน เป็นต้น
“ในเรื่องของภาพลักษณ์ เสือโคร่งมักถูกสื่อเป็นสัตว์นักล่าที่ดุร้าย แต่ผมอยากให้อีกมุม คืออัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตเพราะเสือโคร่งต่ำกว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนมาก บางคนอาจคิดว่าถ้าเสือออกมานอกป่า มันจะทำร้ายเรา แต่จริงๆ แล้วโอกาสมันเกิดน้อยมาก” นายประทีปกล่าว
ทั้งนี้ ในประเด็นดังกล่าว นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า ในอนาคตคาดหวังว่าจะรักษาสภาพสิ่งที่มีอยู่ จนนำไปสู่การเพิ่มจำนวน และกระจายเสือโคร่งไปยังถิ่นที่เคยมีในอดีต ซึ่งต้องเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน คนกับเสือจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ต้องเกิดความตระหนักรู้ ความเข้าใจ โดยเฉพาะในพื้นที่ทับซ้อนซึ่งมีโอกาสพบเจอเสือได้ง่าย
“ปกติเสือแต่ละตัวจะมีอาณาเขตของตัวเอง เสือที่จะครองถิ่นได้ต้องมีความแข็งแรง สามารถล่าเหยื่อ คุมพื้นที่ได้ แต่ถิ่นก็ไม่ได้เป็นของเสือตัวใดตัวหนึ่ง เมื่อมีตัวหนุ่มที่แข็งแรงกว่าเข้ามา เสือตัวที่อ่อนแอกว่าก็ต้องถอยร่น ขยับหนี หาที่ที่สามารถล่าเหยื่อได้ง่าย บางทีอาจออกมาหากินใกล้ชุมชน เพราะป่าในปัจจุบันถูกแทรกด้วยที่ทำกินของราษฎร และเป็นไปไม่ได้ที่จะให้คนออกจากพื้นที่ แต่ต้องสื่อสารให้เขารู้พฤติกรรมของบรรดาสัตว์ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ได้”
นอกจากนี้ ในเวทียังกล่าวถึงปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาในเชิงลึกว่าจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างไร หากเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางระบบนิเวศ เช่น ทุ่งหญ้าเกิดการเปลี่ยนแปลง ประชากรเหยื่อจะเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไร และจะกระทบกับสัตว์ผู้ล่ามากแค่ไหน ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไป
สำหรับแผนปฏิบัติการเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2565 – 2577 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้ ประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติเพิ่มขึ้นภายใต้ความสามารถในการรองรับได้ของพื้นที่ในกลุ่มป่าที่เป็นถิ่นอาศัย โดยยกระดับระบบการจัดการพื้นที่และการติดตามตรวจวัดที่มีประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อนำไปประเทศไทย สู่การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี พ.ศ. 2577
โดยได้กำหนดเป้าหมายภาพรวมไว้ 3 ข้อ ประกอบด้วย (1) รักษาและยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองพื้นที่ในกลุ่มป่าตะวันตก (2) เสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการพื้นที่ คุ้มครองป้องกันพื้นที่และเพิ่มศักยภาพของระบบการติดตามตรวจวัดประชากรในกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
และ (3) มีการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก
ขณะที่การดำเนินการแบ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้น (4 ปี) ระยะกลาง (8 ปี) และระยะยาว 12 ปี
ซึ่งเรื่องราวต่างๆ นี้ เป็นสิ่งที่เราต้องติดตามและสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ดังความเห็นของ ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ อดีตนักวิจัยที่ติดตามประชากรเหยื่อของเสือโคร่ง กล่าวไว้ในงานเสวนาว่า
“สัตว์ทุกชนิดคือเพื่อนร่วมโลกของเรา ทุกคนอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน เราต้องช่วยกันดูแลไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ผ่านเจ้าหน้าที่หรือผ่านองค์กรภาคเอกชน หรือทำด้วยตัวเอง ความสำเร็จที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรก ถือเป็นความสำเร็จของทุกภาคส่วน ขอชื่นชมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เดินลาดตระเวนหนักมาก ภาคเอกชน และภาคประชาชน
“และประเด็นสุดท้ายคือก้าวต่อไป ในวันนี้เราทำดีในระดับหนึ่งแล้ว ก็ต้องดูสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การทำงานต้องเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ ใครไม่เข้าใจ เราเข้าไปอธิบายไปเสริม ส่วนไหนยังไม่เข้มแข็ง ก็ไปทำให้เกิดความเข้มแข็ง ขอให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน”
อ้างอิง
- แผนปฏิบัติการเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2565 – 2567
- LIVE !! พิธีเปิดงานวันเสือโคร่งโลก (Global Tiger Day) 2024 และ ส่องทาง…มองมุมเสือโคร่งคืนถิ่น
ภาพเปิดเรื่อง วัชรบูล ลี้สุวรรณ
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม