‘เหมืองทองอัครา’ กับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข 

‘เหมืองทองอัครา’ กับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข 

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 เหมืองแร่ชาตรี หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘เหมืองทองอัครา’ ได้กลับมาเปิดทำการอีกครั้งในรอบ 6 ปี หลังจากรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยมีคำสั่งระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านโดยรอบเมื่อปี 2559 โดยรัฐบาลมีความเห็นชอบ ‘ต่ออายุ’ ประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ทองคำและเงิน จำนวน 4 แปลง ออกไปอีก 10 ปี (ประทานบัตรในการทำเหมืองทองจะมีอายุตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2574) ปัจจุบันเหมืองได้ทำการเริ่มหลอมแท่งอัลลอยทองคำ-เงิน รุ่นแรก จากแร่ที่ขุดมาตั้งแต่ปี 2559 

และหลังจากการกลับมาเปิดเหมืองทองอัคราอีกครั้ง ถือเป็นการซ้ำเติมปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนโดยรอบพื้นที่เหมืองทองคำแห่งนี้ ซึ่งพี่น้องได้ทำหนังสือคัดค้านและร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด เหตุเพราะปัญหาเก่ายังเคลียร์ไม่จบ แต่กลับมาซ้ำเติมปัญหาเข้าไปอีก  

สภาพพื้นที่ที่มีการทำเหมืองทองคำอัครา

24 กรกฎาคม 2567 กลุ่มตัวแทนพี่น้องตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และพี่น้องตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ กว่า 40 คน เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) พร้อมแนบรายชื่อพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจำนวน 120 รายชื่อ ให้กับอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอคัดค้านการระเบิดการทำเหมืองแร่ทองคำ โดยมีคุณศุภกิจ บุญศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และคุณสลิลา ยรรยงสวัสดิ์ เลขานุการกรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นผู้รับเรื่อง และเข้ายื่นหนังสือให้กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เพื่อร้องเรียนและตรวจสอบข้อเท็จจริงกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น กรณีมีมูลเข้าข่ายการทุจริต 

กลุ่มตัวแทนพี่น้องตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และพี่น้องตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ยื่นหนังสือคัดค้านการระเบิดการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)

หนังสือคัดค้านการระเบิดการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) มีเนื้อหาดังนี้ 

เนื่องด้วยข้าพเจ้านางสาวสิริรัตน์ ต่ายทอง และนางธัญนันท์ พงษา และชาวบ้านตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และชาวบ้านตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) มายาวนาน 10 กว่าปี แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขทั้งผลกระทบทางด้านสุขภาพของชาวบ้านรอบๆ เหมืองแร่ทองคำในรัศมี 5-10 กิโลเมตร รวมถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ผลการตรวจสอบบ่อกักเก็บกากแร่รั่วซึมของเหมืองแห่งนี้ชัดเจนว่าน้ำที่รั่วซึมกลางนาขาวข้างบ่อกักเก็บกากแร่เป็นน้ำอุตสาหกรรม ซึ่งไม่มีเหตุผลใดมาหักล้างได้ว่าไม่ได้เกิดจากการทำเหมือง  

พวกข้าพเจ้าเห็นว่ามาตรการตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานภาครัฐไม่มีคุณภาพ ไม่โปร่งใส และอาจเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ 

แต่กลับปรากฏว่า ปัจจุบัน ยังอนุญาตให้บริษัทเหมืองแร่แห่งนี้เปิดดำเนินกิจการต่อ ดังนั้น พวกข้าพเจ้าจึงขอคัดค้านการทำเหมืองดังกล่าวต่อ ด้วยเหตุผลดังนี้  

1. การระเบิดเพื่อทำเหมืองไม่มีหน่วยงานอิสระที่ชาวบ้านเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน และไม่มีส่วนร่วมของชาวบ้านเข้าตรวจสอบเฝ้าระวัง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวัดเสียงดังรบกวนจากการทำเหมือง การตรวจวัดฝุ่นละออง การตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิด การตรวจวัดคุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศ และผลกระทบต่อพืชผักสวนครัว พืชผลทางการเกษตร 

2. ไม่มีการตรวจเลือดของชาวบ้านรอบๆ เหมืองแร่ทองคำแห่งนี้จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน 

3. หน่วยงานภาครัฐไม่ควบคุมไม่ให้เหมืองปล่อยน้ำในพื้นที่เหมืองแร่ออกสู่ภายนอก ถือเป็นความล้มเหลวของหน่วยงานภาครัฐที่ไม่มีการจัดการที่ดีที่จะคุ้มครองดูแลชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม 

4. รายงานการตรวจสอบบ่อกักเก็บกากแร่รั่วซึมมีความชัดเจนแล้ว แต่รัฐบาลกลับเพิกเฉยและไม่เห็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน  

5. บริษัทเหมืองแร่แห่งนี้สร้างความแตกแยกในสังคม ดังจะเห็นได้จากมีการดำเนินคดีกับชาวบ้านหลายคดีมาก 

6. บริษัทเหมืองแร่แห่งนี้ขุดทองบนเส้นทางสาธารณะประโยชน์ และบุกรุกพื้นที่ป่า แต่กลับไม่มีการดำเนินคดี 

7. การอ้างว่าเหมืองทำให้คนในพื้นที่มีงานทำเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น เพราะชาวบ้านรอบๆ เหมืองส่วนใหญ่ต้องทำการเกษตรอย่างเดิม และหากเทียบคนทำงานในเหมืองกับชาวบ้านทั้งหมดในพื้นที่จะพบว่า คนที่ได้ทำงานในเหมืองมีน้อยมาก 

8. ความเสียหายที่เกิดจากผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ทั้งผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของชาวบ้าน ไม่สามารถฟื้นฟูได้ ความเสียหายนี้ไม่คุ้มค่ากับค่าภาคหลวงที่รัฐบาลได้รับ 

พวกเรา ชาวบ้านจังหวัดพิจิตรและจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จึงขอคัดค้านการทำเหมืองแห่งนี้ และขอเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งการให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โดยเร่งด่วน 

สภาพบ้านและโรงเรียนที่ถูกอพยพ

ชวนผู้อ่านทำความรู้จักเหมืองทองอัคราผ่านบทความตามที่แนบมานี้ ย้อนรอย ‘คดีเหมืองทองอัครา’ เกิดอะไรขึ้นตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้